ความหวังของตลาดหุ้นไทยในระยะยาว

-

ตลาดหุ้นไทยออกข้าง (sideways) มายาวนาน

ตั้งแต่ผมเข้าตลาดหุ้นเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ตลาดหุ้นไทยก็อยู่แถว 1,500 จุด จนถึงวันนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ยังวนอยู่แถว 1,500 จุด นับเป็นความสัมพันธ์ที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึง จะลงก็ไม่ลง จะขึ้นก็ไม่ขึ้น ออกข้างไปเรื่อย ๆ ไม่มีทิศทาง

เมื่อมาย้อนดูภาพเศรษฐกิจจะเข้าใจว่าทำไมตลาดหุ้นไทยถึงไม่ไปไหน ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ต่างจากยุคก่อนที่ประเทศไทยมีรายได้มากจากการส่งออกเนื่องด้วยการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม 

ในอดีต ไทยเคยเป็นประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีการเจรจาเขตเศรษฐกิจการค้า ประเทศไทยในสมัยก่อนจึงเคยเป็นฐานการผลิตสินค้าเชิงอุตสาหกรรมให้หลายบริษัทต่างชาติ

ในปัจจุบัน ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีค่าแรงอยู่ในระดับที่น่าสนใจแล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม บริษัทจำนวนมากจึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น บางบริษัทอาจไม่ได้ย้ายแต่ก็ไม่ขยายเพิ่มแล้ว เมื่อต้องการจะขยายก็เปลี่ยนไปตั้งฐานในประเทศอื่นแทน

เมื่อกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศเติบโตมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก ปริมาณเงินไหลเวียนในระบบย่อมขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่ทำโดยคนไทยและใช้โดยคนไทยเป็นหลัก เช่น ธนาคาร สื่อสาร ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค

การเติบโตของตลาดหุ้นจึงสัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ บริษัทขนาดใหญ่จึงมักไม่สามารถเติบโตได้อย่างหวือหวา เพราะประชากรมีอยู่จำกัด การจับจ่ายใช้สอยก็เพิ่มตามการเติบโตของเงินเฟ้อเป็นหลัก

ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตได้มากหากประเทศไทยมีภาคการส่งออกที่สามารถแข่งขันได้ในระดับตลาดโลก เหมือนที่หลายประเทศมีบริษัทผู้ชนะของประเทศตนเอง เช่น Apple Samsung Facebook Toyota Uniqlo Hermes Amazon Alibaba

หากเปรียบเทียบภาคส่งออกของไทย อุตสาหกรรมที่ดูจะโดดเด่นคงหนีไม่พ้นภาคท่องเที่ยว (ภาคท่องเที่ยวถือเป็นเป็นภาคส่งออกในระบบเศรษฐกิจ) หากประเทศไทยสามารถพัฒนาจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกได้ สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนในเชิงท่องเที่ยวที่จูงใจให้คนมาเที่ยวได้ถึงแม้ว่าค่าครองชีพจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ นี่ก็น่าจะเป็นภาพอนาคตที่ดีของเศรษฐกิจไทย

เรายังต้องการภาคเอกชนที่เป็นผู้ชนะระดับโลกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดออกจากกรอบการบริโภคภายในประเทศไปกินตลาดโลกแทน หากความต้องการนี้เกิดขึ้นได้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินไปเลย

นักลงทุนมักถามผมเสมอว่ายังมีความหวังกับตลาดหุ้นไทยอยู่ไหม

และผมมักตอบกลับไปว่าหากเป็นในสภาวะปัจจุบัน ผมจะขอเลือกใช้กลยุทธ์เลือกซื้อ (selective buy) หรือหากจะถอดความคิดง่าย ๆ คือ ผมยังมองว่าตลาดหุ้นไทยโดยภาพรวมไม่ได้น่าสนใจในระยะยาวมากนัก แต่สำหรับหุ้นรายตัว ผมเชื่อเสมอว่ายังมีบริษัทที่สร้างผลกำไรดี รายได้และกำไรสุทธิเติบโตแตกต่างกันในแต่ละช่วงภาวะเศรษฐกิจ

เมื่อเลือกจะเป็นนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่ต้องสนใจมากคือภาพโครงสร้างใหญ่ของประเทศ และสิ่งที่จะกำหนดภาพมหภาคได้ก็หนีไม่พ้นรัฐบาล หากถามผมว่านโยบายเศรษฐกิจแบบใดจะช่วยกระตุ้นและสร้างการเติบโตให้แก่ประเทศในระยะยาวได้มากที่สุด ผมจะเลือกตอบว่าการกระจายความเจริญออกไปสู่ส่วนภูมิภาค

ในปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้ของคนกรุงเทพสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนไทยประมาณเกือบ 2 เท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนจากจังหวัดที่มีรายได้ต่ำสุดเกือบ 3 เท่า ความเจริญส่วนมากยังกระจุกกันอยู่ที่เมืองหลวง หากเทียบความเป็นเมืองแล้ว กรุงเทพยังล้ำหน้ากว่าเมืองรองอย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ตอยู่พอสมควร

นโยบายที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบ ตั้งแต่ถนน ทางด่วน สนามบิน รถไฟ จนถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ลองจินตนาการว่าหากคนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ได้ภายในเวลาสองชั่วโมง อาจมีผู้คนจำนวนหนึ่งเลือกสร้างบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก แทนที่จะมาอยู่ในกรุงเทพ ภาคเอกชนเองก็จะเห็นโอกาสและไปลงทุนในจังหวัดรองตามการเคลื่อนย้ายของผู้คน

ถ้าจังหวัดรองในประเทศไทยเจริญโดยไม่ได้ตามหลังจังหวัดหลักมาก เหมือนญี่ปุ่นที่มีทั้งโตเกียว โอซากา ฮอกไกโด ฟุกุโอกะ ค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรในประเทศก็จะกระจายกันไปในอัตราใกล้เคียงมากขึ้น ช่องว่างของรายได้ระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นก็จะลดลง

หากการเติบโตของรายได้ประชากรของภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยรายได้ประชากรกรุงเทพในปัจจุบัน เท่านี้ขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยก็จะโตเกือบสองเท่าแล้ว และเราก็ไม่จำเป็นต้องขยายตลาดไปยังประเทศอื่น เพียงแต่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ แต่ขยายความเจริญออกไปจากเมืองหลวงเท่านั้นเอง

ผมจึงให้น้ำหนักแก่โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะต้นทุนการเดินทางต่อกิโลเมตรต่ำกว่าวิธีอื่น ผมเฝ้าติดตามโครงการเหล่านี้อยู่เสมอ และเชื่อว่าเมื่อประเทศไทยพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้ได้ ภาพรวมการเติบโตของตลาดหุ้นไทยในอนาคตก็จะกลับมาน่าสนใจมากอีกครั้ง


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน

เรื่อง: “ลงทุนศาสตร์”

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!