‘สกาย’ วงศ์รวี นทีธร: หลังฝนคือฟ้างาม (ฉบับเต็ม)

-

เมื่อพูดถึง ‘สกาย’ วงศ์รวี นทีธร เราหวนนึกถึงครั้งแรกที่ได้เห็นเขาในงานแถลงข่าวซีรีส์ ฮอร์โมน ซีซั่น 3 ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของนักแสดงหนุ่ม เวลานั้นเราเห็นถึงความไม่ประสากับวงการบันเทิง ความเคอะเขินยามที่สายตาและกล้องทุกตัวโฟกัสมายังตน รวมทั้งอาการประหม่าขณะตอบสัมภาษณ์ ความไม่มั่นใจเหล่านี้กลายเป็นภาพจำที่มีต่อเขาในช่วงแรก

เด็กหนุ่มซึ่งยอมรับว่าตัวเองไม่เหมาะกับการทำงานวงการบันเทิงกลับโลดแล่นในวงการมานานถึง 7 ปี ประสบการณ์บ่มเพาะให้เขาเติบโต จากเด็กที่โดนวิจารณ์ทักษะการแสดงอย่างหนัก ค่อยพัฒนาๆ จนได้รับการยอมรับจากผู้ชม รวมถึงการคลี่คลายด้านบุคลิก วันนี้เราเชื่อว่าหลายคนสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน สกายมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าตอบสัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็น เมื่อกำแพงแห่งความกังวลและประหม่าสึกกร่อนลง เราจึงเริ่มเห็นตัวตนของเขาได้ชัดขึ้น สกายไม่ได้มีเพียงรอยยิ้มหยุดโลก แต่นักแสดงหนุ่มคนนี้ยังมีความเป็นตัวของตัวเองที่ชัดเจน มุมมอง ความคิด ความเชื่อในแบบของเขาที่รอให้เราสำรวจและทำความเข้าใจ

 

 

1.

การพูดคุยกับสกายครั้งนี้ เราเริ่มต้นด้วยการทักทาย พร้อมไถ่ถามถึงงานช่วงนี้ว่าเขากำลังคร่ำเคร่งกับอะไรอยู่ “ช่วงนี้มีออกอีเวนต์บ้าง ถ่ายโฆษณาบ้าง มีพูดคุยเรื่องโปรเจ็คต์ในอนาคต และมีแพลนจัดแฟนมีตติ้งครั้งแรกของผม ซึ่งแพลนตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ติดโควิด จนเลื่อนมาจะจัดเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่ติดโควิดอีกครั้ง ผมซ้อมมาสามรอบแล้ว อยากจะจัดแล้วครับ”

สกายเข้าวงการบันเทิงด้วยการชักชวนจากทีมหานักแสดง ซึ่งบุกไปยังโรงเรียนเพื่อเฟ้นหาวัยรุ่นหน้าใหม่ร่วมแสดงในซีรีส์ฮอร์โมน ซีซั่น 2 นับจากจุดเริ่มต้นนั้น วันนี้เขามองเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปในตัวเองบ้าง “หล่อขึ้น (หัวเราะ) แน่นอนอยู่แล้ว ผมเริ่มจากติดลบเลยฮะ ทั้งทัศนคติ รูปลักษณ์ วันนี้อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ทุกอย่างเลย เพราะเรามาเรียนทุกอย่างใหม่หมด”

แม้จะมีคนเห็นแววความเป็นดาราในตัวเขา แต่ความคิดแรกเมื่อได้รับการทาบทามคือการปฏิเสธ สำหรับเด็กที่ไม่อยากเป็นจุดสนใจแล้ว วงการบันเทิงดูไม่ใช่เส้นทางที่ใฝ่ฝัน “ผมไม่ได้อยากไปออดิชั่นเลย ส่วนตัวผมชอบดูละครนะ แต่ให้ไปเล่นรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ ทว่าแม่กับพี่ชอบดูฮอร์โมน พอเรากลับบ้านมาเล่าให้ฟัง แม่ก็อยากให้ลอง แม่คงรู้สึกว่าเราเป็นเด็กมีปัญหา ไม่มีเพื่อน ไม่เข้าสังคม ผมเป็นคนประเภทที่ถ้าอาจารย์สั่งงานกลุ่ม ผมจะเดินไปถามอาจารย์ว่าขอทำคนเดียวได้ไหม ไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ชอบทำอะไรคนเดียว เป็นหมาป่าเดียวดาย แม่เลยอยากให้ได้ลองทำงานวงการบันเทิง เพราะต้องเจอคนเยอะ เจอสังคมใหม่ๆ อยู่ในสถานการณ์ที่เราต้องมีบทสนทนากับคนอื่น มีวิถีชีวิตร่วมกับคนอื่น (หัวเราะ)”

ขัดขืนไม่ไปตามความหวังของแม่ได้ไหม เราถาม “จริงๆ ก็ทำได้ เพราะผมเป็นคนดื้อเอาการอยู่ แต่พอดีช่วงนั้นไม่มีอะไรทำด้วย ว่างๆ เลยลองดู ไปเพื่อให้รู้ว่าทำไม่ได้จริงๆ เพราะไม่คิดว่าจะผ่านเข้ารอบ โจทย์ที่ได้คือให้เตรียมเพลงมาร้องสองเพลง ผมจะร้องเพลงอะไร จังหวะยังจับไม่ได้เลย จึงเลือกเพลงที่คิดว่าจังหวะไม่ยากคือเพลง ซักซี้ดนึง (OST. SuckSeed ห่วยขั้นเทพ) ร้องมั่วๆ กรรมการนั่งขำกันยกใหญ่ (คงมีแบบนี้คนเดียวมั้งเขาเลยเลือก-ช่างแต่งหน้าซึ่งฟังการสนทนาด้วยออกความเห็น) เพราะคนอื่นเขาร้องกันดีหมด สุดท้ายไม่ผ่านเข้าไปเล่นฮอร์โมน ซีซั่น 2 แต่พี่ๆ เขาสนใจจะพัฒนาเรา เลยส่งไปเรียนการแสดงและปรับบุคลิกภาพเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนมีฮอร์โมน ซีซั่น 3

 

 

2.

  แม้จะผ่านห้องเรียนการแสดงมาแล้ว แต่นั่นยังไม่ใช่สนามจริง สกายต้องเผชิญภาวะตกประหม่าเมื่อเริ่มเปิดกล้อง “ตอนนั้นผมไม่คิดเลยว่าเราจะทำได้ ด้วยความที่ไม่เคยเจอของจริง เราได้แต่เวิร์คช้อปโดยไม่รู้ว่าพอเจอของจริงจะทำได้รึเปล่า เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความมั่นใจเลย แล้วพอเจอการถ่ายทำจริง ความกดดัน สภาพแวดล้อมต่างๆ ส่งผลให้เรา ‘ตื่นกอง’ เรียกแบบนี้ได้เลย เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าต้องเดินไปตรงนี้เพื่อให้กล้องพอดีกับหน้าเรานะ พอไม่รู้เลยเป็นความกลัว” แล้วอะไรที่ผลักดันให้สู้กับความกลัว เราถามนักแสดงหนุ่ม “ผมเป็นคนที่ไม่ได้ห่วงตัวเอง เราเกรงใจคนอื่น ณ ตอนนั้นไม่ทันได้คิดว่าต้องเล่นให้ดีนะ ให้สมกับนักแสดงมืออาชีพ คิดแค่ต้องทำให้เต็มที่เพื่อคนอื่นจะได้ไม่เสียเวลารอเรา”

