ในเมื่อประเทศไทยโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสัมผัสความเป็นไทยจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่จะบอกเล่าประวัติความเป็นมาของไทยได้เป็นอย่างดี คือ หนังสือ แต่ทว่าประเทศไทยกลับมีหนังสือภาษาอังกฤษแนวนี้น้อยมาก ที่มีอยู่มักเป็นหนังสือนำเที่ยวเสียส่วนใหญ่ ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ เล็งเห็นช่องว่างที่ยังขาดอยู่ตรงนี้ จึงก่อตั้ง Silkworm Books (สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม) สำนักพิมพ์ซึ่งตั้งใจเผยแพร่เรื่องราวความเป็นไทยและเอเชียอาคเนย์สู่สายตานักอ่านสากล ตามสโลแกนสำนักพิมพ์ Read Thailand / Read Southeast Asia / Read Silkworm
คุณตรัสวินเล่าให้เราฟังหน่อยว่า Silkworm เกิดขึ้นได้อย่างไร
ต้องเล่าภูมิหลังก่อนนะคะ คือดิฉันทำงานในร้านหนังสือของครอบครัว (สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ เปิดมาตั้งแต่ปี 2498 แล้ว และเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำเข้าหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติ 2523 รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Thailand Year มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเยอะ แต่หนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยกลับมีน้อย และราคาแพงมาก ตอนนั้นราคาทองบาทละประมาณ 4,000 บาท หนังสือวิชาการปกแข็งที่นำเข้าเล่มละ 1,200-2,000 บาท อีกทั้งหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็แทบไม่มีคนไทยเขียน หนังสือแปลไทยเป็นภาษาอังกฤษก็มีไม่กี่เล่ม สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษยิ่งมีอยู่ไม่กี่สำนักพิมพ์ แถมส่วนมากเป็นหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือหนังสือภาพ แต่ไม่มีหนังสืออ่านจริงๆ จังๆ เลย ดิฉันจึงคิดว่าน่าจะทำสำนักพิมพ์เองดีกว่า
ตอนนั้นไม่คิดว่ายากนะคะ แต่พอลงมือทำเข้าจริง กลับยากมาก โดยเฉพาะการทำหนังสือให้ดีแล้วเป็นที่ยอมรับ เพราะการทำหนังสือภาษาอังกฤษเป็นวิชาชีพเก่าแก่ ซึ่งเขามีหลักการบรรณาธิการที่เรียกว่า style sheet เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาของแต่ละประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมนี หรือฝรั่งเศส ก็มีหลักการของเขา ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
ที่มาของชื่อสำนักพิมพ์คืออะไร
ดิฉันเห็นว่าสำนักพิมพ์เมืองนอกส่วนมากถ้าไม่ใช้ชื่อเจ้าของ ก็ต้องเป็นสัตว์อะไรสักอย่าง มีคนเสนอชื่อสัตว์โน้นสัตว์นี้มาให้เลือก ที่เลือก Silkworm เพราะคิดว่าคำนี้มีความหมาย ชวนให้นึกไปถึง bookworm อีกทั้ง Silkworm หรือตัวหม่อนหนอนไหมสามารถลอกคราบออกมามีชีวิตเป็นผีเสื้อ เปรียบได้กับหนังสือ fiction-วรรณกรรม เป็นจินตนาการ แต่ถ้ามันตายก็ให้ใยไหมออกมา กลายเป็นหนังสือ non-fiction-สารคดีวิชาการ แล้วเราอยู่เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องผ้าไหม คำนี้จึงลงตัวทุกอย่าง
