คนผอมอยากอ้วน

-

ถ้าอยู่ดีๆ ก็ผอมลงโดยไม่ได้อยากผอม ทางแพทย์เรียกว่าเป็นโรค unintentional weight loss แปลว่าน้ำหนักลดโดยไม่ได้จงใจลด คือการที่น้ำหนักลดลงจากเดิมเกินร้อยละ 5 ในเวลา 1 ปี ผู้ป่วยโรคนี้เกือบทั้งหมดจะผอมผิดปกติ คือมีดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5 กก./ตรม. สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักลดลง มีได้หลายอย่าง เช่น 

  1. กินอาหารให้พลังงานน้อยเกินไป ไม่พอกับที่ร่างกายต้องเอาพลังงานไปใช้ ร่างกายจึงต้องหันไปใช้ก๊อกสำรองก๊อกแรกคือคาร์โบไฮเดรต (ไกลโคเจน) ที่เก็บไว้ในตับออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน เมื่อไกลโคเจนหมดร่างกายก็ไปใช้ก๊อกสอง คือสลายเอาไขมันที่เก็บไว้ทั่วตัวมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน เมื่อไขมันที่เก็บไว้หมด ร่างกายก็ไปใช้ก๊อกสาม คือสลายเอากล้ามเนื้อที่ใช้งานอยู่ทุกวันมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน ผลสุดท้ายก็คือการผอมแห้งและกล้ามเนื้อลีบ คนที่กินอาหารให้พลังงานน้อยเกินไปนี้ส่วนใหญ่คลั่งกินอาหารสุขภาพเกินขนาด จะกินนั่นก็กินไม่ได้ จะกินนี่ก็กลัวเป็นโรคนี้ จึงกินแต่อาหารที่คนเขาถือกันว่าเป็นอาหารสุขภาพแบบสุดๆ เช่นกินแต่ผักซึ่งเป็นอาหารแคลอรีต่ำ 
  2. เป็นคนคลั่งออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งมีการเคลื่อนไหวใช้พลังงานมาก พวกนักวิ่งมาราธอนนี่แหละตัวดีนักที่มักจะเป็นโรคน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะวิ่งมากและกินน้อยแบบสุขภาพควบคู่กันไป ร่างกายจึงต้องสลายเอากล้ามเนื้อมาใช้ กล้ามเนื้อเลยลีบ กระดูกพรุน และในที่สุดกระดูกหัก นี่เป็นปัญหาของพวกนักวิ่งมาราธอนที่เติมแคลอรีให้ร่างกายไม่ทัน
  3. สาเหตุอื่นๆ เช่น (1) ความเครียด เพราะใช้พลังงานของร่างกายอย่างล้างผลาญ (2) กินน้อย เช่น คนสมองเสื่อมหรือซึมเศร้า (3) กินไม่ได้เพราะมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น เหงือกและฟันไม่ดี กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ มีพยาธิตัวตืด (4) ผอมเพราะยาที่กิน เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาลดความดันบางตัว ยาลดไขมันบางตัว สารเสพย์ติดต่างๆ (5) เป็นโรคของต่อมไร้ท่อ การเผาผลาญจึงผิดปกติ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน (6) เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นมะเร็ง (7) อายุมากซึ่งมักกินอาหารได้น้อยและซูบผอมลง 

วิธีแก้ปัญหาให้เริ่มด้วยการกินอาหารที่ให้แคลอรีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารกลุ่มไขมันและคาร์โบไฮเดรต ถ้าออกกำลังกายแบบแอโรบิกมากก็ให้ลดลงจนกว่าน้ำหนักจะขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าทำสักสามเดือนแล้วน้ำหนักยังต่ำกว่าปกติ ควรไปหาหมอเพื่อให้วินิจฉัยแยกสาเหตุอื่นๆ ในข้อ 3


คอลัมน์: สุขภาพ

เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!