‘หมอตุ๊ด’ – ‘รังสิมันต์’ : หมอสมองที่หลงรักการเขียน

-

‘หมอแพท’ นพ.อุเทน บุญอรณะ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคทางสมองที่หลงใหลในการเขียน และมีผลงานหลากหลายแนว อาทิ เพจเฟซบุ๊ก ‘หมอตุ๊ด’ มียอดไลก์กว่าสามแสน ซึ่งมักสอดแทรกคำคมเด็ดๆ ประโยคจี๊ดๆ ไว้เตือนสติสาวๆ ที่กลัดกลุ้มและมูฟออนเป็นวงกลมกับเรื่องของความรักและการใช้ชีวิต ด้วยความนิยมของเพจนำไปสู่การรวมเล่มเป็นหนังสือและสร้างเป็นซีรีส์ในชื่อ Wake Up ชะนี นอกจากนั้นหมอแพทยังมีนามปากกา “รังสิมันต์” ใช้สำหรับงานเขียนนิยายวายหลายเรื่อง ซึ่งมีทั้งถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นซีรีส์ และแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น รักนาย My Ride, 7 วันก่อนวาเลนไทน์, My Imaginary Boyfriend แฟนผมไม่มีตัวตน, I Love You to Die ผมรักคุณผมฆ่าคุณ นิยายวายของหมอแพทมีพล็อตที่โดดเด่น เพราะคุณหมอนำประสบการณ์จากเคสที่เจอในการทำงานมาเป็นเค้าโครง หมอแพทเล่าถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานแต่ละเรื่องให้เราฟัง บอกเลยว่าตื่นเต้นจนฟังเพลินลืมเวลา เป็นการสนทนาที่สนุกมาก

เส้นทางการอ่านของหมอแพทเริ่มต้นได้อย่างไร

เราเกิดปี 2524 เด็กสมัยนั้นไม่ได้มีความบันเทิงมากนัก ไม่รู้จะทำอะไรก็อ่านหนังสือ คุณแม่ชอบอ่านหนังสือและมักพาไปห้องสมุดประชาชน มีโควต้ายืมหนังสือได้ห้าเล่ม แม่จะยืมสี่เล่ม เหลือให้เรายืมอีกเล่ม กลายเป็นภารกิจที่ทุกสัปดาห์ต้องอ่านหนังสือให้จบหนึ่งเล่ม พอถูกฝึกให้อ่านก็กลายเป็นชอบอ่าน อ่านเร็ว และอ่านเยอะด้วย

เส้นทางการเขียนล่ะ เริ่มได้อย่างไร

            เราว่านักเขียนส่วนจุดเริ่มต้นเหมือนกัน พอชอบอ่าน อ่านเยอะ จึงสะสมวัตถุดิบในหัวมากเข้าๆ แล้วเริ่มจับคู่สร้างเรื่องขึ้นเอง สุดท้ายก็พรั่งพรูออกมาเป็นงานเขียน เราเริ่มเขียนครั้งแรกตั้งแต่ม.ปลาย และความกะเทยก็อยากเป็นสาวอักษร แต่แม่ก็แย้งว่าเราน่าจะมีทักษะเขียนบ้างแล้ว และการเขียนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่แค่ 4 ปีในมหา’ลัย แล้วจะเขียนได้ดีเลย อีกทั้งสิ่งจำเป็นสำหรับนักเขียนคือต้องมีเรื่องเล่า ดังนั้นลูกน่าจะเรียนอะไรที่ได้ไปผจญภัยเพื่อให้มีเรื่องเล่านะ ทั้งหมดคือแม่หว่านล้อมให้เรียนหมอแหละ เราก็โอเค เรียนก็ได้นะ โชคดีที่เรียนๆ ไปถึงปี 6 รู้สึกชอบการเป็นหมอ เราได้เปรียบตรงนั่งอยู่กับที่ แต่เห็นปัญหาของคนหลากหลายแบบที่เข้ามาหาเรา เราว่าสิ่งที่นักเขียนต้องทำมากกว่าเขียนคือการรับฟังและการอ่าน เมื่อข้อมูลอัดแน่นเต็มหัวเราแล้ว เราจะกลั่นออกมาเป็นงานเขียนเอง

