น้ำพุโซดา ห้วยกระเจา

-

“ฮือฮา ขุดเจอ ‘น้ำพุโซดา’ ที่ห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เจาะน้ำบาดาลลึกถึง 303 เมตร เจอน้ำบาดาลพวยพุ่งเป็นฟองซ่าคล้ายน้ำโซดา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแจกจ่ายหมู่บ้านโดยรอบ แก้ภัยแล้งซ้ำซาก หวังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแร่บรรจุขวด”

เกิดเป็นข่าวใหญ่ฮือฮากัน เมื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาล ที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 12 ตำบาลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเมื่อเจาะลึกลงไปประมาณ 300 เมตร ก็พบกับแหล่งน้ำในรอยแตกของชั้นหินแปร ซึ่งพุ่งขึ้นมาเองทันที สูงจากพื้นดินกว่า 3 เมตร ในปริมาณที่มากถึง 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แถมยังมีลักษณะพิเศษ ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย คือ มีรสซ่าคล้ายน้ำโซดา

 

ในต่างประเทศมีการพบบ่อน้ำพุโซดาที่มีน้ำผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและพวยพุ่งขึ้นมาจากใต้พื้นดิน ดังเช่นในภาพนี้ ที่รัฐไอดาโฮ ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

พื้นที่บริเวณห้วยกระเจาของจังหวัดกาญจนบุรีนั้น เป็นพื้นที่แห้งแล้งอย่างมาก ประสบภัยแล้งทุกปี การได้พบแหล่งน้ำบาดาลที่มีปริมาณน้ำสะอาดสะสมอยู่ใต้ดินกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวนถึง 2 บ่อ แถมมีรสซ่าเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจเป็นอย่างมาก หลังจากนี้ ทางกรมฯ จะก่อสร้างถังประปาบาดาลขนาดใหญ่ ถังเก็บน้ำ ท่อจุดจ่ายน้ำ เชื่อมต่อเข้ากับระบบประปาของท้องถิ่น ทำระบบกระจายน้ำเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 15 หมู่บ้าน นำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ถึง 7,000 กว่าครัวเรือน และทำการเกษตรพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ แม้ในช่วงฤดูแล้ง

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า น้ำบาดาลห้วยกระเจานี้มีค่าพีเอช (pH) หรือค่าความเป็นกรดด่าง ใกล้เคียงกับน้ำตามธรรมชาติ คือ มีค่าอยู่ที่ 6.75 (เป็นกรดเล็กน้อย ค่ากลางจะเท่ากับ 7) มีปริมาณของสารไบคาร์บอเนต (bicarbonate) สูงถึง 1,540 มิลลิกรัมต่อลิตร ตลอดจนมีแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แคลเซียม (120 มิลลิกรัมต่อลิตร) แมกนีเซียม (130 มิลลิกรัมต่อลิตร) โปแตสเซียม (9 มิลลิกรัมต่อลิตร) โซเดียม (76 มิลลิกรัมต่อลิตร) และคลอไรด์ (4 มิลลิกรัมต่อลิตร)

ทางกรมฯ คาดว่า บริเวณที่กักเก็บน้ำใต้ดินนั้น อยู่ใกล้กับชั้นหินปูน ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) และน่าจะได้รับความร้อนจากชั้นหินอัคนีที่อยู่ใกล้เคียง จนเกิดการเปลี่ยนสภาพเป็นแคลเซียมไบคาร์บอเนต ซึ่งสารตัวนี้ถ้าผสมกับน้ำแล้ว จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา น้ำบาดาลบริเวณดังกล่าวพุจึงขึ้นมาได้เองด้วยแรงดันของก๊าซ เจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน และสื่อมวลชนที่ได้รองชิมแล้ว ต่างบอกว่า น้ำมีรสซ่าอมหวานเล็กน้อย คล้ายน้ำโซดาที่เปิดขวดข้ามคืน ถ้าทิ้งไว้นาน ความซ่าก็จะลดลง

หลังจากข่าวน้ำพุโซดาที่ห้วยกระเจาแพร่สะพัด ประชาชนพากันเดินทางไปเที่ยวชมและลองดื่มน้ำ จนทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีต้องโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เตือนประชาชนว่า แม้จะยังตรวจไม่พบสารพิษใดๆ แต่ก็ขอให้งดการนำน้ำไปดื่มกิน เพราะเมื่อเอาตัวอย่างน้ำมาเก็บไว้ข้ามคืน พบว่าน้ำได้เปลี่ยนจากสภาพที่เคยใสไม่มีสี กลายเป็นสีขุ่นๆ ออกน้ำตาลและมีกลิ่น จึงน่าจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ดื่ม ให้รอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าจะต้องมีการทำกระบวนการใดๆ เพิ่มเติมก่อนที่จะนำมาอุปโภคบริโภคหรือไม่

น้ำแร่จากน้ำบาดาลนั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น น้ำแร่ซัลเฟต น้ำแร่แคลเซียม น้ำแร่ไบคาร์บอเนต  ฯลฯ ซึ่งมีข้อควรระวังในการบริโภคที่แตกต่างกัน สำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำแร่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และไม่ทำให้เป็นโรคนิ่วอย่างที่บางคนกังวลกัน เพราะโรคนิ่วจริงๆ แล้ว มักเกิดจากการดื่มน้ำน้อยกว่าปรกติ หรือกินอาหารบางชนิดที่มีสารออกซาเลตสูง จนเกิดการรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วของผลึกแคลเซียมออกซาเลตขึ้น

 

เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสาธิตการกรองน้ำที่เก็บจากบ่อน้ำพุโซดาห้วยกระเจา เพื่อกำจัดสนิมเหล็กออกไซด์สีน้ำตาลออกไป ก่อนจะนำมาบริโภคได้

 

แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำ เป็นโรคไต มีการทำงานของหัวใจไม่ดี มีความดันโลหิตสูง หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือมีโรคระบบทางเดินหายใจซึ่งหลอดลมอาจหดเกร็ง ก็ไม่ควรดื่มน้ำแร่ ยิ่งถ้าเป็นน้ำแร่ไบคาร์บอเนตด้วยแล้ว จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็ก คนที่มีปัญหาในการย่อยอาหาร จึงเกิดอาการย่อยอาหารไม่ปกติ ท้องอืดท้องเฟ้อได้

และที่สำคัญ แม้ว่าน้ำแร่ที่ขุดพบ อาจจะมีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการดื่มกิน ไม่พบสารเคมีอันตรายเจือปน แต่ก็ต้องระวังอันตรายจากเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนได้ในระหว่างการเก็บกักน้ำจากบ่อขุด ถ้าจะนำมาทำน้ำดื่มหรือน้ำประปาให้ประชาชนบริโภค ก็ควรเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน

ผลการตรวจสอบน้ำพุโซดาห้วยกระเจาจากห้องปฏิบัติการ พบว่าแม้จะไม่มีสารพิษ เช่น สารหนูหรือปรอท ปนเปื้อนอยู่ แต่กลับมีแร่ธาตุตัวอื่นที่สูงเกินค่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำประปาที่จะดื่มได้ (กำหนดโดยกรมอนามัยเมื่อ พ.ศ.2563 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือมีค่าฟลูออไรด์ 1.1-1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนค่ามาตรฐานนั้น ต้องไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร) และมีค่าเหล็กสูงมาก ถึง 10-28 มิลลิกรัมต่อลิตร (ต้องมีค่าไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร) ดังนั้น ถ้าดื่มน้ำบาดาลนี้เป็นจำนวนมากหรือเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการได้ฟลูออไรด์เกินไป จนเกิดภาวะฟันตกกระตามมา และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหล็กสะสมมากไปตามอวัยวะต่างๆ จนเกิดโรคตับ โรคหัวใจ และโรคเบาหวานได้

 

ลักษณะของขวดบรรจุภัณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้ใช้สำหรับน้ำแร่โซดาห้วยกระเจา

 

ล่าสุด ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อกำจัดแร่ธาตุ ให้สามารถนำน้ำพุโซดามาดื่มกินได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้ชาวบ้านทั้งในและนอกจังหวัดกาญจนบุรีเดินทางเข้ามาลองชิม และยังนำน้ำแร่กลับไปบ้านได้ด้วย คนละ 500 ซีซี แต่ว่าจะต้องใช้ขวดบรรจุภัณฑ์ซึ่งทางกรมฯ จัดเตรียมเอาไว้ให้เท่านั้น ทำเอาชาวบ้านหลายคนผิดหวังที่ได้เพียงแค่นั้น เพราะมีความเชื่อว่าหากนำน้ำแร่นี้ไปใช้แช่ตัวที่บ้าน ก็จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ผ่อนคลายร่างกายได้ (ซึ่งไม่จริงนะครับ)


คอลัมน์ : คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!