การเรียนรู้ภาษาให้ถึงแก่นประการหนึ่ง คือการเข้าใจศัพท์ทั่วไปที่คนใช้ในชีวิตประจำวันอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำบริภาษ หรือคำด่า ที่คนใช้กันทั่วไปแต่ในตำรามักไม่สอน คำด่ามักเป็นศัพท์พื้นฐานของภาษานั้นๆ โดยตรง มีคำที่ยืมจากภาษาอื่นน้อย คำด่าในภาษาลาวแตกต่างจากภาษาไทยภาคกลาง และหลายส่วนก็ไม่เหมือนกับภาษาอีสาน คำศัพท์เกี่ยวกับคำด่าน่าเรียนรู้ไว้ เผื่อเมื่อถูกด่าจะได้รู้เท่าทัน
ຈົ່ມ จ่ม หมายถึง บ่นว่า การ “จ่ม” มีลักษณะของการบ่นพึมพำ การค่อนแคะแซะว่าในเรื่องเล็กน้อยประจำชีวิต เช่น แม่จ่มให้ข้อยย่อนบ่ล้างถ้วย หมายความว่า แม่บ่นว่าฉันเพราะฉันไม่ล้างถ้วยล้างจาน
ປ້ອຍ ป้อย หมายถึง ด่าทอ การ “ป้อย” คือการก่นด่าในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และเป็นการด่าทอต่อเนื่องซ้ำๆ เช่น แม่ป้อยให้ข้อยนำข้อยเส็งบ่ผ่าน หมายความว่า แม่ด่าทอฉันเพราะฉันสอบตก
ສູນ สูน หมายถึง โกรธ โมโห กระฟัดกระเฟียด ฟึดฟัด ฮึดฮัด เป็นความโกรธที่แสดงออกทันทีทันใด หุนหันพลันแล่น ปึงปังตึงตัง เหมือนไอน้ำที่พลุ่งขึ้นมาจากกาน้ำ บันดาลโทสะก็ว่า เมื่อคลายแล้วก็ดับลง
ຄຽດ เคียด หมายถึง แค้นเคือง เก็บกด อัดอั้นตันใจ เก็บไว้ข้างในอยู่นาน ไม่แสดงออกทางสีหน้า โกรธแบบอาฆาตจองเวรไม่หายไปง่ายๆ
ປຶກ ปึก หมายถึง โง่เง่า สอนเท่าไรก็ไม่จำ เป็นความโง่แบบหัวทึบไม่ทันคน ใช้เป็นคำด่าว่าขั้นแรง
ຫ່າ ห่า เป็นคำด่าเชิงแช่ง เพราะห่าใช้เรียกรวมถึงโรคระบาด อันเป็นภัยร้ายแรง เมื่อคน ສູນ หรือ ຄຽດ ก็อาจแช่งด่าคนที่ทำให้โกรธหรือแค้นเคือง คำด่าที่ใช้คำว่า ຫ່າ ประกอบมีมากมาย เช่น ຫ່າຂັ້ວ คือแช่งให้เป็นห่าชั่วโคตร ຫ່າຕຳປອດ แช่งให้เป็นโรคลงปอด
ຂີ້ຄ້ານ ขี้ค้าน หมายถึง ขี้เกียจ เป็นคำด่าคนที่เกียจคร้านงอมืองอตีนไม่ทำงานช่วยเหลือคนอื่นนอกจากคำด่าดังกล่าวมา ยังมีคำด่าอื่นๆ อีกมากที่หยาบคายกว่าจนไม่สามารถบรรยายในที่นี้ได้ อาจจะหาดูได้จากละครหรือภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาอีสานและภาษาลาว บางครั้งอาจเป็นเรื่องขำขัน แต่ถ้าถูกจ่มป้อยกับตัวก็ต้องคอยคุมสติอารมณ์ ไม่ให้สูนขึ้นจนเสียจริตไป
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญุสุข