Sky Castle-นรกใน (ครัว) เรือน

-

“ฉันเลี้ยงลูกอย่างดีมาตลอด เขาคือเหตุผลเดียวในการมีชีวิตอยู่ของฉัน”

ประโยคข้างต้นของคุณแม่คนหนึ่งฟังดูดี แต่ในเวลาต่อมามันกลับทำร้ายคนในครอบครัวนี้ให้ย่อยยับ เพราะเธอและสามีลืมไปว่า เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ควรจำกัดไว้เฉพาะ “ตัวเอง” ไม่ใช่การให้ลูกต้องแบกภาระเพื่อบรรลุเป้าหมายในการมีชีวิตของเธอ

เมื่อลูกไม่เป็นอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง หรือเมื่อลูกต้องการมีอิสระจากพ่อแม่ คนเป็นพ่อแม่จึงไม่เหลือ “เหตุผล” ในการมีชีวิต และลูกเองก็รู้สึกผิดที่อยากมีอิสระจากการควบคุม เพราะเขาไม่ได้ต้องการโตมาเพื่อเป็น “เหตุผลในการมีชีวิต” ของพ่อแม่

ตัวละคร “แม่” ผู้กล่าวประโยคข้างต้นอาศัยอยู่ในชุมชน Sky Castle ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับซีรีส์จากเกาหลีที่คว้า 4 รางวัลเด่นจากงานประกาศรางวัล Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 55 ในหมวดของละครโทรทัศน์ (ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และนักแสดงหญิงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม)

Sky Castle เป็นชื่อหมู่บ้านที่รับเฉพาะครอบครัวไฮโซมาอยู่ร่วมกัน ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือครอบครัวของแม่คนดังกล่าว  บ้านนี้มีพ่อเป็นหมอชื่อดังและว่าที่คณบดีคนต่อไป มีประวัติการเป็นหมอสืบทอดกันมาสองชั่วรุ่นและคาดหวังว่าลูกชายคนเดียวของพวกเขาจะสอบติดหมอ พวกเขาเคี่ยวเข็ญลูกชายมาตั้งแต่เล็กและปลูกฝังให้เขาสนใจแต่การสอบได้ที่หนึ่ง ความหมกมุ่นของพ่อแม่ที่พูดแต่เกียรติประวัติของคนรุ่นปู่รุ่นพ่อที่เป็นหมอ ความภูมิใจของพ่อแม่ขึ้นอยู่กับผลสอบ และเมื่อไม่เป็นดั่งใจก็ใช้คำพูดและบทลงโทษรุนแรงมาตลอด จนลูกชายระบายความในใจว่าบ้านก็เหมือน “นรก” และเขาหาทางที่จะหนีจากนรกขุมนี้ไปให้ได้

ความใฝ่ฝันของครอบครัวนี้ก็เหมือนกันกับความใฝ่ฝันของพ่อแม่อีก 3 ครอบครัวในชุมชนนี้ที่ไม่รู้ตัวว่าความทุกข์และการล่มสลายของสถาบันครอบครัวกำลังเริ่มต้นอย่างช้าๆ จากการที่พวกเขาเลี้ยงลูกเพื่อให้ลูก “ตอบสนองความต้องการ” บางอย่างของพวกเขาเอง

อาทิ

  1. พ่อแม่ที่โตมากับการเลี้ยงดูแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เลยอยากจะเป็นพ่อแม่ให้ดีกว่า แต่แทนที่จะเป็นเพียงพ่อแม่ที่เอาใจใส่ธรรมดา กลับควบคุมจนเกินจำเป็นตามแบบ helicopter parents หรือพ่อแม่ที่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตอิสระหรือมีวิจารณญาณในการเลือก แต่ยังคงวุ่นวายเฝ้าดูแลจัดการให้ตลอด
  2. พ่อแม่ที่โตมาในครอบครัวยากจน ชีวิตปากกัดตีนถีบคลุกคลีกับความลำบาก จึงไม่อยากให้ลูกเจอเหมือนกัน พยายามผลักดันให้ลูกได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมดีๆ เคี่ยวเข็ญเรื่องเรียนเพราะเชื่อว่าการได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำจะเป็นใบเบิกทางสู่ฐานะทางสังคมที่ดีขึ้น แต่ความหวังดีซึ่งเป็นการชดเชยชีวิตวัยเด็กของพ่อแม่ก็มากเสียจนไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของเด็กว่าพวกเขาต้องการอะไร
  3. พ่อแม่ที่มีแนวคิดว่าลูกเป็นดั่งภาพสะท้อน “คุณภาพพ่อแม่” ดังนั้นยิ่งผลักดันลูกให้ได้เรียนสูงๆ หรือประสบความสำเร็จ พวกเขายิ่งรู้สึกดี แต่ถ้าไปไม่ถึงฝั่งฝันที่ตัวเองคาดหวังก็จะรู้สึกล้มเหลว ทั้งๆ ที่ไม่มีคำว่า “ล้มเหลว” ในการเลี้ยงลูก แต่พ่อแม่เองต่างหากที่คาดหวังความสำเร็จและโหยหาการยอมรับจากสังคมจนเกินตัว
  4. พ่อแม่ที่ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตัวเองเคยใฝ่ฝันไว้ (การเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ การจบออกมาทำงานในระดับสูงเป็นเจ้าคนนายคน) จึงเอาความใฝ่ฝันนั้นมาปั้นลูกเพื่อให้ไปแทนโดยไม่สนว่าลูกจะมีความพร้อมหรือไม่ หรือศักยภาพของลูกอยู่ที่ระดับไหน

 

การแข่งขันในซีรีส์ Sky Castle แทบไม่ได้ต่างจากสถานการณ์จริงในเกาหลีใต้ซึ่งการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยดุเดือดและเคร่งเครียดมาก กลายเป็นปัญหาสังคมที่เด็กนักเรียนต้องเผชิญแรงกดดันตั้งแต่ชั้นประถม หนังสะท้อนภาพการแข่งขันของชนชั้นสูงในชุมชน Sky Castle ที่ทวีความรุนแรงถึงกับมีการแข่งประมูลเลือก “โค้ช” ประจำตัวมาดูแลลูกของตัวเองเพื่อจัดระเบียบชีวิตและเรียนพิเศษเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย โค้ชจะดูแลตั้งแต่การออกแบบห้องอ่านหนังสือ ระดับของแสงไฟที่เหมาะสำหรับการเรียนแต่ละวิชาที่แตกต่างกัน  การจัดหาครูสอนพิเศษมาติวเข้ม ฯลฯ

และในบางสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดศีลธรรม เมื่อคนเป็นพ่อแม่หมกมุ่นกับ “การสอบติดมหาวิทยาลัย” จนให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราก็จะตัดสินใจทำเรื่องชั่วร้ายเพียงเพื่อผลักดันลูกให้ไปถึงเป้าหมาย หรือการสอนลูกด้วยแนวคิดว่า “มิตรภาพ/ความซื่อสัตย์” ไม่สำคัญเท่าความสำเร็จในชีวิต

บทของ Sky Castle ไม่ได้ชนะรางวัลก็จริงแต่นับว่ายอดเยี่ยมที่สามารถผสมผสานสาระและความสนุกเข้มข้นได้อย่างลงตัว เพราะแม้ว่าซีรีส์จงใจสะท้อนปัญหาสังคมที่แสดงเจตนาชัดเจนว่าจะพูดเรื่องอะไร (ปัญหาการเลี้ยงลูก ปัญหาการแข่งขันของเด็กนักเรียนในเกาหลีใต้ ที่ถูกกดดันสูงมาตั้งแต่เป็นเด็กประถมเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ปัญหาสังคมที่ให้คุณค่าแก่ภาพลักษณ์) แต่หนังก็ไม่ได้ทำออกมาสอนใจทื่อๆ ตรงๆ ฉลาดวางซับพล็อตในแนวปริศนาการตายตอนต้น และเมื่อดำเนินไปถึงช่วงกลางๆ ก็ใส่เซอร์ไพรส์มาอีกหนึ่งเรื่อง เป็นปริศนาให้คนดูลุ้นหาคำตอบว่า “ใครและเพราะอะไร?” จึงเกิดการตายขึ้นกับตัวละคร

และด้วยรูปแบบซีรีส์ที่มีความยาวนับสิบตอนจึงสามารถปูภูมิหลังตัวละครของแต่ละครอบครัว ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ว่าทัศนคติกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ใน Sky Castle มีที่มาจากไหน เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่เป็นทัศนคติที่ถูกปลูกฝังจากสังคมรุ่นต่อรุ่นสืบทอดกันมา

รวมถึงการเป็นกระจกที่สะท้อน “มุมมองและความรู้สึก” ของเด็กกับวัยรุ่นเกาหลีใต้ ซึ่งมีทั้งความทุกข์ใจและคับแค้นใจจากความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอเพราะไม่สามารถเติมเต็มความหวังของพ่อแม่ หรือการโกหกหลอกลวงของลูกในเรื่องเรียนเพราะกลัวจะถูกพ่อแม่ปฏิเสธความเป็นลูก ความเจ็บปวดของคนเป็นลูกที่รู้สึกว่าชีวิตโตมาในนรกและมีเป้าหมายอย่างเดียวคือเรียนให้ติดหมอแบบที่พ่อแม่พร่ำสอนทุกวัน ฯลฯ

“พ่อไม่ได้รักหนู พ่อรักความสำเร็จของหนู” คำพูดท่อนหนึ่งของตัวละครในซีรีส์น่าจะแทนความรู้สึกของเด็กๆ หลายคนทั้งในหนังและชีวิตจริง ซึ่งคนเป็นพ่อแม่เผลอให้ “ความสำเร็จ” มีค่าสูงสุดในชีวิตและเผลอคาดหวังให้ลูกมีหน้าที่ตอบสนองความคาดหวังหรือความใฝ่ฝันของตัวเอง โดยลืมไปว่าลูกๆ คือชีวิตซึ่งพ่อแม่มีส่วนช่วยในวัยเยาว์ แต่พวกเขาล้วนต้องการเติบโตและเบ่งบานตามทางที่ตัวเองเลือกในฐานะเจ้าของชีวิต

Sky castle ยังเป็นซีรีส์ที่ช่วยเตือนใจพ่อแม่ในสังคมที่บีบคั้นให้แข่งขันว่าลูกๆ นั้นต้องการอะไรจากสถาบันครอบครัวมากกว่าผลการเรียนหรือความสำเร็จในชีวิต และพ่อแม่สามารถให้พวกเขาได้ถ้าเพียงแต่ไม่คล้อยตามแรงกดดันในสังคมและปมในใจของตัวเอง

 


คอลัมน์ : มองโลกผ่านจอ ฉบับเดือนกันยายน 2562
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!