เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 วงวรรณกรรมไทยสูญเสีย “พนมเทียน” นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งบรรณพิภพ สร้างความโศกเศร้าอาลัยอย่างยิ่งแก่ผู้คนในประชาคมวงวรรณกรรม นอกจากผลงานเขียนจำนวนมากหลากหลายแนวเรื่อง อันมีลักษณะเฉพาะตัวและเป็นต้นแบบแก่นักเขียนรุ่นหลัง “พนมเทียน” ยังเป็น “พี่ใหญ่” ที่มีบุคลิกสง่างาม เป็นสุภาพบุรุษ มีจริยวัตรน่านับถือ และมีเมตตาอย่างอบอุ่นใจ
มรดกทางวรรณศิลป์ที่ “พนมเทียน” ทิ้งไว้เป็นบรรณาการสร้างความสุขเกษมแก่ผู้อ่านมีหลากหลาย ในวาระแห่งการรำลึกถึงด้วยคารวาลัยครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกกล่าวถึง ศิวา-ราตรี อันเป็นผลงานโดดเด่นมากเรื่องหนึ่งที่โครงการจัดพิมพ์หนังสือบทวิเคราะห์วรรณกรรมแห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดสรรไว้เพื่อพิมพ์เผยแพร่ แต่ล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย
ศิวา-ราตรี จินตนิยายขนาดยาว 2,361 หน้า เป็นผลงานซึ่ง “พนมเทียน” กล่าวว่ารักและภูมิใจมากที่สุด เพราะใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาทางอักษรศาสตร์และโบราณคดี บรรจุความไพเราะแห่งถ้อยภาษา และความรู้ทางประวัติศาสตร์แห่งดินแดนชมพูทวีปลงในจินตนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แม้ จุฬาตรีคูณ และ ปฐพีเพลิง จินตนิยายแห่งภารตนครอีกสองเรื่องที่แต่งขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ไม่อาจทัดเทียมได้
ศิวา-ราตรี มีโครงเรื่องใหญ่สามโครงเรื่องที่ดำเนินไปพร้อมกันราวเกลียวไหมสามเส้น โครงเรื่องแรกคือเรื่องราวสงครามกู้ชาติของชนเผ่ามิลักขะที่ถูกพวกอารยันนำโดยพิษณุมหาราชกรีฑาทัพมาล้างเผ่าพันธุ์ ทำลายอาณาจักรเทวทหะลงอย่างย่อยยับและครองอำนาจมายาวนานถึง 20 ปี มิลักขะทุกผู้ทุกนามจึงล้วนยึดมั่นในภารกิจลับร่วมกัน นั่นคือการกู้ชาติกู้แผ่นดิน โครงเรื่องที่สองคือเรื่องราวของเจ้าชายมิลักขะฝาแฝดสามองค์ ที่สงครามล้างเผ่าพันธุ์ของเหล่าอารยันทำให้ต้องพลัดพรากจากกันไป เจ้าชายน้อยทั้งสามมีชีวิตแตกต่างกันตามชะตากรรม ทุษยันต์ เป็นเจ้าชายองค์โตและได้รับการชุบเลี้ยงโดยชนเผ่าที่เป็นศัตรู ได้สมญาว่าเป็น จักรพรรดิแห่งอารยัน เวชยันต์ เจ้าชายองค์รองมีอัวลานางสิงห์เลี้ยงดู และต่อมาเติบโตในหมู่โจรเดียรถีย์ ได้สมญาว่า ราชันแห่งโจร และทัสสยุ เจ้าชายองค์สุดท้อง อยู่ในความดูแลของนายมายากร ได้สมญาว่า ราชาแห่งวณิพก หน่อมิลักขะที่โชคชะตาพัดพาให้ไปเติบโตคนละที่คนละทางเหล่านี้ เมื่อได้กลับมารู้จักพร้อมหน้ากันอีกครั้ง ก็พบว่ากลายเป็นศัตรูแผ่นดินชนิดที่ต้องห้ำหั่นให้ตายกันไปข้างหนึ่ง เรื่องราวของเจ้าชายมิลักขะสามพี่น้องจึงเข้มข้น ระทึกใจ แต่ละฝ่ายต่างต้องใช้เล่ห์การเมือง กฤติยาอาคม ยุทธศาสตร์ชั้นยอด และฝีมือเพลงอาวุธไร้เทียมทาน ในสงครามแต่ละครั้ง ปฐพีจึงนองเลือดและทับถมไปด้วยซากศพของเหล่านักรบที่พลีชีพเพื่อเผ่าพันธุ์ของตน นอกจากโครงเรื่องหลักที่ดำเนินคู่ขนานกันไปแล้ว ยังมีโครงเรื่องสำคัญที่เป็นเฉกเช่นไหมเส้นที่สามที่สอดเกลียวเลี้ยวพันให้เกิดสีสันเพิ่มขึ้น นั่นคือเรื่องราวความรักหลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นความรักดื่มด่ำของเจ้าหญิงยามาระตี ธิดาแห่งพิษณุมหาราชกับเวชยันต์จอมโจร ความรักสัตย์ซื่อของดุสิตา ธิดาขุนทหารมิลักขะกับทัสสยุ ราชาแห่งมายาการ ความรักเทิดทูนของเจ้าหญิงมาณวิกาที่มีต่อเจ้าชายทุษยันต์ เจ้าชายมิลักขะที่ต้องกลายเป็นกษัตริย์แห่งอารยัน ในขณะที่ทุษยันต์ต้องเก็บงำความรักลึกซึ้งที่มีต่อเจ้าหญิงยามาระตีไว้ในหัวใจ ความรักชาติและยึดมั่นในหน้าที่ของโรหิตา สตรีผู้สละชีวิตเพื่อแผ่นดิน รวมถึงความรักของพ่อและลูกของตัวละครอีกหลายตัว เรื่องราวความรักเหล่านี้หนุนสร้างบทบาทให้แก่ตัวละครหญิงซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เทิดทูนความรักให้โดดเด่น เช่นเดียวกับแสดงบุคลิกด้านอ่อนหวานของตัวละครชายผู้แกร่งกล้าและเกรียงไกร อีกทั้งความรักละมุนของตัวละครเอกทั้งสามคู่ ทำให้ศิวา-ราตรีสมบูรณ์ด้วยความเป็นนวนิยายที่สร้างอารมณ์รักพาฝันอันนำผู้อ่านให้ดื่มด่ำในรสสิเน่หาอันล้ำลึกละเมียดละไม
โครงเรื่องใหญ่ทั้งสามนำไปสู่แก่นเรื่องว่าความสุขแท้จริงของมวลมนุษย์หาใช่การแผ่อำนาจเดชานุภาพไปรุกรานผู้อื่น หรือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ด้วยความเหยียดหยามและหวาดระแวงกันแต่อย่างใดไม่ แต่คือความสงบสุข ศานติ ความรักสมานฉันท์ในหมู่ชนที่แตกต่างกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อรวมโลกเป็นหนึ่งเดียวเช่นเดียวกับธรรมชาติที่เอื้ออาทรแก่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มนุษย์ต้องยุติสงครามและเร่งสร้างสันติภาพความสามัคคีเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของอนุชนรุ่นหลัง
นอกจากโครงเรื่องที่วางไว้อย่างสอดร้อยเสริมรับกันอย่างมีพลังแล้ว การดำเนินเรื่องของจินตนิยายเรื่องนี้ก็นับว่ามีชั้นเชิงแยบยล แทนที่ผู้ประพันธ์จะเล่าเรื่องในฐานะสัพพัญญูผู้รู้รอบ (omniscient narrator) กลับสร้างตัวละครผู้เล่าเรื่องซึ่ง (สมมุติว่า) เป็นผู้ได้ยินได้ฟังเรื่องราวแสนระทึกและรันทดนี้มาอีกทอดหนึ่ง และนำมาเล่าถ่ายทอดแก่ผู้รับฟังซึ่งเรียกขานอย่างสนิทสนมว่า “ภราดร” ตัวละครผู้เล่าเรื่องจะปรากฏ “เสียงเล่า” ที่พูดคุยกับผู้ฟังในตอนต้นและตอนท้ายของแทบทุกบท บางบท “เสียงเล่า” นี้อาจปรากฏอยู่ในตอนใดตอนหนึ่งของบทด้วย กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นการดึงผู้อ่านเข้าไปส่วนร่วมกับนวนิยาย และกระตุ้นคนอ่านให้ติดตามเรื่องราวโดยการ “พูดด้วย” อยู่ตลอดเวลา กลวิธีเช่นนี้จึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีลีลาแบบนิทานที่มีผู้เล่าสู่กันฟังอันเป็นแบบฉบับของวรรณคดีโบราณ สอดรับกับเรื่องราวที่เป็นแบบนวนิยายย้อนยุค
นอกจากโครงเรื่องที่ผูกไว้อย่างน่าตื่นเต้นแล้ว จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือตัวละคร ตัวละครเอกคือ เจ้าชายมิลักขะฝาแฝดสามองค์ โอรสของจักรพรรดิชาตะเวทและพระนางวิชนีแห่งเทวทหะ ผู้ซึ่งประสูติในวาระแห่งศิวาราตรีอันเป็นคืนลอยบาป “พนมเทียน” สามารถสร้างตัวละครแฝดสามให้มีบุคลิกเฉพาะตัวได้โดดเด่น แม้ว่าเจ้าชายมิลักขะทั้งสามองค์จะเป็นพี่น้องร่วมอุทร แต่เพราะชะตากรรมทำให้สามพี่น้องต้องตกไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ละองค์ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาไม่ผิดเพี้ยนกันแม้แต่น้อย (จนต้องดูชื่อที่สลักไว้บนแผ่นหลัง) จึงมีอุปนิสัยและอัธยาศัยที่แตกต่างกันมากมาย
ทุษยันต์ โอรสองค์โตเป็นบุคคลในอุดมคติที่เพียบพร้อมด้วยคุณความดี นั่นคือ ซื่อสัตย์ กตัญญู รักษาสัจวาจา เสียสละ ไม่อาฆาตจองเวรผู้ใด และใฝ่ธรรม ทุษยันต์เป็นตัวละครที่มีปมขัดแย้งในตัวเองสูง เพราะการเกิดมามีชีวิตเพื่อผู้อื่นมากกว่าเพื่อตนเอง ทำให้บางครั้งมีความกดดัน เกิดแรงต้านในจิตใจ ทุษยันต์เป็นตัวละครที่มีคุณลักษณะสมบูรณ์แบบแทบจะหาไม่ได้ในชีวิตจริง เป็นคนดี คนเก่ง คนฉลาด โดดเด่นทุกประการ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุด
เวชยันต์ โอรสองค์กลาง มีชะตากรรมโลดโผนและสยดสยองกว่าพี่น้องร่วมอุทร ครั้งยังเป็นทารกถูกข้าศึกแทงด้วยหอกแล้วเหวี่ยงจมหายลงไปในวังน้ำวนในคืนดิถีแห่งกาฬปักษ์ที่เรียกว่าศิวาราตรี เวชยันต์จึงรับเอาบาปเวรและเพรงกรรมจากสายน้ำยามศิวาราตรีไว้เต็มเปี่ยม จากนั้นอยู่ในการเลี้ยงดูของอัวลานางสิงห์แม่ลูกอ่อนและนกุลา ขุนโจรเดียรถีย์แห่งผาสิงห์คำรณ เวชยันต์จึงได้รับการฝึกปรือความเป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญทั้งเพลงอาวุธและคาถาอาคมจนลือชื่อว่าเป็นราชาในหมู่โจร แต่ทุกคืนวันเพ็ญ เวชยันต์จะกลายเป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์) ผู้คลุ้มคลั่งวิปริต เวชยันต์จึงมีบุคลิกภาพสองด้านอยู่ในตัว ยามปกติวิสัยจะเป็นคนร่าเริงแจ่มใส อ่อนโยน เจ้าเสน่ห์ แต่ในยามพิโรธโกรธเกรี้ยว ลักษณาการจะเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามอย่างคาดไม่ถึง กลายเป็นคนเหี้ยมโหดอำมหิตที่ไม่มีสิ่งใดน่าพรั่นพรึงเท่า
ทัสสยุ โอรสองค์สุดท้อง เป็นคนขี้เล่น ร่าเริง แต่เฉลียวฉลาดมีไหวพริบ ฝีมือรบของทัสสยุไม่อาจเทียบกับทุษยันต์และเวชยันต์ แต่มีคุณสมบัติที่เชษฐาทั้งสองไม่มี คือ ความสามารถในการใช้วาทศิลป์ พูดจาอ่อนหวานมีเสน่ห์ อีกทั้งยังเล่นลิ้น หลอกล้อ ได้อย่างคล่องแคล่วและชวนเชื่อ นอกจากนี้ยังมีนิ้วมหัศจรรย์ที่สวรรค์ประทานมาให้สามารถเล่นเครื่องดุริยางค์ได้ทุกชนิด ความสามารถอันวิเศษของทัสสยุคือวิชามายาศาสตร์อันเรืองรณที่ร่ำเรียนมาจากกุเวรผู้เป็นบิดา เมื่ออ่านบทพรรณนาการใช้กฤตยาอาคมและมายาศาสตร์อย่างน่ามหัศจรรย์ที่ปรากฏอยู่หลายตอนแล้ว ผู้อ่านจะต้องคารวะผู้ประพันธ์ที่มีจินตนาการมหัศจรรย์พันลึกยากจักหาผู้ใดเปรียบได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กล่าวถึงภาษาของนวนิยายเรื่องศิวา-ราตรี เพราะผู้ประพันธ์จงใจเลือกใช้คำทำเนียบวรรณคดีให้เกิดความอลังการ “พนมเทียน” เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่อาจเขียนภาษาและแนวเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว ภาษาวรรณคดีสร้างบรรยากาศสอดคล้องกับเรื่องราวและยังแสดงให้เห็นความไพเราะงดงามของภาษาไทยจนอาจกล่าวได้ว่า “พนมเทียน” เป็นกวีร้อยแก้ว ในข้อเขียนสั้นๆ นี้ไม่อาจนำตัวอย่างมาแสดงได้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านลิ้มรสภาษาที่สัมผัสใจทุกบททุกตอนไม่ว่าจะเป็นโวหารการศึก โวหารรัก โวหารธรรม ฯลฯ เอาเอง
ศิวา-ราตรีเป็นนวนิยายที่อ่านแล้ววางหนังสือไม่ลง เพราะการดำเนินเรื่องเร้าอารมณ์ของผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง “พนมเทียน” เชี่ยวชาญในการปรับเปลี่ยนน้ำหนักของเรื่องให้สอดคล้องกับจังหวะอารมณ์ของผู้อ่าน ความตื่นเต้นในฉากรบ การระทึกขวัญในเหตุวิกฤติ ความอ่อนหวานของฉากรัก ความสยดสยองในฉากเหี้ยมโหด ความสนุกในแผนซ้อนกล ความมหัศจรรย์ในกฤตยาอาคมและมายาศาสตร์แสนพิสดาร ความซาบซึ้งในปรัชญาชีวิตและคุณธรรมของมนุษย์ ฯลฯ เหล่านี้ถูกจัดวางเพื่อสลับปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้อ่าน แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์ที่คุมโครงเรื่องและอารมณ์ของเรื่องได้อย่างมีเอกภาพ รวมทั้งคุมอารมณ์ของผู้อ่านได้อยู่มือ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องยาวมากและใช้เวลาเขียนนาน
นอกจากความสนุกเร้าใจในเนื้อเรื่องและการวาดภาพตัวละครด้วยภาษาวิจิตรไพเราะอันเป็นคุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว คุณค่าอีกประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องศิวา-ราตรี คือการสร้างสำนึกว่าคุณธรรมของมนุษย์เป็นคุณสมบัติที่ไม่ว่าราชา ยาจก หรือแม้โจรพึงรักษาไว้ นั่นคือ การยึดมั่นในสัจวาจา การรักษาศักดิ์ศรีเกียรติยศ ความเสียสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดิน ความกตัญญูรู้คุณ การให้อภัยไม่อาฆาตจองเวร และความซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ แม้นวนิยายจะมิใช่หนังสือสอนศีลธรรม แต่พลังของนวนิยายเรื่องเอกอย่างศิวา-ราตรีอาจปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ที่เจือจางลงไปแล้วในกาลปัจจุบันให้กลับมาเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
ขอบคุณมากๆค่ะท่านอาจารย์ จะรีบไปหาหนังสือ ศิวาราตรี ชุดนี้ ของท่านพนมเทียน – ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ กวีผู้รจนา มาอ่านอย่างเร็วที่สุดเลยค่ะ