ชาวลาวเป็นชนชาติที่มีศิลปะดนตรีในหัวใจ การร้องรำทำเพลงของลาวมีรากเหง้าร่วมบรรพบุรุษกับไทยมาเนิ่นนาน ทำนองเพลงลาวถูกใช้ในทำนองเพลงไทยเดิม เช่น ลาวดวงเดือน ลาวเจริญศรี ลาวสมเด็จ ลาวเสี่ยงเทียน ในทางกลับกัน เครื่องดนตรีไทย เพลงไทย และภาษาไทยก็ถูกนำไปใช้ในเพลงลาวด้วย คำที่เกี่ยวข้องกับการร้องรำทำเพลงของลาวจึงเป็นคำง่าย มีใช้ในภาษาไทยเช่นกัน แต่ความหมายแตกต่างกันน่าศึกษา
ຂັບ ขับ หมายถึง การร้องเพลงตามทำนองเดิม การ “ขับ” นี้ใช้เรียกลักษณะการร้องที่เป็นแบบแผนมาตรฐาน มีทำนองเพลงเดิมกำหนดวิธีการร้อง แต่อาจเปลี่ยนเนื้อขับไปตามยุคสมัยหรือการแต่งเพิ่มเติม เช่น ขับทุ้มหลวงพระบาง ขับซำเหนือ ขับเซียงขวาง ผู้ที่ขับร้องเพลงประเภทนี้จะถูกเรียกว่า ໝອຂັບ หมอขับ
ລຳ ลำ หมายถึง การร้องเพลงเล่าเรื่องประกอบเครื่องดนตรีประเภทแคน การ “ลำ” มักเป็นการร้องต่อกันเป็นกลอนยาวเพื่อเล่านิทานสอนใจ หรือเรื่องในชาดก ตำนานนิยายต่างๆ หรืออาจจะเป็นการเล่าเรื่องตลกที่เรียกว่า ນິທານກ້ອມ นิทานก้อม ซึ่งมักมีมุกสองแง่สองง่าม
ຮ້ອງ ฮ้อง คือ ร้อง หมายถึง การร้องเพลงทั่วไป
ຟ້ອນ ฟ้อน หมายถึง การรำ คล้ายกับภาษาล้านนา โดยอาจมีชื่อเรียกลักษณะการฟ้อนต่อท้าย เช่น ฟ้อนหลวงพระบาง ฟ้อนนาคราช ทั้งนี้ ในภาษาลาวกลางไม่ใช้คำว่า “เซิ้ง” ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยอีสาน และไม่มีคำว่า ฟ้อนลำ หรือฟ้อนรำ ซึ่งเป็นคำสร้อยประกอบ
ລຳວົງ ลำวง หมายถึง การฟ้อนรำเป็นหมู่คณะ มักรำเป็นวงกลมบนลานจัดงาน เป็นวัฒนธรรมร่วมรากไทย-ลาว ที่ได้รับการพัฒนาและสืบทอดกันมาตามยุคสมัย ปัจจุบันการลำวงประกอบเพลงลาว ใช้ในการเปิดงานสังสรรค์ต่างๆ โดยให้ประธานของงานเป็นผู้โค้งเชิญฝ่ายหญิงออกมาร่วมฟ้อนรำ
ບັດສະຫຼົບ บัดสะหลบ คือ การเต้นหมู่ประเภทหนึ่งที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากการเต้นพื้นเมืองของรัสเซียในยุคปฏิวัติ โดยมีสเต็ปการเตะขาพร้อมกัน ปัจจุบันในลาวใช้เต้นปิดงานฉลอง งานรื่นเริง หญิงสาวจะใช้โอกาสนี้แต่งชุดสวยงาม สวมรองเท้าส้นสูงมาออกลีลาเต้นบัดสะหลบพร้อมเพรียงกันอย่างน่าชื่นชม
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข