โลกอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบันนั้นไร้พรมแดน นอกจากบางประเทศที่ปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนแล้ว ประชาคมโลกล้วนสามารถเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารกันได้ทันท่วงทีทุกเวลา ชาวโซเชียลลาวกับไทยนั้นแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างเข้าใจเพราะภาษาที่ใกล้เคียงกัน แต่บางครั้งก็มีคำศัพท์เล็กๆ น้อยๆ แสดงอาการหรืออารมณ์ที่แตกต่าง ซึ่งชาวโซเชียลลาวใช้โดยคนไทยไม่รู้ จึงน่าสังเกตไว้เพื่อทำความเข้าใจ
ຄັກ คัก หมายถึง มาก อย่างยิ่ง ถ้าแปลความตรงตามตัวอักษร แต่หากอยู่ในโซเชียลอาจหมายถึงการแสดงอารมณ์เชิงประชดประชัน หรือเปรียบเทียบว่ามากเกินไป เช่น คักแฮง หมายถึง เหลือเกินจริงๆ หรือ เพิ่นมะคักแท้นอ หมายถึง คนอะไรช่างเรื่องมาก อาจเปรียบเทียบกับสำนวนโซเชียลไทยได้ว่า “เยอะ”
ຍ້ານ ย้าน หมายถึง กลัว ออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง ย่าน เสียงโท กับ ย้าน เสียงตรี คำว่า ຍ້ານ นี้ใช้กันแพร่หลายในทุกเหตุการณ์ เช่น ย้านเขาว่า ย้านเขาติ ย้านทัวลง หมายถึง กลัวคนว่า กลัวคนติเตียน กลัวทัวร์โซเชียลจะมาถล่ม
ຍາດ ยาด หมายถึง แย่ง ในโลกโซเชียลมักมีการแข่งขันชิงรางวัลต่างๆ หรือแข่งขันหาผู้ติดตาม จึงเกิดการ “ยาด” กันอยู่เสมอ คำว่า “ยาด” นี้มีใช้เป็นคำซ้อนในภาษาไทย ซ้อนคำที่มีความหมายแบบเดียวกัน คือ ยาดแย่ง หรือ ยาดแย่งแข่งดี
ໂຈະ โจะ หมายถึง หยุด ระงับ มักพบบ่อยในการแจ้งเตือนว่ามีการหยุด ระงับ หรือบอกให้หยุดการกระทำบางอย่าง เช่น โจะการเผยแพ่ คือ หยุดการเผยแพร่ โจะกานขาย คือ ระงับการขาย
ລີ້ ลี้ หมายถึง หลบ ซ่อน เอาไปซุกซ่อนไว้ ออกเสียงกึ่งมาตราระหว่าง ลี่ เสียงโท กับ ลี้ เสียงตรี มีความหมายคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่ในโลกโซเชียลมีความหมายแฝงว่า เป็นการหนีหน้า มุดหัว หายไปหลังจากทำอะไรผิดจนเสียหน้า
ໄຕ້ ไต้ หมายถึง จุดไฟ ทำให้สว่าง แปลตามตัวอักษร ใช้กับการจุดคบไฟ คบเพลิง หรือเปิดไฟ แต่ในโซเชียลอาจหมายถึงการแฉเรื่องลับๆ เรื่องที่ซ่อนไว้ออกสู่สาธารณะ
ເຊົາ เซา หมายถึง หยุด เลิก หาย ในความหมายทั่วไป แต่ในโซเชียลยังหมายถึงการแสดงอารมณ์ให้พอเถอะ หยุดเถอะ เช่น เซาจ่ม คือ เลิกบ่นเสียที เซาเว่า คือ เลิกพูดได้แล้ว
ภาษาโซเชียลเป็นภาษาพูดที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ทั้งไทยและลาว การอ่านเพียงตัวอักษรโดยไม่เข้าใจสถานการณ์จึงล่อแหลมต่อความเข้าใจผิด จำเป็นต้องพิจารณาให้ดีก่อนคิดตัดสินหรือแสดงความเห็นออกไปในภายหลัง
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข