หนังสืออีกประเภทที่เราอยากแนะนำ จากงานประกวดหนังสือดีเด่น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่16 ประจำปี 2562 คือประเภท “เรื่องสั้น” สำหรับกลุ่มนี้มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 7 ผลงาน จาก 7 นักเขียน ล้วนน่าสนใจจนไม่อยากให้พลาดสักเล่มเลย ก่อนจะรู้ว่าผลงานใดที่ได้รางวัลชนะเลิศ ขอชวนมาทำความรู้จักเรื่องสั้นทั้งเจ็ดเล่มผ่านการแนะนำจากเจ้าของผลงานกัน

 

          

ดอก รัก

ประพันธ์โดย “ตินกานต์”

ถ้าคุณอยากเข้าใจผู้หญิง!! 10 เรื่องราวแห่งความรักของสตรีผู้มีนามเป็นดอกไม้ สะท้อนอารมณ์และความฝันใฝ่ในหัวใจผู้หญิง ความรัก ความแค้น ความใคร่ ความเดียวดายไร้ที่มา… ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าความใด ทุกอารมณ์อันซับซ้อน ละเอียดอ่อน รุนแรง แน่นหนัก และละมุนละไม ทั้งหมดนั่นคือเธอ คือผู้หญิง คือดอกไม้ ดื่มกินแสงแดดเจิดจ้าและราตรีอันลี้ลับ

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้
ดอก รัก เป็นงาน fiction เล่มแรกของเราค่ะ ด้วยอาชีพ เราทำงานเกี่ยวข้องการการเขียนมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยเขียนเรื่องสั้นรวมออกมาเป็นเล่มเลย พอทำงานเขียนคอนเทนต์มาถึงจุดหนึ่ง จึงรู้สึกอยากออกจากพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคย มาสู่เรื่องแต่งที่ใช้จิตนาการได้เต็มที่ดูบ้าง และส่วนตัวแล้ว เราชอบอ่านงานเขียนที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย ซึ่งงาน non-fiction อาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถประดิดประดอยคำหรือรูปประโยคได้มากนัก การเขียนเรื่องสั้นจึงเหมือนโอกาสที่ให้เราได้เข้าไปสำรวจคลังคำของตัวเอง ได้ฝึกใช้คำ ผูกร้อยคำ ซึ่งสนุกมาก แต่ก็พบว่าเรายังอ่อนทางนี้อยู่ งานชิ้นนี้จึงเป็นสนามให้เราได้พัฒนาการเขียนของตัวเอง อีกอย่างที่สนุกคือการได้ใช้สถานที่ที่มีอยู่จริงมาเป็นโลเกชั่นในเรื่อง คนอ่านที่เคยไปในที่ที่ปรากฏในเรื่อง เขาอ่านแล้วจะนึกภาพออกเป็นฉากๆ ได้เลย เช่น บ้านแพลอยน้ำ ธารน้ำที่มีผีเสื้อบินว่อน หรือบาร์ที่เล่นเพลงบลูส์

แต่อันที่จริง การเขียนหนังสือเล่มนี้ เราไม่ได้ร่างหรือวางแผนอะไรมาก เพียงความรู้สึกอยากเขียนที่พุ่งพล่านขึ้นมา แล้วเมื่อสบจังหวะเหมาะ ในวันที่เราไม่มีงานเลี้ยงท้องอื่นในมือ เราก็เริ่มเขียนเรื่องแรก พอจบเรื่องแรก เรื่องที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็ตามมา เหมือนฟ้าอุ้มฝนมานานอะไรอย่างนั้นเลย  คือเขียนพรวดๆ ออกมาเลยสี่เรื่อง

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้
เราชอบดอกไม้ค่ะ ชอบในความสวยงาม ความหมาย เรื่องราวที่ดอกไม้ดอกนั้นๆ เกี่ยวโยงถึง  และเราชอบเรื่องราวความรัก ชอบเฝ้ามองความสัมพันธ์ โลกใบนี้ไม่มีความรักและความสัมพันธ์ไหนที่เหมือนหรือทับซ้อนกันเป๊ะๆ ได้เลย ต่อให้เป็นรูปแบบใหญ่ๆ เดียวกัน แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียด เราล้วนมีความรักและความสัมพันธ์ในแบบของเราเอง ซึ่งมันมหัศจรรย์และลึกลับสำหรับเรามากๆ เราจึงเอาความรักและดอกไม้มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพราะดอกไม้สามารถเป็นสัญลักษณ์ของหลายๆ ความรู้สึกได้เช่นกัน ตัวละครเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงทั้งหมด และตั้งชื่อทุกตัวละครเป็นชื่อดอกไม้

บางดอก เราดึงคุณสมบัติออกมาแล้วแตกเป็นเรื่องราว เช่นเฟื่องฟ้าเป็นดอกไม้ที่ชอบแดด สะพรั่งในหน้าร้อน เราก็สร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นในฤดูร้อน บางดอกก็สร้างเรื่องให้ตรงข้ามกับภาพจำของคน เช่น  บัว เรารู้สึกว่าบัวเป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความดีความงาม แต่ในชีวิตจริง ผู้หญิงที่ชื่อบัว ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเธอจะสวยงาม หรือโบตั๋น ที่ในโบราณกาลเป็นดอกไม้ที่สูงส่งของคนจีน มีแต่จักรพรรดิเท่านั้นที่ชื่นชมได้ แต่ก็ใช่ว่าชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อโบตั๋นจะสูงส่งเช่นนั้น บางเรื่อง ชื่อดอกไม้ก็ไม่เกี่ยวกับอะไรกับเรื่อง แต่ก็เป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ใช้เล่า คนอ่านจึงรู้แค่ว่าเธอคนนี้มีชื่ออะไร พบกับเรื่องราวความรักแบบไหน เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะเอาดอกไม้มาเป็นเรื่องหลักจนเหมือนยัดเยียด

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านพบกับเรื่องราวความรักในรูปแบบไหน

ต่อให้ ดอก รัก เป็นเรื่องความรักและมีดอกไม้เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มันไม่ได้หวานหยดย้อยค่ะ ออกจะดาร์กด้วยซ้ำ ในความสัมพันธ์มีคนที่มีความสุขได้ 100% รึเปล่า ไม่มี กับบางคนทุกข์ในรักมากกว่าสุขเสียอีก แล้วเหมือนจะเป็นคนกลุ่มมากเสียด้วย เราเชื่อว่าความสุขความทุกข์ระคนอยู่ในความรัก อย่างไหนมากน้อยหรือเสมอกัน ก็แล้วแต่คู่ แล้วแต่คน ซึ่งความรักในเล่มนี้เป็นรักที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจไม่ใช่ในลักษณะสถานการณ์เดียวกับในเรื่อง แต่เป็นในแง่ความรู้สึก คุณอาจวูบขึ้นมาว่าครั้งหนึ่งก็เคยรู้สึกแบบนั้น เคยรักอย่างนั้น เคยหวังอย่างนั้น เคยใจสลายเช่นนั้น เคยแอบรักอย่างที่เฟื่องฟ้าแอบรัก เคยคับแค้นอย่างที่บัวคับแค้น เคยใฝ่ฝันอย่างที่โบตั๋นใฝ่ฝัน

หากตัดสถานการณ์ต่างๆ ในเรื่องออกไป ความรักและความสัมพันธ์ใน ดอก รัก คือความสามัญมากๆ แต่อย่างที่บอก ความรู้สึกต่างๆ นานาที่ขมวดรวมเป็นคำว่ารัก เอาแค่รู้สึกคิดถึงใครสักคน มันก็ดูสลักสำคัญ มีอำนาจ มีอิทธิพลกับชีวิตแล้ว เราเองอาจไม่เข้าใจความรักได้ในทุกแง่มุม แต่ทุกเรื่องที่เขียนถึง อย่างน้อยเราก็ต้องเคยเข้าไปสัมผัส ทั้งจากประสบการณ์ตรง ทั้งจากคนรอบข้างที่เรามีโอกาสเข้าไปรับรู้แล้วรู้สึกกระทบใจ

มี message ที่อย่างส่งถึงคนอ่านหรือสังคมผ่านงานชิ้นนี้หรือไม่

ตัวเราเอง เวลาอ่านงานเขียนที่ตัวละครทำเรื่องผิดพลาด แล้วคนเขียนเล่าถึงที่มาที่ไปของการกระทำนั้นๆ จนเราเข้าใจ เราจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครขึ้นมาทันที คงเคยมีสักครั้งที่เราเผลอเข้าไปตัดสินความสัมพันธ์ของคนอื่นใช่ไหมคะ ซึ่งเราเองก็เคย แต่ความผิดพลาดเป็นคุณสมบัติธรรมดาของมนุษย์ มีใครไม่เคยทำผิดบ้าง ตัวละครของเราในเล่มไม่ใช่คนดีเด่นอะไร คนธรรมดาอย่างเราๆ คุณๆ นี่ล่ะ การกระทำของบางตัวละครอาจถูกตัดสินว่าไม่ดี ไม่ควร แต่ถ้าเรารู้ที่มาที่ไปของเธอ รู้ถึงหัวจิตหัวใจของเธอ เข้าใจว่าอะไรที่พาเธอไปสู่เรื่องราวเช่นนั้น เราก็อาจเข้าใจขึ้นมาก็ได้ เช่นเดียวกัน หากวันหนึ่งเราผิดพลาดอะไรสักอย่าง เราก็อยากได้รับความเข้าใจจากใครสักคนใช่ไหม ผิดถูกก็ว่ากันอีกเรื่อง แก้ไขกันไป แต่เราไม่ได้ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อสั่งสอนหรือชี้ทางถูกต้องดีงามอะไรให้ใคร หากจะมีอะไรที่จะส่งต่อไปถึงคนอ่านได้บ้าง ก็คงเป็นมุมมองที่ว่า ความเห็นอกเห็นใจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย  ถ้าเราไม่ได้เข้าไปรับรู้เรื่องราวและทำความเข้าใจในใครคนนั้น กับเรื่องความรักก็แบบนั้นนะ เราว่า

หนังสือพูดถึงความรัก คุณมีมุมมองเรื่องความรักอย่างไร เชื่อใน Soul mate หรือไม่

ถ้าในเนื้อแท้ของคำว่า ความรัก เราเชื่อว่ามันงดงามมาก คือความเมตตาตามหลักศาสนาพุทธ แต่กับเราๆ ที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป พอพูดถึงความรัก เราจะนึกความสัมพันธ์ หากความรู้สึกรักเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ก็สามารถนำมาซึ่งความสัมพันธ์ได้ แล้วความสัมพันธ์ที่ดีก็จะช่วยพัฒนาเราให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะจิตวิญญาณภายใน ซึ่งเราจะรู้สึกรู้ได้ด้วยตัวเราเอง

เรื่อง Soul mate เราก็เชื่อ เชื่อมาตลอดว่าการพบกันของเราทุกคนล้วนมีเหตุผล กับคนที่มาเป็นครอบครัว  เป็นเพื่อนรัก เป็นคนรัก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้งที่สุด  เรามีจุดประสงค์ร่วมกันเพื่อบรรลุในอะไรบางอย่างในชีวิตนี้ ทีนี้ คำว่าSoul mate ของเราไม่ได้มีความหมายที่หวานซึ้งดื่มด่ำ อาจไม่ได้แต่งงานกันก็ได้ ไม่ได้อยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่าก็เป็นได้ แต่อยู่ที่ระดับความเข้มข้นของความสัมพันธ์ระหว่างสองคน คนที่เข้ามาร่วมภารกิจชีวิตบางอย่าง เข้ามาเรียนรู้ มาสอนกันและกันในเรื่องสำคัญ เข้ามาช่วยกันพัฒนาจิตวิญญาณให้เติบโตขึ้น แล้วพอหมดเวลาต่อกันก็สามารถแยกย้ายกันไปสู่การเรียนรู้ใหม่ได้กับคนใหม่ ซึ่งเรื่องสุดท้ายใน ดอก รัก เราเขียนออกมาจากความเชื่อนี้ของเราค่ะ

 

        

ชีวิตประจำวัน (เรื่องสั้นธรรมดา)

ประพันธ์โดย “จำลอง ฝั่งชลจิตร”

หนังสือรวม 18 เรื่องสั้นเล่มนี้ สะท้อนเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้เขียนกล่าวโยงใยบุคคลใกล้ชิด บุคคลอื่นๆ สังคม ท้องทุ่ง สวนสาธารณะ หมา แมว ชะนี อิกัวน่า สิ่งแวดล้อม ค่านิยม ปฏิกริยา และที่ทีต่อกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ เรื่องสั้นทั้ง 18 สั้นบ้าง ยาวบ้าง บางเรื่องต้นฉบับเพียงหน้ากระดาษเดียวใช้เวลาอ่าน 1-2 นาที ผู้เขียนเขียนอย่างอิสระ รูปแบบจึงแตกต่างหลากหลาย

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้

เขียนเรื่องสั้นมา 40 ปี ผมพยายามหามุมมองใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ ๆ จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป  นักเขียนเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ย่อมได้รับผลกระทบหรือแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงเหมือนคนอื่นๆ ขณะเดียวกันในฐานะผู้สร้างสรรค์ผมยังต้องค้นหาวิธีเขียนวิธีเล่าใหม่ๆ  ที่เกิดขึ้น หรือผลกระทบจากการดำเนินชีวิตวันแล้ววันเล่า ทุกวันนี้เราประสบกับอะไรบ้าง เรื่องน่าปรารถนา น่ายินดี น่าวิตกกังวล ไร้หลักประกัน  เราต้องการหรือไม่ต้องการอะไรก็ถ่ายทอดออกไป รวมเรื่องสั้น ชีวิตประจำวัน บอกเล่าสิ่งที่ตัวละครประสบ บางเรื่องชวนกังวล บางเรื่องน่ายินดี

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากนำเสนอถึงเรื่องนี้

ชีวิตประจำวัน มีเรื่องสั้น 18 เรื่อง ผมจะไม่อธิบายว่าประเด็นของแต่ละเรื่องเกี่ยวกับอะไร  หรือทำไมผมถึงอยากนำเสนอเรื่องนั้นๆ  ผู้อ่านต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง  ผู้อ่านก็ใช้ชีวิตในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วร่วมกับผู้เขียน

มีวิธีการมองอย่างไรให้เรื่องธรรมดาไม่ธรรมดาได้

ผมบอกไม่ได้อีกเช่นเคย  มองอย่างธรรมดาหรือไม่ธรรมดาได้อย่างไร   ประสบการณ์เป็นของใครก็ของคนนั้น  เรื่องสั้นเล่มนี้ผมเขียนถึงชีวิตประจำวันของคนธรรมดาๆ  เขียนเรื่องเดินออกกำลังกาย  ต้นไม้ แมว หมา  ผมไม่ได้เขียนระบบการปกครอง การเมือง การบริหารรัฐกิจหรือองค์กรธุรกิจ  ตัวละครล้วนเป็นคนธรรมดาๆ  ที่เดินออกกำลังกาย นั่งคุยกันในร้านน้ำชา คิวรถ พวกเขาคุยเรื่องธรรมดาๆ  ที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ผมเขียนด้วยวิธีหลากหลาย ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนา บางเรื่องนำปรัชญาวะบิ-ซะบิ ของญี่ปุ่นมาใช้ บางเรื่องเขียนสั้นๆ อย่าง flash fiction ที่กำลังได้รับความนิยมตามยุคสมัยคนมีเวลาน้อย

มี message ที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนถึงสังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้อะไรบ้างไหม

สารที่นำเสนอในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องผู้อ่านต้องค้นหาเอง  ผมมีหน้าที่ส่งผ่านไปพร้อมศิลปะการเขียน ซึ่งผมทำไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้รับสาร

Paris in Pairs ปารีสบนดาวดวงอื่น

ประพันธ์โดย “โชติกา ปริณายก”

หนังสือเล่มนี้คือ ปารีสบนดาวดวงอื่น ที่คุณไม่เคยคุ้นอย่างแน่นอน ทั้งภารกิจการตามหาหนังสือของ “เลอา” สาวนักฉกที่ถูกจ้างให้ทำงานประจำเป็นหัวขโมยส่วนตัวของนายจ้างลึกลับ เรื่องราวของ “จูน” นักเดินทางที่หลับตอนกลางวันแต่ตื่นตอนกลางคืน เลคเชอร์วิชาโจรกรรม 101 จาก “จอร์แดน” นักล้วงกระเป๋ามืออาชีพแห่งปารีส การแข่งขันของเหล่าชายชราที่มีจุมพิตของ “ป้าลู” อดีต FBI ที่เนียนมานอนเล่นเป็นเจ้าหญิงนิทราเป็นเดิมพัน และยังมีเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายที่จะทำให้ปารีสในมุมมองของคุณไม่เหมือนเดิม

ความเป็นมาที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้

ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าความเพ้อเจ้อหรือจินตนาการดี แต่เราเป็นคนชอบคิดนู่นคิดนี่ เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เวลาไปเที่ยวก็จะมองดูสถานที่ ผู้คน สิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็คิดนู่นคิดนี่เป็นเรื่องเป็นราวในหัวฟุ้งซ่านเยอะแยะไปหมด สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็กลายมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนของเรา

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้

เป็นเรื่องสั้น 13 เรื่อง เกี่ยวกับผู้คนที่เกี่ยวพันกันโดยมีปารีสเป็นศูนย์กลาง ทำไมต้องปารีส? เพราะเราชอบประเทศฝรั่งเศส และตอนนั้นเพิ่งไปเที่ยวปารีสมา แต่ไม่อยากเขียนบันทึกการเดินทาง อยากทำอะไรแนวทดลองๆ หน่อย จึงเลือกเขียนเป็นเรื่องแต่งโดยใช้รูปภาพที่ถ่ายมาเล่าเรื่องผสมกับจินตนาการของตัวเอง

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง

ถ้าพูดให้เข้ากับชื่อเรื่อง คงเป็นการพาผู้อ่านไปพบกับ ปารีสบนดาวดวงอื่น หรือก็คือ เรื่องราวต่างๆ ในปารีสที่เกิดจากจินตนาการของเรา

มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้

ไม่อยากบอกว่ามี message ที่ตายตัวขนาดนั้น เพราะรู้สึกการมีส่วนร่วมของนักอ่านผ่านประสบการณ์และการตีความของเขาทำให้เรื่องราวของเรามีคุณค่ามากขึ้น เหมือนตอนที่เจอประโยคหนึ่งในคำนำของสำนักพิมพ์แซลมอนที่ว่า “เรื่องราวแทบทั้งหมดล้วนเกิดจากการปรุงแต่งผ่านจินตนาการ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเรื่องของเธอนั้นอาจเกิดขึ้นจริงด้วยก็ได้ เพียงแต่ไม่ใช่ดาวดวงนี้” เราก็คิดว่า เออเนอะ จริงๆ มันก็เกิดขึ้นจริงแล้ว อย่างน้อยก็ในหัวของเรา แล้วก็ในหนังสือเล่มนี้

มีความยาก-ง่ายอะไรไหมในการเขียน

เราตั้งใจเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นที่แต่ละเรื่องจบในตัวมันเอง แต่ถ้าลองอ่านจนครบทุกเรื่องจะพบความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงบางอย่างที่เรียงร้อยเรื่องสั้นเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เสมือนเป็นเรื่องยาวเรื่องเดียว ความยากเลยคงจะอยู่ที่พอเราอยากให้เรื่องราวทั้งหมดมันมีจุดเชื่อมต่อ ก็เลยต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด ว่าตัวละคร เหตุการณ์ ในแต่ละเรื่องจะสัมพันธ์กันยังไงบ้าง

 

       

ตะวันออกศอกกลับ

ประพันธ์โดย “อนุสรณ์ ติปยานนท์”

รวมเรื่องสั้นที่กลั่นจากความคิดอันผสานโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกเหงาเศร้า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับชายหนุ่มหญิงสาว เชื่อมโยงถึงความรู้สึกของคนเราต่อสิ่งที่ได้พบพาน รวมถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองระหว่างทัศนะของคนหนึ่ง ที่ปราศจากการรับรู้กับคนที่ไปเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้

แรงบันดาลใจมาจากความพยายามที่จะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งด้วยมุมมองแบบวิถีตะวันตก ชีวิตที่ไร้จุดหมาย การพบและพรากแบบชั่วครู่ชั่วยาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องในฉากหลังตะวันออก

ในโลกตะวันออก ความเปลี่ยนแปลงมากมายกำลังเกิดขึ้น เราไม่มีเส้นแบ่งที่แน่ชัดอีกต่อไป และการไม่มีเส้นแบ่งที่ว่านั้นยิ่งทำให้ฉากของโลกตะวันออกมีเสน่ห์เย้ายวนขึ้น

เล่มนี้ถือเป็นเล่มต่อหรือเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับจากอาคเนย์คะนึงหรือไม่

ใช่และไม่ใช่ ในส่วนที่ใช่คือการมองว่าโลกหลังอาณานิคม ไม่ว่าจะโลกตะวันออกหรือโลกตะวันออกเฉียงใต้ มีสิ่งที่เรามองย้อนกลับชวนให้คำนึงอะไรบ้าง และมีสิ่งที่ทำให้เราตระหนกตกใจหรือศอกกลับอะไรบ้าง

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้น่าจะพาผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวที่หลายเรื่องเราอาจกลายเป็นตัวละครเหล่านั้นเสียอีก เหตุการณ์สึนามิ เรื่องราวของช่างภาพที่เดินทางมาตะวันออกและรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใดในดินแดนของเธอเลย เรื่องราวเหล่านี้คงทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดถึงชะตาชีวิตตนเองไม่มากก็น้อย

มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้

อยากให้ผู้อ่านได้ทบทวนผลกระทบของสิ่งต่างๆที่เข้าสู่วิถีชีวิตตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ผู้ใด เกิดในดินแดนไหน ความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่แปลกหน้า ห่างไกล มีผลต่อเราเสมอ

 

 

     

2601 ความตายเป็นเพียงแค่ความฝัน

ประพันธ์โดย “ละเวง ปัญจสุนทร”

ความเป็นมาที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้

ตอบให้ตรงก็คือ มันเป็นความฝันของคนเขียนเรื่องสั้นทุกคนอยู่แล้ว ความจริงคือผมเขียนเรื่องสั้นมานานพอสมควร หลังนิยายนิดหน่อย เพราะผมเขียนนิยายก่อน แต่ก็ไล่กันมา ผมเคยมีนิยายที่พิมพ์เป็นเล่มออกมาแล้วสองเล่ม ซึ่งก็ได้รางวัลทั้งสองเล่ม แล้วก็มีนิยายอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้พิมพ์ บางเรื่องก็เข้ารอบรางวัลก็มี แต่รวมเรื่องสั้นนี่ ผมยังไม่ได้ทำเสียที สมัยก่อนเคยทำเป็นหนังสือทำมืออยู่เล่มหนึ่ง ทำสนุกๆ ตอนนั้นมันมีกระแสหนังสือมือทำอยู่ช่วงหนึ่งสักสิบกว่าปีมาแล้ว ผมก็เขียนเรื่องสั้นสลับกับนิยายเรื่อยมา แต่ก็ไม่ได้รวมเล่มเสียที จนผมมีเรื่องสั้นได้ลงนิตยสารช่อการะเกดหลายเรื่อง และลงตีพิมพ์ที่อื่นๆ ด้วย จนได้รางวัลช่อการะเกดมา แล้ววงการหนังสือ สิ่งพิมพ์ ก็เริ่มเจอเข้ากับกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างที่เรารู้กัน แต่เราก็ยังชอบหนังสือกระดาษ และเรื่องสั้นที่เรามีอยู่ก็คิดว่าน่าจะรวมเล่มออกมาได้ เมื่อสองปีก่อนก็คิดว่าจะทำเรื่องสั้นเล่มนี้ แต่ก็มีเหตุให้ผมต้องไปเขียน ไปทำหนังสือสารคดีเกี่ยวกับเนปาลออกมาเล่มหนึ่ง ทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงต้องเลื่อนมา และมาได้ทำตามความฝันของตัวเอง ที่อยากมีรวมเรื่องสั้นให้มันเป็นตัวเป็นตนในช่วงนี้จนได้

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่อง

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะพูดถึงชีวิตผู้คนที่หลากหลาย เรื่องสถานภาพทางสังคม อาชีพที่หลากหลาย เรื่องเพศ เรื่องเพศทางเลือก การใช้ชีวิต ความรัก จนสุดท้ายคือความตายที่อยู่กับเราทุกคน และบ่อยครั้งที่หลายคนเลือกจะเดินไปหาความตายก่อนที่มันจะมาหาเรา นี่คือวิถีชีวิตผู้คนที่ต้องก้าวผ่านบางสิ่งบางอย่างในใจตัวเอง ปมบางอย่าง กระทั่งการใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนไปของสังคม การเมือง หรือกระทั่งความเชื่อ ซึ่งผมคิดว่าหลายๆ เรื่องในเล่ม อาจไปคล้ายกับเรื่องของคนอ่านหลายคน หรือคนรอบข้างตัวเรา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถูกซ่อน หรือจัดวางไว้ในรูปแบบการนำเสนอ และการเล่าเรื่องที่ต่างกันออกไป จึงทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ มีแนวเรื่องที่แตกต่างกันสุดขั้วอยู่ในเล่มเดียวกัน อย่างมีเรื่องแนววิทยาศาสตร์ แล้วก็มีเรื่องของนักร้องในผับ หรือเรื่องการเมือง อยู่ในเล่มเดียวกัน แล้วยังมีเรื่องแนวอื่นๆ อีก จะบอกว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีทุกแนวก็คงไม่ผิด

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง

ผมว่าผู้อ่านจะได้พบกับเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลาย ในรูปแบบการนำเสนอ และแนวเรื่องที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่ามันเป็นงานวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ที่สามารถอ่านสนุกได้ และยังเปิดโอกาสให้คนอ่านได้ตีความในแบบที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าวรรณกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อหรืออ่านไม่สนุก อย่างที่หลายคนเคยบ่นให้เราได้ยิน

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าในปัจจุบันนี้ รวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่มักมีแนวคิดหลักของเล่มเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เรื่องในเล่มนั้น ๆ ก็มักเป็นแนวเดียว หรือบรรยากาศเดียว เวลาอ่านอาจรู้สึกดี แต่ก็เป็นอารมณ์คล้าย ๆ กันทั้งเล่ม แต่รวมเรื่องสั้น 2601… เล่มนี้ตั้งใจให้มีความหลากหลายของแนวเรื่องที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นภาคแรก ภาคอนาคต ที่เป็นเรื่องสั้นชุดแนววิทยาศาสตร์ แต่บางเรื่องก็เล่าแบบกึ่งเหนือจริง ภาคอดีต ที่ย้อนบรรยากาศไปเล่าเรื่องของเพศทางเลือก และภาคอนาคต ที่มีเรื่องการยั่วล้อการเมือง เรื่องอีโรติกเกี่ยวกับความตาย และเรื่องสุดท้ายที่เขียนใหม่หมาดโดยใช้ฉากในอินเดีย ผมว่าก็เหมือนคนอ่านจะได้ลิ้มชิมอาหารที่หลากหลายรสชาติ คนอ่านจะได้เห็นบรรยากาศของฉากหลาย ๆ ฉากที่ไม่เคยเห็น กรุงเทพฯ ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ฉากทุ่งดอกทานตะวันอันยิ่งใหญ่ หรือรีสอร์ตแห่งความตาย ซึ่งการบรรยายหรือการสร้างฉากและบรรยากาศเป็นจุดเด่นของผม รวมถึงตัวละครหลากหลายที่มีเสน่ห์ ผมเชื่อว่าต้องมีตัวละครบางตัวที่คนอ่านจะต้องตกหลุมรัก และแน่นอนว่าทุกตัวละครที่ผมเล่ามีการเดินทาง เพื่อก้าวผ่านบางสิ่งในขณะที่เวลา และสังคมกำลังเดินหน้าไป

มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่านผ่านงานเขียนชิ้น

อย่างที่คำโปรยปกเขียนไว้ว่า หากการพลัดพรากคือการเริ่มต้นของบางสิ่ง นั่นคือคำถามที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดและชีวิตของตัวละครที่ผมตั้งใจพูดถึง แล้วผมก็เชื่อว่าชีวิตของคนเราส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ทุกอย่างเคลื่อนไป และแปรเปลี่ยน  เรื่องสั้นเกือบทุกเรื่องในเล่มนี้ ผมก็จบเรื่องในลักษณะปลายเปิดเอาไว้ ซึ่งเป็นความตั้งใจ คนอ่านจะได้ตีความต่อตามประสบการณ์ของแต่ละคน แน่นอนว่ามีหลายคนอ่านแล้วกลับมาถามตอนจบของบางเรื่อง และถามถึงตอนต่อก็มี แต่ผมให้อิสระและไม่ตอบ การค้นหาคำตอบเองคือความสนุกอย่างหนึ่ง

แต่ประเด็นที่หลายคนชอบคือเรื่องสั้นในชุดวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงสังคมไทยในอนาคต มันเริ่มเป็นจริงตามที่ผมเขียน หลายเรื่องดูจะก้าวไปมากกว่าที่ผมเขียนถึงเสียด้วยซ้ำไป มันน่าสนใจว่าเราจะอยู่กันต่อไปในรูปแบบใดในวันข้างหน้า หมายถึงทุกคนจะต้องปรับตัว กระทั่งปรับเปลี่ยน ผมเขียนถึงรถที่ไม่มีล้อ วันนี้ที่เมืองไทยเชิญต่างชาติมาโชว์เครื่องมือที่ทำให้คนบินได้แล้ว แบบในหนัง สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งในจีน ใช้เครื่องสแกนหน้าแล้ว ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่กำลังจะเปลี่ยน ผมในฐานะคนเขียนหนังสือก็พยายามมอง แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงแอบตั้งคำถามผ่านงานวรรณกรรมในรูปแบบของเรื่องสั้น หรือรูปแบบอื่น ๆ โดยหวังว่า ท่ามกลางความเร็วของโลก วรรณกรรมจะยังมีพลังในการช่วยเติมเต็มอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด รวมถึงความบันเทิงได้ด้วย

 

       

ฉันเป็น

ประพันธ์โดย “สุภาวดี เจ๊ะหมวก”

แรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้

อยากระบายความคิด สิ่งที่เราสงสัยหรือตั้งคำถามในวัยเด็กให้คนอื่นรับรู้

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้

เป็นเรื่องสั้น 8 เรื่องที่สะท้อนชีวิตและความหลากหลายในภาคใต้ บางเรื่องมาจากประสบการณ์ของเรา บางเรื่องเรารู้สึกไม่เป็นธรรม จึงอยากเขียนออกมา

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านพบกับอะไรบ้าง

ผู้คนหลากหลายที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางความย้อนแย้งทางความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยม แรงงานต่างด้าว และความรุนแรง

มี message อะไรที่อยากส่งถึงผู้อ่าน หรือสังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้บ้างไหม

เยอะมาก อยากให้ลองอ่านดูค่ะ

เขียนเรื่องนี้ตอนเรียนอยู่ปีอะไร แล้วเป็นผลงานชิ้นแรกไหม สนใจงานเขียนตั้งแต่ตอนไหน

สนใจหนังสือตั้งแต่เด็ก เริ่มจากหนังสือภาพ หนังสือแผนที่ และหันมาจริงจังกับการเขียนครั้งแรกตอนเรียนอยู่ปี 3 สำหรับหนังสือ ฉันเป็น เขียนตอนเรียนปี 5 ก่อนหน้านั้นมีงานเรื่องสั้นและสารคดีอีก 3 ชิ้นที่ได้รับการเผยแพร่

 

         

ในโลกเล่า

ประพันธ์โดย “สุวัฒน์ ยวงแก้ว”

ที่มาของผลงานชิ้นนี้

เนื่องจากตนเองผลิตผลงานได้น้อย ผลงานบางส่วนออกสู่ผู้อ่านโดยผ่านการรวมเล่มร่วมกับคนอื่นบ้าง บางส่วนยังเป็นไฟล์อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่อยากให้เรื่องราวเหล่านั้นสูญหายไป อยากให้มันมีพื้นที่ของตัวเอง แต่ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขว่ามันควรดีพอจะออกไปสู่ผู้อ่านด้วย จึงได้ลองกำหนดรูปแบบ คัดเลือกเรื่องราวที่พอใจมาบรรจุลงไว้เพื่อส่งประกวดเวทีวรรณกรรมและแจกจ่ายเพื่อนฝูง เบื้องต้นเพื่อประเมินว่า มันดีพอจะออกไปสู่ผู้อ่านหรือยัง แล้วค่อยว่ากันต่อ

อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้

ทุกอย่างมีด้านตรงข้ามที่สะท้อนความหมายของมันเสมอ ดีงาม-ชั่วร้าย  ปัจเจก-ส่วนรวม  ตัวฉัน-คนอื่น เรื่องแต่ง-เรื่องจริง นั่นคือสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ ความขัดแย้งจึงมีอยู่คู่กับทุกสิ่ง เรื่องเล่านี้พยายามสื่อสารประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือพยายามเสนอว่า ปัญหาต่าง ๆ อาจแก้ได้ด้วย “การเห็น” ไม่ใช่การเลือก (สรุปตัดสิน) แม้ว่าท้ายที่สุดจะต้องเลือกก็ตาม

หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านพบกับอะไรบ้าง

ด้านหนึ่งพยายามที่จะพูดถึงปัญหาหลากหลายในสังคม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามที่จะเรียนรู้ตนเองของตัวละคร ของผู้เขียน และของตัวเรื่องเล่าเอง

มี message อะไรที่อยากส่งถึงผู้อ่านหรือสังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้บ้างไหม

เรื่องเล่าทั้งหลายพยายามจำลองโลกจริงทั้งภายในและภายนอกออกมาเป็นถ้อยคำ แต่บางทีความเป็นไปในโลกนั้นเองอาจเป็นตัวถ้อยคำ (ของสิ่งเหนือถ้อยคำ) อยู่แล้วตั้งแต่ต้นก็ได้

คนที่สนใจหนังสือเล่มนี้สามารถตามหาได้ที่ไหนบ้าง

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นจำนวนจำกัด เพื่อส่งประกวด แจกจ่าย และจำหน่ายสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ยังไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป ขณะนี้อยู่ระหว่างความพยายามให้ปรากฏออกมาเป็นรูปเล่มเพื่อจัดจำหน่ายสู่ผู้อ่านทั่วไปต่อไป

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่