มีความตั้งใจทำสำนักพิมพ์ในแนวทางใด
เดิมทีตั้งใจจะพิมพ์หนังสือทั่วไป ไม่เจาะจงวิชาหรือสาขาใดเป็นพิเศษ แต่ทำไปทำมากลายเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือค่อนข้างเน้นวิชาการซะส่วนใหญ่ ก็เลยตามเลย หนังสือที่เราพิมพ์เป็นสายมนุษยศาสตร์ (humanity) ซึ่งครอบจักรวาลมาก เพราะวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ การเมือง ล้วนอยู่ในสาขานี้หมด
หนังสือของ Silkworm มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย มีวิธีการคัดเลือกหนังสือที่จะพิมพ์อย่างไร
ที่จริงมีหลักการแค่ว่าหนังสืออะไรที่เราจะไม่พิมพ์ มากกว่าอะไรที่เราจะพิมพ์ เช่น เราจะไม่พิมพ์หนังสือที่เชิดชูสงคราม หรือที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ เหยียดผิว หลายเล่มผู้เขียนเลือกเราเอง และบางเล่มก็เพราะอยากให้คนได้อ่าน
นักอ่านของ Silkworm ส่วนมากเป็นกลุ่มใด
ผู้อ่านของเราส่วนมากเป็นนักวิชาการ นักศึกษา นักวิจัย หรือคนที่สนใจเกี่ยวกับอาคเนย์ศึกษาแบบจริงจัง
การซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศนั้นมีอุปสรรคอะไรบ้าง
สมัยแรกๆ ที่ทำยังไม่มีอีเมล ต้องอาศัยจดหมายบ้าง โทรสารบ้าง ทำให้ติดต่อถึงกันได้ช้า วิธีทำงานของสำนักพิมพ์ต่างประเทศในยุคก่อนที่มีอินเตอร์เน็ตค่อนข้างโบราณ คือต้องมีการขอตัวอย่างหนังสือ กว่าจะได้ตัวอย่างมาอ่าน กว่าจะอ่านจบบางทีครึ่งปียังตกลงกันไม่ได้ อ่านสัญญาก็ต้องระวัง ขอแก้ข้อโน้นข้อนี้ แต่เดี๋ยวนี้การซื้อลิขสิทธิ์ไม่ยากแล้ว เพราะอินเตอร์เน็ตและอีเมลช่วยย่นเวลาไปมาก
สิ่งที่ยากที่สุดของการทำหนังสือภาษาต่างประเทศคืออะไร
คงต้องแยกเป็นเรื่องๆ เรื่องแรกคือ การบรรณาธิการกิจและการเตรียมต้นฉบับ วัฒนธรรมการพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษนั้นมีมานาน ดังนั้นธรรมเนียมปฏิบัติจึงเยอะ มีคู่มือที่เรียกว่าสไตล์ของแต่ละสำนัก Silkworm ทำตาม Chicago Manual of Style เพราะตลาดต่างประเทศของเราอยู่ที่สหรัฐอเมริกา คนทำบรรณาธิการกิจต้นฉบับ (copy-editing) ต้องแม่นรูปแบบพวกนี้มาก และมีข้อห้ามเยอะ ห้ามเยิ่นเย้อ ต้องเสมอต้นเสมอปลาย ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน พอทำไปทำมาก็เริ่มชิน แต่เราให้เจ้าของภาษาทำดีกว่า
ความยากอีกเรื่อง จึงเป็นการต้องจ้างแรงงานต่างชาติ กรมตรวจคนเข้าเมืองมีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย เช่น จะจ้างฝรั่งหนึ่งคนต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท และพนักงานไทยสี่คน ถ้าจะจ้างฝรั่งคนที่สอง ก็ต้องเป็นเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 ล้านบาท และจ้างคนไทยเพิ่มอีกสี่คน อีกทั้งฝรั่งแต่ละชาติก็มีเงินเดือนขั้นต่ำที่ ตม. (กองตรวจคนเข้าเมือง) บังคับไม่เท่ากัน มีเอกสารที่เจ้าของกิจการจะต้องเซ็นสองชุด ชุดหนึ่งหนาประมาณหนึ่งนิ้ว ใช้เวลา 20 นาทีกว่าจะเซ็นหมดปึก
อีกเรื่องคือการทำตลาด เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ร้านหนังสือภาษาต่างประเทศในไทยไม่ค่อยเชื่อฝีมือคนไทยด้วยกัน แถมสำนักพิมพ์ของเรายังอยู่บ้านนอกอีกต่างหาก ส่วนร้านหนังสือภาษาไทย ก็ไม่มีลูกค้าต่างชาติเข้า เอาไปวางขายก็เท่านั้น ใช้เวลาเกือบ 2 ปีก่อนที่เขาจะยอมวางขายให้ แต่ถ้าจะพูดอย่างเป็นธรรม ช่วงแรกๆ หนังสือของเราก็ดูไม่ค่อยได้มาตรฐานถ้าเทียบกับหนังสือนำเข้า ส่วนการส่งออกไปขายต่างประเทศนั้นโหดมาก ยุคนั้นยังไม่มี amazon.com ก็ขอเล่าสั้นๆ ว่า ทีแรกเราได้บริษัทจัดจำหน่ายที่อังกฤษ เพิ่งเริ่มไปได้ไม่กี่ปีก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540) ค่าเงินบาทตกลงทุกวัน แต่เรายังต้องจ่ายค่าโกดังเก็บหนังสือ เลยบอกให้เขาโยนหนังสือทิ้งเถอะ ไม่ต้องเก็บไว้หรอก ต่อจากนั้นอีก 2 ปี มีสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยในอเมริกา (University of Washington Press) มาติดต่อ เขาบอกว่าเขาดูพัฒนาการของเรามานานแล้ว และหนังสือของ Silkworm มีอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาอยากใช้เป็นหนังสือเรียน Silkworm สนใจให้เขาจัดจำหน่ายให้ไหม โอ๊ย! สนสิคะ ทำไมจะไม่สน นี่แหละค่ะจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ว่า ตลาดหนังสือในอเมริกาเป็นยังไง ที่นั่นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย พอเข้าไปอยู่ในระบบแล้วทุกอย่างก็สะดวก แต่เขาจ่ายเงินแค่ปีละ 2 ครั้งนะคะ ค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง door-to-door สำนักพิมพ์ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบหมด และส่วนลดการค้าก็สูง เราต้องอึดกันหน่อย ตอนนี้เราก็ต้องกลับไปเน้นที่การผลิต รักษาคุณภาพไม่ให้เสียชื่อ
คนอ่านสามารถเจอหนังสือของ silkworm ได้ที่ไหนบ้าง
หนังสือภาษาอังกฤษอยู่ในร้านที่ขายหนังสือภาษาอังกฤษค่ะ เช่น Asia Books คิโนะคุนิยะ ศูนย์หนังสือจุฬา สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ Book Smith ส่วนภาษาไทยบางเล่มมีวางในร้านทั่วไป ช่องทางออนไลน์มีทั้งเฟซบุ๊ก Silkworm books และเว็บไซต์ www.silkwormbooks.com
จุดแข็งของสำนักพิมพ์คืออะไร
การบรรณาธิการกิจหนังสือภาษาอังกฤษ เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษาในต่างประเทศ หนังสือของเรามีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศจริง
Silkworm ยืดหยัดในวงการหนังสือมานานกว่า 30 ปี เจอปัญหาอะไรบ้างไหมที่รู้สึกว่าหนักที่สุด แล้วผ่านมาได้อย่างไร
