เรื่องมุมมองต่อชีวิตนั้นมีหลากหลายทั้งด้านบวกและด้านลบ แล้วแต่สติปัญญา ค่านิยม รสนิยม รวมทั้งประสบการณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งย่อมสอดคล้องหรือแตกต่างกันไป มีการใช้บางสำนวนซึ่งชวนคิดทั้งในด้านความเปรียบ และแนวคิดในทางตรงกันข้าม โดยทุกสำนวนใช้สื่อความหมายในด้านลบคล้ายๆ กัน เช่น สำนวน “สีซอให้ควายฟัง” “ไก่ได้พลอย” “ลิงได้แก้ว” เป็นต้น
สีซอให้ควายฟัง
คนเลี้ยงควายที่มีดนตรีในหัวใจนั้น ขณะนั่งพักหลังจากพาควายออกไปเลี้ยงในทุ่งนา ก็จะเอาเครื่องดนตรีที่ติดตัวมาด้วย เช่น ขลุ่ย ซอ ฯลฯ เป่าหรือสีขณะรอควายเล็มหญ้า แม้จะมีเสียงซอดังไปทั่วบริเวณ แต่ควายก็ไม่ได้สนใจหยุดฟัง คงหากินของมันไปตามปกติ
ได้มีคนนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้เป็นสำนวน “สีซอให้ควายฟัง” ให้เปรียบเหมือนกับคนด้อยปัญญาหรือประพฤติตนไม่ดี ที่แม้จะมีผู้รู้ผู้หวังดีมาตักเตือนสั่งสอนให้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่กลับไม่ได้ผลอะไรเลย คนนั้นก็ยังคงทำผิดทำชั่วต่อไป เช่น พ่อดุด่าลูกชายวัยรุ่นอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธ เมื่อรู้ว่าชอบออกไปรวมกลุ่มกับเพื่อนนักเลงทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านว่า “พ่อบอกกี่ครั้งกี่หนแล้วว่าอย่าไปมั่วสุมกับพวกเจ้าเก่ง เตือนแล้วสอนแล้วก็ไม่ฟัง เหมือนสีซอให้ควายฟัง คอยดูนะถ้ามีเรื่องมีราวต้องคดีอีกครั้งจะไม่ไปชายตาแลแกเลย”
ไก่ได้พลอย
ในที่นี้นำนิทานเรื่อง “ไก่กับพลอย” มาจากนิทานอีสปฉบับพระยาเมธาธิบดีครั้งยังเป็นพระจรัสชวนะพันธ์ (สาตร์ สุทธิเสถียร) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลอยเป็นอัญมณีอันมีค่า มนุษย์จึงแสวงหามาทำเป็นเครื่องประดับ เพชรพลอยแต่ละเม็ดจึงมีความหมายยิ่งสำหรับมนุษย์ ส่วนอาหารของไก่คือข้าวเปลือก ปลายข้าว ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ ดังนั้นเมื่อไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินตามธรรมชาติแล้วได้พบพลอย ไก่จึงพูดกับพลอยว่า “ถ้าเจ้าของเขามาพบเข้ามิใช่เราพบ เขาก็จะเอาท่านไป แล้วฝังท่านลงไว้ในที่ของท่านที่เคยอยู่แต่ก่อน แต่เราพบท่านไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราได้ข้าวสักเม็ดเดียวก็จะดีกว่าพลอยหมดทั้งโลก” ผู้เรียบเรียงได้สรุปไว้หลังจากนิทานจบลงเพื่อเป็นคติสอนใจว่า “ผู้ไม่อยากดี ถึงพบการที่ดี ไม่มีใจอยากได้”
สำนวน “ไก่กับพลอย” นั้น คนส่วนมากมักพูดว่า “ไก่ได้พลอย” ใช้สื่อความหมายในด้านลบ ตำหนิคนไม่ฉลาดที่ได้ของดีแล้วไม่เห็นค่า เช่นตอนหนึ่งแม่พูดกับลูกชายที่แต่งงานกับหญิงสาวที่ทั้งสวยทั้งดี แต่เขากลับไม่เอาใจใส่ดูแลให้เธอมีความสุขในการครองคู่ ยังคงเที่ยวเตร่จนดึกดื่นแทบทุกวันว่า “ลูกต้องปรับปรุงตัว จะทำเป็นหนุ่มโสดเหมือนก่อนไม่ได้แล้ว เห็นใจเมียที่แสนดีบ้าง นี่แหละเป็นอย่างที่โบราณเขาพูดกันว่าไก่ได้พลอย”
ลิงได้แก้ว
ตามธรรมชาติ “ลิง” เป็นสัตว์กินผักและผลไม้ เช่น ลูกหว้า กล้วย ฯลฯ แต่ก็มีบ้างบางชนิดที่กินแมลง ส่วน “แก้ว” เป็นอัญมณีมีค่า เมื่อนำไปเจียรนัยแล้วก็จะนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่งดงาม
มีผู้ใช้ “ลิงได้แก้ว” เป็นสำนวนเปรียบมาตั้งแต่สมัยโบราณ บางคนใช้ว่า “วานรได้แก้ว” ก็มี สำนวนนี้ใช้เปรียบกับคนที่ไม่ฉลาดว่า เมื่อได้สิ่งดีสิ่งงามมาแล้วกลับไม่เห็นค่า เหมือนลิงได้แก้วมณีแล้วขว้างทิ้งไป เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์และไม่มีค่าเหมือนกล้วยหรือลูกไม้ที่มันกินแล้วอิ่มท้องมีความสุข มันคงรู้ว่าถ้าโง่กินแก้วเข้าไปมันคงจะได้รับความทุกข์ เช่น พงศ์พูดกับณพว่า “เอ็งนี่แปลกเหมือนลิงได้แก้ว ข้าได้ข่าวว่าหย่ากับนงที่ทั้งดี เก่ง และสวย แล้วไปอยู่กับแม่สาวที่เขาลือกันว่าหล่อนเจ้าชู้นักหนา แถมแกยังเอามาเป็นเมียออกหน้าออกตา วันหลังจะเสียใจ นี่เพราะรักเพื่อนหรอกนะถึงได้เตือน”
จากสามสำนวนเปรียบข้างต้นนี้น่าจะเกิดจากแง่คิดมุมมองของมนุษย์ที่ยึดวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยม และความคิดของตนเป็นบรรทัดฐาน แต่ถ้ามองในมุมที่แตกต่าง จะเห็นว่าทั้งควาย ไก่ และลิงต่างก็มีสติปัญญาตามธรรมชาติ มันรู้ดีรู้ชั่วตามประสาสัตว์เดรัจฉานที่ต้องการดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ตัวมัน ดังนั้นการเอาพฤติกรรมด้านบวกของมันมาเปรียบตำหนิกับพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งน่าจะสามารถรู้ได้ว่าอะไรเหมาะควรในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าสัตว์ก็ไม่ได้โง่อย่างที่คิด
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์