มีคิดเผื่อไหมว่าหลังซีรีส์ออกฉายอาจโดนวิจารณ์ต่างๆ นานา “ไม่เคยคิดเลย ตอนนั้นแค่เอาชีวิตให้รอดในกองถ่ายวันต่อวัน ไม่ได้คิดว่าหลังจากซีรีส์ออนแอร์จะต้องเจอกับอะไร” แล้วพอเจอคำติด้านการแสดงที่ถาโถมเข้ามาล่ะ ทำอย่างไรในตอนนั้น “งง ทำตัวไม่ถูก ทุกอย่างใหม่หมดสำหรับเรา แต่พอผ่านไปสักระยะคอมมอนเซนส์จะบอกเราว่า อันไหนคือคำวิจารณ์ที่เป็นความจริง ติเพื่อก่อ กับติเพื่อทำลาย เราแค่เลือกฟังในสิ่งที่เป็นความจริงเพื่อพัฒนาตัวเอง อันไหนไม่ใช่ก็ปล่อยผ่าน”

เด็กที่ไม่เคยวาดภาพถึงการทำงานวงการบันเทิง และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาเจอคำวิจารณ์ ในวัยเพียงมัธยมเขาทำอย่างไรจึงสามารถปลุกกำลังใจให้ก้าวต่อ นั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้ “ผมเป็นคนที่ไม่คิดอะไรซับซ้อน ถ้ายังทำได้ไม่ดีก็ไปเรียนเพิ่มสิ เราเข้ามาอยู่ตรงนี้และมีโอกาสเห็นหลายคนที่อยากมาอยู่จุดเดียวกับเรา แต่เขาไม่มีโอกาส ผมจึงคิดแค่ว่าในเมื่อเรามีโอกาสก็ควรทำให้เต็มที่ อยู่ดีๆ ก็คิดออกว่า ถ้าเราพยายามเต็มที่จริงๆ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้” คิดออกเองเลยเหรอ เราถามย้ำ “ใช่ อาจจะหลอกตัวเองก็ได้นะ ว่าถ้าทำเต็มที่แล้วมันก็ต้องได้แหละ ถ้าทำไม่ได้แสดงว่ายังพยายามไม่พอ อาจเป็นการกดดันตัวเองด้วย เพราะมีช่วงที่กดดันตัวเองเกินไปเหมือนกัน ตอนนั้นผมท่องบท 24 ชั่วโมง ไม่หลับไม่นอน จนส่งผลให้ออกกองแล้วแรงไม่พอ จึงได้บทเรียนว่า กดดันได้เพื่อเป็นแรงถีบ แต่อย่ามากไป ต้องรู้จักบาลานซ์” มีปรึกษาใครไหมในการรับมือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มาคู่กับอาชีพดารา “ส่วนมากผู้ใหญ่จะให้คำแนะนำว่าต้องพัฒนาต่อไป เพราะเขารู้ว่าผลงานที่ออกไปนั่นเราทำเต็มที่แล้ว แต่คนภายนอกไม่รู้ว่าเรามีต้นทุนมาแค่ไหน นั่นคือสุดความสามารถ ณ เวลานั้นแล้ว แต่คนดูไม่ผิดนะครับที่เขาจะวิจารณ์ เพราะคนดูก็มีมาตรฐานในใจ เราแค่ยอมรับและพัฒนาตัวเองต่อไป”

 

 

น้อยใจไหมที่ตัวเองโดนวิจารณ์เยอะสุดในกลุ่มนักแสดงซีรีส์เรื่องเดียวกัน “ไม่ฮะ ผมเป็นคนที่ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร เป็นคนประเภทแข่งกับตัวเอง ไม่ได้สนใจว่า เฮ้ย คนอื่นไปไกลแล้วนะ เรายังอยู่ที่เดิมอยู่เลย ต้นทุนคนเราไม่เหมือนกัน คนอื่นอาจกระโดดทีร้อยเมตร เรากระโดดสั้นๆ ทีละสิบ สิบ สิบ เดี๋ยวก็ถึงร้อยเอง ศักยภาพคนเราไม่เท่ากัน เราเต็มที่ของเราก็โอเคแล้ว”

เราอดถามไม่ได้ว่า เมื่อนักแสดงหนุ่มได้ยินบทพูดของเขาซึ่งกลายเป็นไวรัล และคนที่นำมาพูดมีทั้งเอ็นดูรวมถึงล้อเลียน เช่น ฝ้ม ฝ้ม, รุก ไซ้ ชัก ไม่รีบครับ เจ้าตัวรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยิน “ช่วงแรกๆ มีนอยด์ มีอารมณ์ไม่ดีครับ ช่วงที่เล่น Hate/Love เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่า มีคนพูดว่าถ้าเจอในมหา’ลัยจะตบให้คว่ำเลย เล่นอะไรไม่ได้เรื่อง ตอนที่ได้ยินครั้งแรกโมโหเหมือนกัน เราเล่นไม่ดีทำไมต้องทำร้ายร่างกายกันด้วยเหรอ บางคนก็พูดเพื่อความสนุกปาก ไม่ได้คำนึงถึงจิตใจคนอื่น สุดท้ายเราก็ทำความเข้าใจว่าคนเราโตมาไม่เหมือนกัน ตรรกะไม่เหมือนกัน อย่างที่บอก เราเลือกรับเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาของเราก็พอ อะไรที่ฟังแล้วรู้สึกแย่ก็เมิน”

แม้คำชื่นชมนั้นจะช่วยชุบชูจิตใจ แต่สิ่งที่ผลักดันได้มากกว่ากลับเป็นคำวิจารณ์ “จริงๆ ผมรู้สึกกับคำด่ามากกว่าคำชม คำด่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของผม อาจดูแปลก ดูเป็นคนชอบอะไรรุนแรง คำด่ามีแรงผลักให้เราอยากพัฒนา ชีวิตเราอาจไม่เคยคิดว่าต้องการสิ่งนี้เลยก็ได้ แต่พอมีคนด่า เราจะอยากทำให้ได้”

เคยคิดเลิกล้มเพราะเราคงไม่เหมาะกับวงการบันเทิงจริงๆ ไหม เราตั้งคำถามต่อ “เคยครับ ตั้งแต่แรกเข้าวงการ ก็ไม่คิดว่าเราเหมาะกับตรงนี้อยู่แล้ว เราเริ่มด้วยความไม่อยากมาตรงนี้ หรือเราควรถอยแล้วให้พื้นที่นี้แก่คนที่เขาอยากทำจริงๆ จะดีกว่าไหม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังทำต่อเรื่อยๆ เพราะเราอยากทำให้ได้ ความอยากทำให้ได้เป็นเหมือนแรงกระตุ้น ลองให้สุดความสามารถไปเลย ถ้าสมมติว่าสุดแล้วไม่ได้ค่อยถอยออกมาแล้วกัน”

 

3.

เราตั้งคำถามต่อว่า  ณ วันนี้สกายเข้าใจและรู้สึกไม่แปลกแยกกับศาสตร์การแสดงแล้วรึยัง นักแสดงหนุ่มแย้งเราว่า เรียกว่าเข้าใจแคแรกเตอร์ของตัวละครมากกว่า และยังต้องใช้เวลากับบทบาทที่ได้รับอยู่ “ทุกวันนี้ยังต้องใช้เวลาในการเข้าถึงตัวละคร ผมไม่ใช่แบบได้แคแรกเตอร์มาแล้วจะเล่นได้ปุ๊บปั๊บเลย ยังไม่เก่งถึงขั้นทำได้ขนาดนั้น ยังต้องกลับมาทำการบ้าน รีเสิร์ช หาวิธีการเล่นอยู่ แต่รู้กระบวนการทำงานมากกว่าเดิม”

เมื่อเราถามว่ามีทักษะด้านไหนที่คิดว่าต้องพัฒนาให้มากขึ้น สกายมองว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนมีจุดแข็ง จึงไม่มีทักษะใดที่เน้นฝึกเป็นพิเศษ “เรารู้สึกว่าทั้งทัศนคติ รูปลักษณ์ บุคลิก และฝีมือการแสดง ทุกสิ่งล้วนเป็นส่วนประกอบของการเป็นนักแสดงที่ดี เราจึงต้องพัฒนาทุกด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด”

ทว่าสำหรับนักแสดงหนุ่มที่ก้าวข้ามคำครหาเรื่องการแสดงมาได้สำเร็จนั้น สิ่งที่เจ้าตัวยังต้องยอมแพ้กลับเป็นเรื่อง “เต้น” “ยากสุดเลยฮะ (หัวเราะ) การเต้นกลายเป็นศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทต่อนักแสดงในช่วงสองปีหลังที่ผ่านมา เมื่อก่อนนักแสดงไม่จำเป็นต้องเต้นได้ แค่แสดงได้ก็โอเคแล้ว แต่สมัยนี้ เฮ้ย กูต้องทำได้ด้วยเหรอวะ ไม่ใช่ยอดมนุษย์นะ แต่ผมเข้าใจนะว่าคนเราไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง เลยไม่ซีเรียสว่าต้องร้องเต้นได้ แค่หาสิ่งที่โอเคกับเราก็พอ”

 

 

แล้วความเป็นวงการบันเทิง วงการมายาล่ะ ปรับตัวเข้ากับวงการได้แล้วรึยัง เราถามต่อ “ผมไม่แน่ใจว่าเราเข้ากับวงการได้รึยัง แต่ผมเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่วันแรกจนทุกวันนี้ ผมตั้งใจรักษาความเป็นตัวเอง เพราะเคยได้ยินมาว่าบางคนผ่านการทำงานสักพักอาจมีอุปนิสัยที่เปลี่ยนไปในทางไม่ดี แต่ถ้าอะไรที่เปลี่ยนแล้วดี เช่น มารยาท บุคลิก อันนี้เปลี่ยนได้ ผมมองตัวเองในจอกับนอกจอเหมือนกัน ถ้าไม่อยู่ในบทบาทตัวละคร เราไม่เคยพยายามเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรา”

เราสัมผัสได้ว่าทุกวันนี้สกายสบายขึ้นกับการตอบสัมภาษณ์ และยังกล้าเล่นมุกหยอกล้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นเมื่อแรกเข้าวงการ “จริงๆ ผมเป็นคนมีกำแพงเยอะ ถ้ารู้สึกสบาย ก็จะเป็นตัวของตัวเอง ที่เห็นว่าสบายขึ้นเพราะเรามั่นใจมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ใช่แค่พูดน้อยนะ เรียกว่าไม่กล้าพูดเลยดีกว่า ผมคิดเยอะ อย่างเวลาพูดคุยหลายคนก็จะกลัวพูดสอดเขา แทรกเขา ไปแย่งคนอื่นพูด คนอื่นเขาไม่คิดอะไรเห็นเป็นเรื่องปกติของการพูดคุย แต่เราคิดมาก เกรงใจ กลัวเขาจะเกลียดถ้าไปพูดแทรกเขา เลยไม่กล้าพูด แต่พอทำงานมาเรื่อยๆ เหมือนได้สั่งสมประสบการณ์ ความมั่นใจจึงเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานสำหรับผมคือ ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ คือทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวเรา แม้คนรอบข้างมีส่วน แต่สำคัญที่สุดคือตัวเรา ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ เราก็ทำได้ ไม่ว่าคนรอบข้างจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะพูดว่าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเชื่อว่าทำได้ ยังไงเสียก็ต้องทำได้ เราต้องพึ่งตนเองก่อนอันดับแรก ถ้าตัวเองไม่ไหวค่อยไปขอคำปรึกษาคนอื่น แต่สุดท้ายทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา”

 

4.

ผลงานแสดงที่สกายรับบทเป็นตัวหลัก ได้แก่ ฮอร์โมน ซีซั่น3 I Hate You, I Love You, Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ และ My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน นับว่าจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับระยะเวลา 7 ปี ในวงการบันเทิง “ถามว่ากลัวคนลืมหน้าไหม ไม่กลัวนะ ถ้าคนรักเราก็คือรักความเป็นเรา เราพยายามหาซีรีส์ที่จะได้เล่น แต่กระบวนการทำงานมีหลายอย่างที่ต้องคำนึง บางเรื่องอาจไม่เหมาะกับเรา รอสิ่งที่ดีที่สุดกับเราดีกว่า ส่วนการทำงานนอกค่ายก็ไม่ได้ปิดตัวเอง แต่เช่นเดียวกัน เรามองหาสิ่งที่เหมาะกับเราที่สุด ถ้าวันหนึ่งเจอโปรเจ็คต์ที่ใช่ อาจเห็นเราทำงานนอกค่ายได้เหมือนกัน”

ภาพลักษณ์ของสกายมาพร้อมรอยยิ้มสดใส ในวันที่ยิ้มไม่ออกเขาจัดการความเครียดด้วยวิธีง่ายๆ เพียงทำความเข้าใจอารมณ์นั้น “จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนอารมณ์ดีมากมายขนาดนั้น แค่นกขี้ใส่หัวก็อารมณ์ไม่ดีแล้ว อ่านหนังสือสอบไม่ทันก็เครียด เจอเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามใจนึกก็เครียด เครียดง่ายเอาเรื่องเลย แต่ผมมีหลักการคิด คือ เรียนรู้ว่าเรารู้สึกเครียด รู้ว่าตั้งอยู่ แล้วดับไป ใช้คอนเซ็ปต์นี้ ออกเชิงพุทธปรัชญานิดหน่อย”

 

 

เครียดง่ายแล้วฝังใจกับข้อผิดพลาดไหม เราถามต่อ “ผมแค่ตระหนักรู้ว่าสิ่งนี้เคยผิดพลาด แต่ไม่ยึดติด  แบบทำไงดีวะ ครั้งหน้าต้องมาทำสิ่งนี้อีกแล้ว สิ่งที่เราเคยทำพลาดมาก่อน แค่รู้สึกว่าทุกคนทำผิดพลาดได้ ครั้งหน้าพยายามทำให้เต็มที่ และหวังว่าจะผิดพลาดน้อยลงจนดีขึ้นในที่สุด” เคยเสียดายกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วไหม “ไม่ครับ เราไม่ใช่โดราเอม่อน เราย้อนเวลาไม่ได้ ไม่รู้จะเสียดายทำไม”

เมื่อเราตั้งคำถามสุดท้าย อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับสกาย 3 อันดับ เขาใช้เวลาใคร่ครวญอยู่พอสมควร เพราะต้องการชั่งน้ำหนักเลือกว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน “เลือกยากเหมือนกันนะ แถมสิ่งที่ผุดขึ้นในหัวมีแต่นามธรรม ผมไม่ได้ให้ความสำคัญแก่สิ่งของเท่าไหร่ มันเป็นของนอกกาย ไม่ได้เป็นสิ่งมั่นคง” เขาคิดต่อสักพักและให้คำตอบเราในที่สุด “อันดับหนึ่งคือครอบครัว อันดับสองสุขภาพ และอันดับสามความเป็นตัวของตัวเองครับ”

นี่คือตัวตนแง่มุมหนึ่งของนักแสดงหนุ่มซึ่งเคารพความเป็นตัวของตัวเอง และมุ่งมั่นทำทุกอย่างเต็มกำลัง จนดอกผลของความพยายามนั้นได้เป็นที่ประจักษ์


โรงแรม Oakwood Suites Bangkok

ที่อยู่ : 20 ซอยสุขุมวิท 24 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

เบอร์โทรศัพท์ : 02-059 2888

Email : reservations.suites-bangkok@oakwood.com

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!