ปัญหาตลอดกาล ที่ยังแก้ไม่ได้ คือการตลาดและการจัดจำหน่ายหนังสือภาษาอังกฤษในประเทศ หนังสือวิชาการภาษาอังกฤษเป็น niche ของ niche (หนังสือสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีจำนวนน้อยมาก) ในประเทศนี้
การยืนหยัดในวงการหนังสือได้นานขนาดนี้ ต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง
ใจรัก อึด ไม่คิดเก็งกำไร ต้องรู้ว่าหนังสือมีน้ำหนัก ต้องมีที่เก็บ ซึ่งฉีดกันปลวก กันรั่ว และแดดไม่ส่อง อย่าละเลยเรื่องบัญชี อย่าดองค่าลิขสิทธิ์
คุณตรัสวินมองตลาดหนังสือปัจจุบันนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไร และต่อจากนี้ตลาดหนังสือจะดำเนินไปในทิศทางไหน
ตลาดหนังสือไทยในปัจจุบันถดถอยลงมาก ก่อนโควิด-19 ระบาด ตลาดก็หดตัวอยู่แล้ว ถ้ามองย้อนกลับไป ตลาดหนังสือไทยโตตามธรรมชาติ เศรษฐกิจโตหนังสือก็โตตาม ไม่เคยมีการวางรากฐานให้มั่นคงทั้งในส่วนธุรกิจและรัฐ น่าเสียดายที่เราไม่เคยเก็บสถิติว่า ตลาดหนังสือมียอดขายจริงๆ เท่าไหร่ เรามีแต่ตัวเลขคร่าวๆ พอไม่มีข้อมูล การวิเคราะห์เพื่อวางนโยบายก็ลำบาก ส่วนรัฐบาลไทยเคยมีนโยบายเกี่ยวกับหนังสืออยู่ไม่กี่เรื่อง รักสุดให้นโยบายนิติบุคคลบริจาคหนังสือลดหย่อนภาษีได้ 200% แล้วก็มีช่วงทศวรรษแห่งการอ่าน ที่จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็ไม่มีการสานต่อ จนกระทั่งปีที่แล้วให้บุคคลใช้ใบเสร็จซื้อหนังสือลดหย่อนภาษีได้ แต่มันก็เป็นนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง
สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เนื่องจากรอบบัญชีการจ่ายเงินของหนังสือช้ากว่ารอบบัญชีธุรกิจอื่น ตอนนั้นเศรษฐกิจฟื้นเร็ว ธุรกิจหนังสือจึงยังไม่ทันยุบ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยซบเซายาวนาน หนังสือก็เลยโดนผลกระทบไปด้วย ร้านหนังสือต่างจังหวัดลำพังส่วนลดที่ได้รับต่ำไปหน่อย ถ้าไม่ขายแบบเรียนที่ต้องมีเงินหมุนจากการขายหนังสือพิมพ์และวารสาร พอเจอ Digital disruption เข้า นิตยสารวารสารหนังสือพิมพ์รายวันปิดตัวลงกว่าครึ่ง เงินก็ไม่สะพัด ต้องขายอย่างอื่นเสริม ร้านหนังสือเครือข่ายก็ลำบากเพราะมีค่าเช่า ก่อนที่จะมี Digital disruption นิตยสารเป็นแหล่งรายได้ประจำนักเขียน เปิดโอกาสเปิดเวทีให้นักเขียนใหม่เป็นที่รู้จัก เรื่องที่พิมพ์ต่อเนื่องจบไปพิมพ์รวมเล่มกับสำนักพิมพ์ไหนแฟนนักอ่านก็พลอยรู้จักสำนักพิมพ์นั้นไปด้วย สำนักพิมพ์ก็มีโอกาสขายหนังสืออื่น มันเป็นวิน-วิน