นิยายเรื่องแรกที่เขียนจริงๆ จังๆ จึงเกิดขึ้นตอนเรียนปี 5 เรื่อง Templar of the Dream เป็นแนวแฟนตาซีตามสมัยนิยมยุคแฮร์รี พอตเตอร์ ทุกคนต้องเขียนแฟนตาซี มีคนติดตามพอสมควร เขียนไป  900 กว่าหน้า A4 แต่พอขึ้นปี 6 ชีวิตไม่ว่างแล้ว จึงทิ้งเรื่องไว้อย่างนั้น ที่จริงตอนปี 6 มีเขียนนิยายรักด้วยชื่อเรื่อง The Our Story เขียนได้ถึงบทที่ห้าก็ต้องไปทำงานต่างจังหวัด เลยหยุดเขียน และไม่ได้แตะงานเขียนอีกเลยจนเรียนจบแพทย์เฉพาะทาง

เพจหมอตุ๊ดเกิดขึ้นตอนไหน

            หลังจากเรียนเฉพาะทางจบ ตอนนั้นอยากวาดการ์ตูน จึงทำเพจคุณหมอเกาลัด วาดการ์ตูนเล่าเรื่องชีวิตตลกๆ ของหมอ ปรากฏโดนเพจใหญ่ก๊อบปี้มุกตลก รู้สึกว่าแก๊กตลกที่วาดทั้งวันถูกก๊อบปี้ไปง่ายๆ เลยเปลี่ยนแนวมาทำเพจเขียนเนื้อความแทน แรกเริ่มแค่อยากเม้าท์มอยเฉยๆ เขียนเล่าเรื่องตลกของหมอ คนไข้ หรือชีวิตประจำวัน ไม่คิดจะเป็นที่พึ่งให้ใคร แค่เพื่อนสาวชวนเม้าท์ ปรากฏพอทำเพจไปเรื่อยๆ เราก็อายุมากขึ้น จากเพื่อนกลายเป็นพี่ เป็นเจ้ที่คอยให้คำแนะนำ เราไม่ได้เก่งหรอก แค่ผ่านชีวิตมาก่อน จึงกลายเป็นที่พึ่งให้สาวๆ ในเรื่องความรักและการใช้ชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เคสที่นำมาเล่าตอนแรกคือเคสที่เจอเอง ช่วงหลังๆ คือเรื่องของคนที่เจอแล้วเล่าให้ฟัง มีอินบ็อกซ์ส่งเรื่องเข้ามาด้วย แต่ปัญหาส่วนมากจะวนไม่กี่เรื่อง เรานำจุดร่วมมาเขียน เรียกว่าทุกเคสดีกว่า รักตัวเองนะ แต่เลยจุดที่ความรักตัวเองจะช่วยได้ เหยียบเบรกช้าไป เราจะไม่สั่งสอน แค่แบ่งปันประสบการณ์ เธอจ๊ะ ฉันก็เคย ชะนีเอ๋ย ฉันก็เคยเหมือนกัน เรื่องในเพจจะเป็นแนวนี้ พอเพจเป็นที่รู้จักก็มีสำนักพิมพ์มาเสนอให้รวมเล่ม

หมอแพทยังนำเคสที่เจอในงานมาเป็นวัตถุดิบเขียนนิยายด้วย?

            ใช่ พอเป็นหมอทางสมองก็ได้เจออะไรเยอะ เราก็เอาเรื่องพวกนี้มาแปลงเป็นนิยาย เช่นเรื่อง My Imaginary Boyfriend แฟนผมไม่มีตัวตน เรื่องนี้พูดถึงตัวเอกเห็นเพื่อนในจินตนาการ และก็ชอบเพื่อนในจินตนาการ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นคนรักกัน และเพื่อนในจินตนาการก็เริ่มมีตัวตนมากขึ้น สัมผัสได้ จับมือ กอด คนมองเห็น ตัวเอกสงสัยว่านี่คืออะไร และเริ่มกลัวมากขึ้นเพราะไปได้ยินเรื่องบูกี้แมน เพื่อนในจินตนาการที่ต้องการเอาชีวิตเราเพื่อมาแทนที่ตัวเรา เรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจจากเคสสมัยเรียนเฉพาะทาง เป็นการสัมมนาซึ่งทุกโรงพยาบาลจะนำเคสที่คิดว่าเจ๋งมาเล่าให้ฟัง แล้วเพื่อนๆ หมอจากโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องถกเถียงกันว่านี่คือโรคอะไร ตอนนั้นโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มาด้วย เคสหนึ่งมีชายไทยอายุ 27 ปี มีปัญหาเรื่องนอนครั้งละ 35 วัน แต่ในเดือนนั้นเขาจะตื่นแบบละเมอมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ละเมอลุกขึ้นมากินข้าว อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ กิจกรรมแต่ละอย่างจะทำไม่เกิน 5 นาที ไปนอนต่อ แล้วพอเขาตื่น เขาจะเข้าใจว่าตนเองนอนไปแค่หนึ่งคืน ทุกสิ่งที่เกิดเขารู้สึกว่าเป็นแค่ความฝัน เขาบอกแม่ว่าฝันแปลกมากเหมือนแฟนโทร.มาขอเลิก แม่บอกว่าแฟนโทร.มาจริงเมื่อสิบวันก่อน ลูกก็เออออตาม ตอนเราฟังแล้วว้าวมาก น่าเอามาแปลงเขียนเป็นนิยาย

หรือเรื่องที่ได้ยินตอนไปประชุมวิชาการที่ดูไบ มีผู้หญิงคนหนึ่งตื่นนอนแล้วพบว่าลูกหายไป ข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างอันตรธานจากบ้านเพียงชั่วข้ามคืน ไปถามคนอื่นก็มีแต่อ้ำอึ้ง คุยกับแม่ แม่บอกว่าลูกเคยแต่งงานและหย่า แต่ไม่มีลูกนะ เธอก็ไม่เชื่อ ไปตามหาที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ไม่เจอ เคสนี้ถูกส่งให้จิตแพทย์และหมอโรคสมองก็ไม่พบอะไรผิดปกติ จนไปเจอกับหมอสูตินรี หมอสแกนดูมดลูก นี่เป็นมดลูกของคนที่ไม่เคยตั้งครรภ์เลย เคสนี้สรุปคือความฝันและความทรงจำของผู้หญิงคนนี้สลับที่กัน ความทรงจำของเขาหายไปแต่ถูกแทนที่ด้วยความฝัน

ล่าสุดเรากำลังเขียนบทซีรีส์ เป็นเรื่องของเด็กชายที่เวลาส่องกระจกจะเห็นผีชายแก่ยืนอยู่ข้างหลัง เขากลัวมาก พ่อส่งเขาไปแอดมิตที่โรงพยาบาลจิตเวช ปรากฏเขาไปเจอเอกสารที่ระบุว่าพ่อของเขาเสียชีวิตแล้ว เด็กชายโทร.กลับไปถามพ่อทำไมเอกสารเขียนอย่างนี้ พ่อรับสายแต่ไม่ตอบ แล้วสายก็ตัดไป ฉึบ!

เราจะมีเรื่องราวทำนองนี้เป็นวัตถุดิบอยู่ในหัวเยอะ และกล้าพูดได้เลยว่านิยายลึกลับของเราจะไม่ใช่ผีสางธรรมดา แต่สามารถเป็นไปได้ในชีวิตจริง เรื่องที่นำเค้าโครงโรคทางสมองมาเขียน เราจะแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งบริจาคให้ศูนย์โรคสมองของมหา’ลัยธรรมศาสตร์ที่จบมา

ทำไมหมอแพทถึงเลือกเขียนเป็นนิยายวายทุกเรื่อง

ตอนที่เขียนครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ตอนนั้นตลาดวายไม่ใหญ่เท่าทุกวันนี้ ยังเป็นนิยายใต้ดินอยู่ และแนวเรื่องก็ซ้ำๆ เป็นรักในรั้วโรงเรียนหรือมหา’ลัย เราอยากเขียนนิยายวายของคนที่โตแล้วบ้าง และเราเป็นเกย์ จะให้เขียนชาย-หญิงก็คงไม่อินนัก เข้าใจผู้หญิงได้ไม่ดีพอ และนิยายชาย-หญิงก็มีเจ้าตลาดเยอะแล้ว คงไม่กระโดดลงไปแข่งด้วย

มองพัฒนาการวงการนิยายวายไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เราว่าจุดเด่นของนักเขียนไทยคือ 1.เขียนไว บางคนเขียนได้วันละตอนเลย 2.นักเขียนไทยดัดแปลงเก่ง เกิดกระแสอะไร นักเขียนไทยสามารถรับแล้วนำมาดัดแปลงกลายเป็นผลงานได้ทันที ด้วยจุดเด่นสองอย่างนี้ทำให้ปัจจุบันนิยายวายไทยมีจำนวนเยอะ ทว่าเมื่อผลิตเยอะการควบคุมคุณภาพก็ทำได้ยาก เมื่อก่อนเรามีบรรณาธิการคอยดูแลตรงนี้ แต่ปัจจุบันบทบาทของบรรณาธิการก็ลดลง เราไม่สามารถกำหนดคนอ่านว่าให้อ่านงานมีคุณภาพสิ บางทีอาจโดนของไม่มีคุณภาพแล้วเหมารวมว่า นิยายวายไทยไม่มีคุณค่า

แนวถนัดของหมอแพทคือแนวไหน

เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความรัก เพราะประสบการณ์ความรักของเราออกแนวคู่ชีวิตเลย ไม่มีช่วงมุ้งมิ้งให้ฟิน แต่เราเขียนอะไรที่เป็นการทะเลาะกันในชีวิตจริงได้ เช่น บอกแล้วว่าน้ำยาล้างห้องน้ำกลิ่นนี้ไม่โอเค บอกไม่ให้ซื้อ ทำไมยังซื้อ ต้องเป็นคนที่โตในระดับหนึ่ง ผ่านชีวิตคู่ถึงจะเข้าใจ แต่กลุ่มเป้าหมายของนิยายวายคือเด็กวัยรุ่นที่ยังต้องการฉากฟินๆ อยู่ การเขียนของพี่จึงไม่เน้นความรัก ความรักคือเรื่องรอง แล้วโชว์อย่างอื่นแทน เช่น ความลึกลับ

ลายเซ็นของ “รังสิมันต์” หรือ “หมอตุ๊ด” คืออะไร

การอุปมาอุปไมย เวลาที่เล่าเรื่องซึ่งเกี่ยวกับสัจธรรม เรามักใช้การอุปมาอุปไมย เช่น ใน Wake Up ชะนี พูดถึงน้ำแข็ง มีคำถามถึงเจ้หมอว่า ผู้ชายบอกว่าเขาเป็นคนสำคัญ อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อย่าไปจากเขา แต่ผู้ชายก็คบคนอื่นเป็นแฟน แล้วฉันคืออะไรสำหรับเขา เธอคือน้ำแข็ง เวลากินชาหรือกาแฟเย็น เราเอ็นจอยกับชาและกาแฟในแก้ว แต่ถามว่าแก้วนั้นจำเป็นต้องมีน้ำแข็งไหม จำเป็น แต่น้ำแข็งเป็นนางเอกของแก้วนั้นไหม ไม่ใช่ น้ำแข็งทำให้คนดื่มชาเย็นมีความสุข ปลายทางน้ำแข็งก็จะละลายหรือถูกทิ้งลงถังขยะ นั่นคือสิ่งที่เธอเป็น งานเขียนของเราทุกเรื่องมักสอดแทรกอุปมาอุปไมยแบบนี้ คนอ่านจะรู้ได้ว่านี่คือผลงานของ “หมอตุ๊ด” และ “รังสิมันต์”

หมอแพทชอบผลงานเล่มไหนเป็นพิเศษ

ในฐานะนักเขียนคือรักทุกเล่ม แต่เล่มที่รู้สึกว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์ดีที่สุดต้องยกให้  My Imaginary Boyfriend แฟนผมไม่มีตัวตน เรื่องอื่นที่ดังเพราะมีคนซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีส์บ้าง หรือมีสำนักพิมพ์ช่วยโปรโมตบ้าง แต่เล่มนี้เราพิมพ์เอง ทำเองทุกอย่าง เราให้เพื่อนช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วนำไปวางขายใน Amazon สำนักพิมพ์คาโดกาว่าของญี่ปุ่นมาเห็นเข้าก็ขอซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น คาโดกาว่าของไต้หวันก็ซื้อไปแปลเป็นภาษาจีนด้วย นอกจากนี้ยังมีภาษาเกาหลี และบราซิล ต้องเล่าว่าสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นมักซื้อลิขสิทธิ์นิยายวายไทยเรื่องที่ถูกนำไปทำซีรีส์แล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์มาก่อน และเราเคยเสนอเรื่องนี้แก่สำนักพิมพ์ไทย 5 แห่งแต่โดนปฏิเสธหมด เคยเสนอสำหรับทำเป็นซีรีส์ก็โดนปฏิเสธ เลยภูมิใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เรื่องที่ไม่มีใครยอมรับ ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีคุณค่า หรือคุณค่าในตัวลดลง และการที่เขาปฏิเสธเป็นการสูญเสียของเขา ไม่ใช่ของเรา

แล้วเล่มไหนที่เขียนยากที่สุด

ยังไม่ออกเป็นเล่ม ยังเขียนค้างอยู่ เป็นเรื่องของจิตแพทย์ที่เห็นวิญญาณ แล้วรับจ้างทำจิตบำบัดให้วิญญาณไปสู่สุคติ จิตแพทย์คนนี้ทำสัญญากับยายเมิ่ง ที่ต้องคอยเสิร์ฟน้ำแกงให้วิญญาณเพื่อลบความทรงจำก่อนข้ามสะพาน พอคนตายเยอะขึ้นยายเมิ่งก็เสิร์ฟน้ำแกงไม่ทัน จึงจ้างจิตแพทย์คนนี้ แล้วเคสใหญ่คือมีวิญญาณที่จำอะไรไม่ได้เลย จิตแพทย์จึงต้องตามหาความทรงจำให้ เรื่องนี้เราอยากสื่อเรื่องการปล่อยวางหรือการมูฟออนนั้นไม่ใช่การลืม แต่เป็นการจดจำทุกความเจ็บปวดไว้ แล้วปล่อยให้ความเจ็บปวดเป็นบทเรียนเพื่อเดินหน้าต่อ และการลืมไม่ได้หมายว่าจะปล่อยวางได้นะ ความยากของเรื่องนี้คือการคัดเลือกเคสเด็ดๆ มาให้จิตแพทย์รักษา เรามีเคสในหัวเยอะ แต่ไม่แน่ใจว่าอันไหนถึงจะเด็ดพอ

แนวไหนที่อยากเขียนในอนาคต

            ย้อนยุค เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณ “วรรณวรรธน์” ซึ่งเล่าว่าเขาชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แล้วหาช่องว่างของประวัติศาสตร์มาเขียนนิยาย เราชอบวิธีคิดนี้ แล้วก็ชอบอ่านประวัติศาสตร์เหมือนกัน จึงลองหาช่องว่างในประวัติศาสตร์บ้าง และก็เจอแล้ว คือสมัยอยุธยา ญี่ปุ่นกับไทยมีความสัมพันธ์อันดี แต่ในช่วงต้นของรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ประชากรในหมู่บ้านญี่ปุ่นก็ลดจำนวนลง ตามเอกสารกล่าวว่าเกิดการตายขึ้น แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจน

เคยมีช่วงตันหรือเบื่อจนอยากเลิกเขียนไหม แล้วทำยังไงเวลาเกิดความรู้สึกนี้

ช่วงเขียนไม่ออกมีในนักเขียนทุกคน เราแก้ด้วยสองวิธี 1.ก่อนเขียนเราจะวางโครงไว้ เมื่อเราเขียนไม่ได้ เราจะกลับมาดูเค้าโครงนี้ แล้วเขียนตามทิศทางของเค้าโครง แต่ถ้าไม่ออกจริงๆ ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีความสามารถ แต่เราล้าจนไม่สามารถเขียนได้ จงไปพักผ่อนซะ สมมติเราเป็นผ้าขี้ริ้ว เราบิดจนไม่มีน้ำแล้ว บิดให้ตายน้ำก็ไม่ออก ไปพักผ่อนดีกว่า

แต่เราไม่เคยอยากเลิกเขียนเลย อันที่จริงนักเขียนหลายคนมีโมเมนต์เขียนแล้วไม่มีคนอ่าน ไม่ดัง หรือโดนคอมเมนต์ไม่ดีจนท้อ เราตอบแบบนี้จะมีคนหาว่าเห็นแก่ตัวไหมนะ คือเราเขียนเพื่อให้เรามีความสุข ถ้าใครไม่เอ็นจอยกับงานเขียนเราก็ไม่ว่าอะไร มีนักเขียนอีกเยอะแยะ ไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่ฉันก็จะเขียนต่อไป เราหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอ การเขียนจึงทำเพื่อความสุข และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในวงการนิยายวาย อยากท้าทายตัวเอง หาโจทย์ใหม่ๆ ให้ชีวิต เพราะฉะนั้นจงอย่าเอาหัวใจของเราไปเป็นรองเท้าของคนอื่น เราเขียนงานของเรา เรารักงานของเรา อย่าเอาคำตัดสินของคนอื่นมากำหนดตัวเรา

สิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนในมุมมองหมอแพทคืออะไร

วินัย นักเขียนถ้าเขียนงานออกมาเรื่อยๆ ก็มีโอกาสดัง นักเขียนที่เขียนเรื่องเดียวแล้วดังมีไม่กี่คนบนโลก แต่คนที่เขียนไปเรื่อยๆ แล้วดัง แล้วรวย มีมากมายในโลก สิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนคือใจที่ไม่ท้อ ความมีวินัยในการเขียน การออกงานสม่ำเสมอ ถ้าคุณออกงานสม่ำเสมอ อัลกอริทึ่มใน Amazon, Meb, Read a write จะดันให้ชื่อของคุณมีคนเห็นเรื่อยๆ แม้เขาไม่ซื้อวันนี้ แต่เขาจะจำชื่อเราได้ และอาจซื้อในวันหน้า

นักเขียนรุ่นใหม่ควรเตรียมตัวอะไรบ้างเมื่ออยากก้าวสู่การเป็นนักเขียน

1.สำรวจตัวเองว่าอ่านพอรึยัง สิ่งที่นักเขียนต้องทำมากกว่าเขียนคืออ่าน เชื่อว่านักเขียนรุ่นครูทั้งหลายต้องเคยพูดเช่นนี้ อย่าลืมว่าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญกว่าสิ่งใดคือเรื่องของสมอง สมองพัฒนาการเขียนผ่านการอ่าน ดังนั้นถ้าคุณจะพัฒนาการเขียนโดยไม่อ่าน คุณคงต้องมีมันสมองของเอเลี่ยนแทน

  1. อย่าหลงลืมจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเป็นนักเขียน เชื่อว่าทุกคนเริ่มจากความอยากเขียน ไม่ใช่อยากได้คำคอมเมนต์ หรือการยอมรับ หรือยอดการอ่าน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ท้อให้กลับไปนึกถึงจุดเริ่มต้น เราอยากเขียนไม่ใช่เหรอ นี่ก็ได้เขียนแล้ว ก็มีความสุขแล้ว อย่าเอาสิ่งอื่นมาเป็น KPI วัดชีวิตการเป็นนักเขียน

สำหรับคนที่อยากทำความรู้จักงานของ “รังสิมันต์” แนะนำหนังสือเล่มไหนให้เขาดี

            1.รักนาย My Ride เป็นเรื่องสบายๆ ไม่ดราม่า ได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตด้วย

  1. My Imaginary Boyfriend แฟนผมไม่มีตัวตน เป็นนิยายวายแนวใหม่ๆ ที่ทำให้คุณต้องว้าว
  2. I Love You to Die ผมรักคุณผมฆ่าคุณ เป็นเรื่องของเน็ตไอดอลเกย์สองคนซึ่งเจอกันที่คลินิกจิตเวช แล้วรักกัน เป็นคู่จิ้นโด่งดังในโลกทวิตเตอร์ แต่แล้ววันหนึ่งกลับฆ่ากันตาย จิตแพทย์ที่ดูแลต้องนั่งค้นทวิตเตอร์ของทั้งสองว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นแนวสยองขวัญ – จิตวิทยา สะท้อนให้เห็นด้านมืดของโลกโซเชียล และด้านมืดของโรคจิตเวช แรงดึงดูดระหว่างคนอาจไม่ได้แปลว่ารักเสมอไป อาจเป็นความอยากทำลายก็ได้

003 เล่มในดวงในของพี่หมอแพท

  • Hide เรื่องโดย Matthew Griffin

เป็นเรื่องของเกย์สูงอายุสองคนซึ่งใช้ชีวิตด้วยกันตั้งแต่หลังสงครามโลก เมื่อคนหนึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกคนก็ต้องดูแล ทั้งเรื่องไม่มีการกล่าวคำว่ารักเลย มีแต่การด่าทอ โกรธ เกรี้ยวกราด ทำไมฉันต้องมาดูแลแกด้วย แต่กลับเต็มไปด้วยความรัก เมื่อตัวเอกถามสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอดว่าทำไมต้องมาปลูกบ้านอยู่ในป่าลึก ห่างไกลผู้คน เพราะอายที่เราเป็นเกย์ใช่ไหม คู่รักที่เป็นอัลไซเมอร์ซึ่งพูดแต่ละคำลำบากแล้ว ค่อยๆ นึกและพูดออกมาทีละคำว่า ผมกลัวคนจะมาแย่งคุณไป เพราะผมรักคุณมาก อ่านจบแล้วแทบอยากยืนขึ้นปรบมือให้เลย

  • One day เรื่องโดย David Levithan

หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามว่าเรารักคนที่ตัวคนหรือจิตใจ พระเอกเป็นพลังงานที่สิงร่างได้แค่ 24 ชั่วโมงแล้วต้องย้ายร่างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเกิดตกหลุมรักผู้หญิง ไม่ว่าพระเอกจะไปสิงร่างไหนก็พยายามกลับมาหาผู้หญิงคนนี้ และนางเอกก็รู้สึกได้ว่าคนที่เจอไม่ซ้ำหน้าทุกวันนั้นคือคนคนเดิม ไม่ว่าจะมาในร่างชายหรือหญิง ยังไงเสียฉันก็รักคุณ

  • เพรงกาล เรื่องโดย “พู่ไหม”

นิยายวายที่ตัวเอกย้อนเวลามาอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกขายเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่พูดภาษาอังกฤษได้เลยกลายเป็นบ่าวของชายใหญ่ พล็อตนิยายวายทั่วไป แต่มีความละเมียดละไมของภาษา การแต่งกลอน ฉากเข้าพระเข้านางเขียนได้ดีมากๆ เป็นนิยายวายที่หยิบมาอ่านบ่อยๆ


คอลัมน์ : ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!