ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Mr. & Mrs. Smith เวอร์ชันซีรีส์ปี 2024 กับเวอร์ชันภาพยนนตร์ปี 2005 รับบทโดยแบรด พิตต์และแองเจลิน่า โจลี่ คือ นายจอห์น (สมิธ) และนางเจน (สมิธ) เวอร์ชันนี้รู้ตั้งแต่แรกว่าต่างฝ่ายต่างมาสมัครงานเป็นสายลับ แล้วถูกองค์กรจับคู่ให้ทำทีว่าเป็นสามีภรรยา ทั้งที่ในองค์กรก็มีนายและนางสมิธคู่อื่นๆ ที่ทำงานแบบนี้อยู่เหมือนกัน
นายและนางสมิธทุกคู่จะได้รับมอบหมายภารกิจที่ผิดแผกกันตามระดับความเสี่ยง เช่น ถ้าจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ งานที่ได้รับมอบหมายก็อาจเป็นแค่ส่งเอกสาร ฯลฯ ไม่เสี่ยงอันตรายหรือต้องฆ่าคน
ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างระหว่างสองเวอร์ชัน คือ เวอร์ชันภาพยนตร์เน้นแอ็กชัน และสอดแทรกความสัมพันธ์ของคู่รักได้ดีแต่ดูผิวเผิน ตรงข้ามกับเวอร์ชันซีรีส์ ซึ่งส่วนใหญ่ออกแนวดราม่า (บางตอนมีฉากแอ็กชันไม่ถึงสิบนาที) และเล่าเรื่องตัวละครอย่างละเอียดลึกซึ้ง ตีแผ่ปัญหาความสัมพันธ์คู่รักเป็นแก่นหลัก แทรกประเด็นสังคมว่าด้วยความเป็นตัวละครผิวสีและเอเชียเป็นระยะ (เช่น ตอนที่ต้องปลอมตัวเข้างานกาล่าหรู จอห์นบอกเจนว่าถ้าปลอมตัวเป็นบริกรจะเนียนกว่าเป็นคู่รักไฮโซ เพราะในงานคงมีคนผิวสีแบบเขาไม่กี่คนและก็ต้องจับกลุ่มกันอยู่แค่นั้น) ส่วนฉากแอ็กชันมีประปรายพอให้ลุ้นระทึก
ใน Mr. & Mrs. Smith เวอร์ชันนี้ คนดูจะรู้จักตัวละครจอห์นกับเจนในฐานะมนุษย์แบบเราๆ อย่างเข้าถึงภูมิหลัง
จอห์นกับเจนมีบุคลิกและพื้นฐานครอบครัวต่างกันมาก เช่น จอห์นเป็นลูกชายที่ยังผูกพันกับแม่ โทร.หาแม่ทุกวันแม้องค์กรสายลับจะห้ามติดต่อคนในครอบครัว เขาเป็นคนอ่อนไหวและใส่ใจความรู้สึกคนอื่นจนบางครั้งภารกิจต้องล่าช้าเพราะเขามัวใส่ใจคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จัก และในด้านความสัมพันธ์กับเจน เขาก็คิดไปถึงการมีลูกในอนาคตแม้จะต้องยอมลดสถานภาพสายลับเพื่อความปลอดภัยของลูก
ตรงข้ามกับเจนที่ดีใจเมื่อรู้ว่าถ้าทำงานนี้ก็จะถูกบังคับให้ไม่ต้องติดต่อญาติ เพราะเธอมีปัญหากับพ่อมานาน เธอเป็นคนใจแข็ง พร้อมทำตัวร้ายใส่คนแปลกหน้าถ้ามาขัดขวางภารกิจ และในความสัมพันธ์เจนยังไม่คิดถึงการมีลูก แต่อยากรับผิดชอบหน้าที่การงานให้ดีกว่านี้
ความแตกต่างเหล่านี้ถูกสอดแทรกเป็นระยะ ด้วยความที่มี 8 ตอน ซีรีส์จึงสามารถแสดงพัฒนาการในการใช้ชีวิตคู่ได้อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่สะท้อนภาพการมาสมัครงาน (สายลับ) ตอนที่ยังเป็นมือสมัครเล่นในสายอาชีพและมีเงินเก็บไม่มาก มีการวางขอบเขตความสัมพันธ์อย่างชัดเจน (เช่น ตกลงกันว่าจะไม่มีเซ็กซ์ ฯลฯ) ผ่านไปหลายตอนก็จะเริ่มเห็นการเติบโตของทั้งคู่ซึ่งทำงานมาหลายเดือน เริ่มมีเงินเก็บพอจะซื้อวิลล่าในอิตาลี เริ่มเชี่ยวชาญในงานของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ และความผูกพันก็พัฒนาไปเป็นคู่รักจริงๆ
ในตอนแรกปัญหาส่วนใหญ่คือปัญหาจากการทำงาน แต่ยังสามารถแยกแยะได้ ไม่กระทบเวลากลับเข้าบ้าน เพราะทั้งคู่ยังไม่ได้คบหากันฉันคนรัก แต่เมื่อร่วมชีวิตกันฉันสามีภรรยา ปัญหาส่วนตัวก็เริ่มพัวพันกับปัญหาการทำงาน
ก็เหมือนหลายคนซึ่งทำงานร่วมกับคนรักหรือครอบครัว แล้วให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาก้าวก่ายการทำงานจนล้ำเส้นแบ่งขอบเขต (boundary) เช่น ธุรกิจครอบครัวที่มักเจอปัญหาความสัมพันธ์ระดับชั้น เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย vs ลูกหลาน ซึ่งทำงานด้วยกันแล้วไม่รู้ตัวว่ากำลังปล่อยให้อคติครอบงำในเวลาทำงาน หรือนับถืออีกฝ่ายน้อยลงเพราะเคยชินที่อีกฝ่ายต้องเชื่อฟังในฐานะลูกหลาน ฯลฯ ปัญหากระทบกระทั่งจากความสัมพันธ์ลักษณะนี้จึงต่างจากปัญหาการทำงานซึ่งแยกแยะชีวิตส่วนตัวได้ชัดเจน
ตัวอย่างง่ายๆ ใน Mr.& Mrs. Smith เช่น ถ้าคู่นายกับนางสมิธยังสามารถแยกแยะชีวิตส่วนตัวออกจากงานได้ชัดเจนเหมือนตอนแรก คือไม่มีความรู้สึกลึกซึ้งแบบคนรัก ถ้าฝ่ายหนึ่งต้องไปปฏิบัติภารกิจที่ใกล้ชิดเชิงชู้สาวกับเป้าหมาย อีกฝ่ายก็จะไม่คิดมาก ต่อให้ภารกิจต้องใช้เวลาหลายวันก็อาจไม่รู้สึกอะไรเพราะมุ่งแต่จะให้ภารกิจสำเร็จด้วยดี
แต่พออยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา ความหึงหวงก็เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่ออีกฝ่ายปฏิบัติภารกิจเยี่ยงคนรักก็จะระแวงว่าเพราะชอบเป้าหมายหรือเปล่าถึงใช้เวลานานในการแฝงตัวไปคบกับเป้าหมาย หรือรู้สึกไม่ดีตอนทราบว่าอีกฝ่ายต้องไปนอนกับเป้าหมาย
ในระยะหลัง เมื่อออกปฏิบัติภารกิจร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกคนมีปัญหา แล้วหลังจากเสร็จภารกิจก็หยิบปัญหานั้นมาพูดต่อในชีวิตส่วนตัว ปัญหาจึงไม่จบในที่ทำงานแต่ยังค้างคาใจเป็นปัญหาในบ้านด้วย
ในตอนที่ 6 Couples Therapy (การบำบัดชีวิตคู่) จอห์นกับเจนตัดสินใจไปพบนักจิตบำบัดเพื่อบำบัดชีวิตคู่ จอห์นรู้สึกว่าเจนพยายามควบคุมและชอบทำงานแบบเอาหน้า ส่วนเจนก็คิดว่าจอห์นมักก่อเรื่องเวลาทำงานจนเธอต้องคอยแก้ปัญหา แล้วจอห์นก็จะพูดจาเสมือนว่าเธอผิด ฯลฯ ต่างฝ่ายต่างชิงดีชิงเด่นกันทั้งที่ชีวิตคู่ของคนทั่วไปซึ่งไม่ได้ทำงานด้วยกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ทุกเรื่องที่ทั้งคู่คุยกับนักจิตบำบัดล้วนเกี่ยวกับ ‘งาน’ แต่เห็นได้ชัดว่ามันส่งผลต่อชีวิตคู่ ความยากของชีวิตแบบนายและนางสมิธคือ แม้จะรู้ว่างานคือปัญหา แต่ ‘ทางเลือก’ ที่นักจิตบำบัดเสนอ เช่น ไม่ต้องทำงานด้วยกันเพื่อแยกชีวิตส่วนตัวออกไป คือทางเลือกที่ทั้งคู่ไม่สามารถทำได้เหมือนอาชีพอื่น เพราะอาจจบชีวิตได้หากไม่ปฏิบัติตามกติกาขององค์กร
สำหรับคนที่คาดหวังแอ็กชันเดือดๆ หรือความสนุกเนื่องจากเดินเรื่องเร็วคงต้องเตรียมใจผิดหวัง แต่ถ้าชอบหนังที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ นี่คืออีกทางเลือกที่น่าสนใจเพราะไม่ใช่หนังดราม่าน่าเบื่อ จริงอยู่ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินไปโดยผ่านบทสนทนา แต่ก็เป็นบทสนทนาที่กระชับความ แต่ละตอนคิดไว้ดีแล้วว่าจะเล่าอย่างไรให้มีรูปแบบแตกต่างกัน แต่เรื่องยังคงพูดถึงความสัมพันธ์และเดินหน้าต่อได้ด้วย ตลอด 8 ตอนยังคงมีฉากแอ็กชันตัดสลับไปมา บางตอนดูออกเลยว่าลงทุนสูง งานโปรดักชันทุ่มทุนสร้าง โลเคชันสวยงาม (เช่น ฉากทะเลสาบโคโม) และมีนักแสดงรับเชิญชื่อดังมาร่วมเล่นหลายตอน
เป็นการตีความ Mr. & Mrs. Smith ที่ฉลาด ถ้าตามรอยเวอร์ชันภาพยนตร์ก็คงเทียบได้ยาก เพราะนักแสดงนำรุ่นนั้นทำไว้ตรึงตาตรึงใจดีแล้ว แต่การตีความแบบนี้นำมาซึ่งมุมมองใหม่ๆ และยังสามารถสานต่อได้อีกในซีซันถัดไป (ถ้ามี) ไม่ว่าจะใช้คู่เดิมหรือคู่ใหม่ในนามของนายและนางสมิธ
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )
ภาพ: อินเทอร์เน็ต