นอกจากนี้สำนักพิมพ์เองก็ต้องการเงินสด ก็ออกบูธขายหนังสือในงานหนังสือซึ่งสมาคมผู้พิมพ์และผู้จำหน่ายแห่งประเทศไทยจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ขายเองก่อนแล้วถึงส่งหนังสือให้ร้านค้า หนังสือต่างจังหวัดซึ่งเป็นร้านอิสระมีจำนวนลดลง การวางจำหน่ายทั่วประเทศก็ต้องพึ่งร้านที่เป็นเครือข่าย สำนักพิมพ์ก็ต้องพิมพ์หนังสือในปริมาณที่บริษัทจัดจำหน่ายกำหนดจะได้วางพอและเติมสต๊อกได้ เงินก็จม ขายไม่ได้สต๊อกก็บวม ปีที่แล้วจะเห็นได้ว่ามีการเปิดโกดังเลหลังกันเยอะ โดนเหมาราคาต่ำกว่าทุนหรือเท่าราคาค่าพิมพ์ เอาไปขาย 3 เล่ม 100 4 เล่ม 100 ก็มี พอเจอ โควิด-19 ร้านหนังสือถูกปิด งานหนังสือก็จัดไม่ได้ ลำบากมากเหมือนกัน
ช่วงที่ amazon.com ขายอีบุ๊คใหม่ๆ ตอนนั้นทุกคนคิดว่าหนังสือเล่มคงอยู่อีกไม่นาน หลังจากนั้นสัก 2 ปี amazon.com พิมพ์ backlist ของเกือบทุกสำนักพิมพ์ใหญ่ไปหมดแล้ว ก็หันมาเล่นหนังสือใหม่ ติดต่อกับนักเขียนโดยตรง โดยตั้งใจว่าจะเขี่ยสำนักพิมพ์ทิ้งไปหมด จึงเกิดปรากฏการณ์ย้อนเกล็ด นักเขียนไม่พอใจที่ค่าลิขสิทธิ์ลดลงและถูกบังคับให้ทำงานแทนสำนักพิมพ์ทุกอย่าง amazon.com แค่ขายอย่างเดียว นักเขียนทั้งหลายก็เลยหันกลับไปทำงานกับสำนักพิมพ์ตามเดิม amazon.com ก็ต้องกดยอดไว้ไม่ให้ขยายมากไปกว่านั้น เพราะแรงต้านจากนักเขียนมันมาก แล้วเขาก็ขายทั้ง e ทั้ง p ไม่ได้เดือดร้อนอะไร หลังจากนั้นไม่นานที่สหรัฐก็มีคนเปิดร้านหนังสืออิสระเยอะขึ้น amazon.com เองก็เปิดร้านหนังสือ หลายคนจึงพูดว่าหนังสือเล่มไม่มีวันตาย ebook ก็คงไม่ไปไหนแล้วจริงๆ ของมัน co-exist ต้องอยู่ร่วมกัน นักเขียน-ร้านหนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
โควิด-19 นี่ที่อเมริกายอดขายอีบุ๊คซึ่งทรงตัวช่วง 2013-18 สูงขึ้น การขายออนไลน์ของร้านหนังสืออิสระ เพิ่มขึ้น (ร้านหนังสือที่อเมริกาไม่ปิดนะคะ) วงการหนังสือไทยก็ต้องต้องปรับชีวทัศน์-โลกทัศน์ใหม่หมด ที่ผ่านมาสมาคมผู้พิมพ์ทดลองจัดออนไลน์ book fair ในความเป็นจริงมันไม่มีทางมาแทนที่การออกร้านในงานสัปดาห์หนังสือได้ แต่เป็นการปรับตัวเข้าสู่การขายออนไลน์และอีบุ๊ค การฝากขายที่ทำกันมาอาจจะต้องเลิก แต่ถ้าจะเป็นขายขาดก็ต้องให้ส่วนลดร้านมากขึ้น อันนี้ก็จะไปกระทบกับโครงสร้างราคาขายปลีก คนเขียนก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น แต่คนซื้อคงไม่ค่อยชอบ เรื่องราคาหนังสือเป็นอะไรที่คล้ายๆราคาข้าวกับไข่ไก่ ถ้าราคาขึ้นก็เสียความรู้สึก
สำนักพิมพ์ธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานมาก แล้วก็ยังต้องใช้คน เฉพาะการเตรียมต้นฉบับก็ต้องมีผู้เขียน ผู้วาดภาพประกอบ ต้องมีบรรณาธิการ คนนอกวงการไม่ทราบว่าบรรณาธิการสำคัญแค่ไหน นักเขียนใหญ่ดังๆ อย่างเช่น Jeffrey Archer มีบรรณาธิการประจำตัว 5-6 คน คนทำรูปเล่ม แต่ตั้งแต่มี desktop publisher app ตรงนี้ก็ลดไป ในกรณีหนังสือกระดาษ มีโรงพิมพ์ มีคลังสินค้า มีร้านหนังสือ มีการขนส่ง ถ้าเป็น e-book ก็เปลี่ยนเป็น e-vendor ค่าใช้จ่ายขนส่งไม่มี ถ้าให้คาดการณ์ในห่วงโซ่อุปทานหนังสือไทย ที่จะหายไปในอนาคต หากโครงสร้างส่วนลดแก่ร้านหนังสือปรับเพิ่ม คือบริษัทจัดจำหน่าย
ยามนี้ข้าวปลามาก่อน แต่ก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ท้ายที่สุดเมื่อท้องอิ่มเราก็ต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ หนังสือจึงเป็นของจำเป็น ถ้าต้องการให้เด็กโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ สมองพัฒนา executive function (ทักษะด้านการคิดเชิงบริหาร) แข็งแรง พัฒนาสติปัญญาและภูมิต้านทานอุปสรรค มีวิธีคิดเชิงวิพากษ์ มีศักยภาพในการแข่งขันได้ ก็เพราะพ่อแม่ผู้ใหญ่เลี้ยงลูกด้วยหนังสือ อ่านหนังสือเล่านิทานให้ฟัง หัดให้เด็กอ่านหนังสือ ส่วนผู้ใหญ่ที่หยุดอ่านหนังสือ สมองจะค่อยๆ สูญเสียความคมชัดและสมาธิลดลง การอ่านหนังสือที่ว่านี้ไม่นับอ่านจดหมาย อ่านใบสั่ง อ่านหมายศาล อ่านอีเมล อ่านข้อความที่ส่งต่อๆ กันมาทางไลน์ ต้องอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ติดต่อกัน 20 นาทีทุกวันนะคะ แล้วการอ่านหนังสือพิมพ์บนกระดาษช่วยกระตุ้นสมองมากกว่าอ่านบนจอ เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับมากมาย เพราะฉะนั้นสำนักพิมพ์ก็ยังมีบทบาทที่จะผลิตหนังสือ และร้านหนังสือก็ยังเป็นแหล่งกระจายและเผยแพร่หนังสือให้ดีที่สุด ห้องสมุดก็เป็นความจำเป็นของชุมชน ที่จีน ไต้หวัน เวียดนาม เกาหลี รัฐบาลมีงบอุดหนุนร้านหนังสือ ไม่อุดหนุนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าอยากให้ประชาชนมีคุณภาพก็ต้องไม่ละเลยส่วนนี้
Silkworm วางแผนอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
niche ของ niche นี่มันขยายยากนะคะ หนังสือวิชาการก็มีข้อจำกัดเยอะ แต่กำลังร่วมมือกับสำนักพิมพ์และร้านหนังสือออนไลน์ที่สิงคโปร์ คือใช้ความคล่องตัวของสิงคโปร์ขยายไปยังตลาดอื่นค่ะ
3 เล่มที่ Silkworm อยากแนะนำ
- หมาป่า โดย เจียง หลง
นิยายจีนที่เขียนจากประสบการณ์จริงอันน่าตื่นตาตื่นใจ ของนักศึกษายุคเรดการ์ด ซึ่งออกไปสัมผัสมองโกเลียใน เป็นหนังสือที่วางไม่ลง เพราะให้มุมมองชีวิต วิธีคิด และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความเจริญนั้น ส่งผลที่ไม่ควรเกิดกับชนบทและการดำรงชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร
- บอมเบย์แอนนา โดย ซูซาน มอร์แกน
ประวัติแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ซึ่งคนไทยรู้จักจากละครเพลง The King and I ตัวจริงเป็นผู้หญิงที่น่าทึ่งมาก และมีส่วนช่วนหันเหทัศนคติซึ่งชาติตะวันตกมีต่อไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากลบให้เป็นบวก
- คุยกับลูกสาวเรื่องเศรษฐกิจ โดย ยานิส วารูฟากิส
หนังสือที่อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ พร้อมให้ข้อคิดมากมายเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน