งานประกวดหนังสือดีเด่น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 ได้ประกาศรายชื่อหนังสือที่ผ่านเข้ารอบ Short List ทั้ง 6 ประเภท รวมทั้งสิ้น 41 ผลงาน และจะประกาศผู้ชนะเลิศอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้ ก่อนจะรู้ว่าผลงานเรื่องใดที่คว้าชัย เรามาร่วมลุ้นไปพร้อมกับทำความรู้จักหนังสือที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายกัน
หนังสือที่จะแนะนำคือประเภท “นวนิยาย” มีผลงานผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 7 ผลงาน จากปลายปากกา 7 นักเขียน บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ซึ่งจะพาคุณไปรู้จักหนังสือทั้งเจ็ดเล่มให้ลึกซึ้งขึ้น ผ่านการแนะนำจากนักเขียนผู้ให้กำเนิดทั้งเจ็ดคน
Toy หุ่นจิ๋วในความทรงจำ
ประพันธ์โดย “นพ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์”
TOY หุ่นยนต์ตกรุ่นที่ไม่มีใครต้องการ ได้เริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งกับ คุณยาย ผู้แสนใจดี ทว่าอุบัติเหตุ ทำให้พบว่าในสมองกลของ TOY มีความทรงจำสำคัญที่แอบซ่อนอยู่ ความทรงจำที่เกี่ยวพันกับอดีตของใครหลายคน ความทรงจำนี้เต็มไปด้วยความลับ และความรัก รวมถึงนานาความรู้สึกพิเศษที่แม้ไม่อยากจำก็มิอาจลืม
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้
เริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์เสีย ส่งร้านซ่อมแล้วกู้ข้อมูลไม่ได้ รู้สึกเสียดายข้อมูลที่เก็บไว้ จึงเกิดความคิดเรื่องของ memory ขึ้นมาว่าโชคดีที่ความทรงจำมนุษย์ถึงจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับโดนลบทั้งหมดแบบนี้ แถมยังรื้อฟื้นข้อมูลขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นที่มาของงานในครั้งนี้ โดยวางพล็อตไว้เปรียบเทียบเรื่องความทรงจำของมนุษย์กับหน่วยความจำของเครื่องจักรกล ใช้ความทรงจำที่ฝังลึกในจิตใจเป็นตัวเดินเรื่อง สาเหตุของเรื่องเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับความรักและการจากลา แต่ไม่อยากเน้นความรักแบบหนุ่มสาว ช่วงที่คิดเรื่องนี้บังเอิญได้ฟังข่าวเรื่องคนหาย รู้สึกเห็นใจคนที่สูญเสีย เดิมเคยคิดว่าเป็นปัญหาไกลตัว แต่ความจริงมันอยู่รอบตัวเรานี่เอง จึงพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่ต้องการสื่อสารทั้งหมด จนเกิดเป็นเรื่อง TOY ขึ้นมา
นิยายเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
แม้จะพูดถึงโลกอนาคตที่หุ่นยนต์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์แทนโทรศัพท์มือถือ แต่การนำเสนอหลักยังคงเน้นบรรยากาศที่ไม่ไกลไปจากยุคปัจจุบัน ไม่ล้ำสมัยจนเกินไป สิ่งที่ผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ต้นคือ อารมณ์สีเทาหม่นในใจของตัวละครแต่ละตัว ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญหา มีปม มีความทรงจำที่ฝังรากลึก ทั้งที่พยายามลืมมันให้หมด แต่กลับทำให้มันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถจัดการลบข้อมูลได้หมดจดเด็ดขาดเหมือนคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ TOY ยังพยายามนำเสนอภาพความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ที่ต้องสูญเสียลูกโดยไม่คาดฝัน ปัญหานี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจบไป มันยังคุกรุ่นในใจคนเป็นแม่ไปตลอดชีวิต ไม่มีใครลืมเรื่องพวกนี้ได้หรอก เมื่อความรักเกิดขึ้นแล้ว แม้แต่หุ่นยนต์ก็ยังลืมไม่ลง
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
ธีมของเรื่องคือความทรงจำ แม้เวลาผ่านไปภาพจำอาจซีดจางลงไปบ้าง แต่มันก็อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ดังนั้น เราควรสร้างและสะสมความทรงจำดีๆ ให้แก่ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม อีกเรื่องที่อยากสื่อสารคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กหาย แม้ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ แต่รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันลงลึกไปถึงปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรต่างๆ มีการพัฒนากระบวนการติดตามที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็อยากให้ประชาชนมีความตระหนักและร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ที่สำคัญอยากสื่อให้คนที่มีความคิดที่จะทำเรื่องไม่ดีพวกนี้เปลี่ยนใจ มันเลวร้ายมากที่คุณยัดเยียดความปวดร้าวใจให้ใครสักคนไปตลอดชีวิต
เหตุใดถึงสนใจเปลี่ยนแนวมาเขียนเป็นนิยาย และเป็นนิยายที่ตัวละครมีความแฟนตาซี
อยากลองเปลี่ยนแนวการเขียนเพราะคิดว่านวนิยายเป็นงานท้าทาย ต้องใช้ความรู้ความสามารถทุกอย่างกลั่นออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเห็นภาพตรงกับเรา ส่วนที่เขียนเป็นแนวแฟนตาซีคงเพราะชีวิตอยู่บนพื้นฐานความจริงมาตลอด อาชีพแพทย์เห็นสัจธรรมในเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย อารมณ์มันเต็มที่อยู่แล้ว การทำในเรื่องที่หลุดออกมาจากกรอบชีวิตบ้างก็รู้สึกผ่อนคลาย ได้สัมผัสเรื่องอื่นที่ไกลตัวบ้าง แต่ไม่ว่าในมิติไหน ยังไงก็หนีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกไม่พ้น ความทุกข์เป็นความจริงแห่งชีวิต ต่อให้พูดเรื่องสวยหรู ยังไงก็ต้องวกกลับเข้ามาพูดเรื่องทำนองนี้อยู่ดี
ใต้ฝุ่น
ประพันธ์โดย “โกลาบ จัน”
เมย์ มิลเลอร์ คอลัมนิสต์สาวประสบเหตุระเบิดที่ซาวารี บาซาร์ เธอตื่นขึ้นอีกครั้งในร่างของหญิงสาวนัยน์ตาสีเขียวอ่อนนามว่า มัรยัม ห้วงเวลาที่ฟื้นตื่นคือ สามสิบหกปีให้หลัง ที่กรุงคาบูลในวันที่ท้องฟ้าเหนืออัฟกานิสถานยังคงงดงาม ดอกกุหลาบบานสะพรั่ง และแว่วเสียงบทกวี เมย์จำต้องปรับตัว มองหาทางรอดให้ตัวเอง ทั้งที่เธอรู้ว่า อีกไม่นาน ประเทศนี้จะตกอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันแห่งสงคราม
ผลงานนี้เกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้
ใต้ฝุ่นเป็นนวนิยายรักที่มีฉากหลังเป็นสงครามในประเทศอัฟกานิสถาน เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่ปีค.ศ. 1975 ตอนที่ประเทศสงบสุข เรื่อยไปจนเข้าสู่สงครามโซเวียต และสงครามกลางเมือง แรงบันดาลใจมาจากการที่แพรวบังเอิญเจอรูปประเทศอัฟกานิสถานในอดีตจากอินเตอร์เน็ต ภาพบ้านเมืองที่เจริญ สงบ สะอาด ภาพหนุ่มสาวในเครื่องแต่งกายสากล ทำให้เราสนใจว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนให้ประเทศที่เคยรุ่งเรืองไม่ด้อยกว่าใครในภูมิภาค กลายเป็นประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก จากนั้นก็หาอ่านเป็นเรื่องเป็นราว จนจู่ๆ พล็อตเรื่องก็แวบเข้ามา
ฉากของเรื่องเกิดขึ้นที่อัฟกานิสถาน มีวิธีการหาข้อมูลที่ใช้อ้างอิงอย่างไร และมีอุปสรรคในการเขียนอะไรบ้างไหม
ส่วนมากมาจากการอ่านอีบุ๊กสารคดีของนักข่าวที่เคยใช้ชีวิตที่นั่นในยุคสงครามเย็นค่ะ เวลาเจอชื่อสถานที่ เราก็จดออกมา แล้วนำไปค้นหาในแผนที่ดาวเทียม เพื่อจะได้เห็นภาพการเดินทางชัดเจน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ ภาษา ชื่อบุคคลสำคัญก็จดไว้ นำไปค้นหาต่อจะเจอเรื่องอีกมากมายให้อ่าน เช่น คนคนหนึ่งอาจถูกนำเสนอด้านลบในมุมมองของหนังสือเล่มหนึ่ง แต่อีกเล่มเราอาจเข้าใจอีกมุมก็ได้ แล้วปัจจุบันนี้ก็มีโซเชียลมีเดียให้เราติดต่อกับผู้คนทั่วโลกได้ เวลาติดขัดข้อมูลตรงไหนหรือมีข้อสงสัย อาศัยสอบถามตามเพจของชาวอัฟกัน อย่างอุปสรรคเรื่องการถอดคำ เขาก็ออกเสียงคำนั้นส่งมาให้เรา
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
หากเอ่ยถึงอัฟกานิสถาน คนอาจนึกถึงบ้านป่าเมืองเถื่อน กลุ่มก่อการร้าย หรือสตรีในชุดคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า เราก็เคยคิดอย่างนั้นจากข่าวที่ออกมา แต่ใต้ฝุ่นจะนำเสนอวัฒนธรรมประเพณีของชาวอัฟกัน ผ่านตัวละครในเรื่อง รวมถึงที่มาที่ไปของสงคราม หลายเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นจริง ส่วนตัวแพรวชอบเวลาที่อ่านอะไรแล้วนำไปต่อยอดค้นหาต่อ เลยอยากให้ใต้ฝุ่นเป็นหนังสือที่ทำให้คนอ่านได้ “เริ่มต้น” รู้จักอัฟกานิสถานอีกแง่มุมค่ะ
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
มันชัดเจนมากเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในชาติ ความคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ และการหยิบยืมมือต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงเพื่อประหัตประหารเพื่อนร่วมชาติที่มีแนวคิดต่างกัน อุดมการณ์ตั้งต้นของแต่ละกลุ่มในเรื่องอาจบริสุทธิ์และสดสวย แต่ไม่มีใครรู้ผลที่ตามมาว่าจะแตกแขนงไปอย่างไร สงครามไม่ได้เริ่มและจบลงแค่ชั่วเดือนหรือปี แต่ยาวนานเป็นทศวรรษถึงชั่วชีวิตคน
ปลิวลมลวง
ประพันธ์โดย “ปิยะพร ศักดิ์เกษม”
เรื่องราวความรักของอีกหนึ่งหนุ่มตระกูล “เชิญอิสราชัย” กับหญิงสาวที่เข้มแข็งมากพอที่จะหยั่งรากลึก รู้จักโอนอ่อนเอนตามแรงพายุ หากก็ไม่เคยยอมปล่อยตัวเองให้ถูกพัดลอยไปกับกระแสลม
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้
คือการเฝ้าสังเกตความเป็นไปของผู้คนและสังคมรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่กำลังมีจำนวนมากขึ้นและล้วนมีจุดอ่อนง่ายต่อการถูกโจมตี รวมทั้งอยากพูดถึงความริษยาที่เกิดขึ้นในใจผู้คนด้วยความคิดว่า “เธอโชคดีกว่าฉัน โลกช่างไม่ยุติธรรมเลย” ทั้งหมดนี้ทำให้คิดผูกเรื่องขึ้นมาเพื่อบอกเล่า และสรุปว่า เรื่องร้ายใดๆ ไม่สามารถพัดพาคนเราให้พลอยเลวร้ายปลิวไปกับกระแสของมันได้เลย ถ้าเข้มแข็ง หนักแน่น รู้จัดอดทนและโอนอ่อนอย่างเหมาะสม ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องยอมรับและพิจารณาทุกเรื่องด้วย “ความเป็นจริง”
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
พบกับความจริง ความลวง ความหนักแน่น ความอ่อนโยน การพยายามทรงตัวให้อยู่ให้ได้ท่ามกลางพายุร้ายของความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในชีวิต และมองให้ทะลุถึงคำลวงที่ผ่านเข้ามา ตัวละครแวดล้อมทุกตัวในเรื่องนี้ผลักดันให้เรื่องก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง โดยมีลมเป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องร้าย พายุร้าย ความประสงค์ร้าย และลมแรงร้ายที่สุดคือลมลวงจากคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ พร้อมกันนี้ก็ไม่ทิ้งความสุขที่เจือปนมาในรูปสายลมเย็นแห่งความรักความเข้าใจของตัวละครเอก
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
นอกจากเรื่องของการไม่ปล่อยตัวเองไปตามคำลวงหรือเรื่องลวงทั้งด้วยความเต็มใจและไม่เต็มใจแล้ว ก็คือการมองให้ทะลุว่าทุกคนล้วนมีปัญหาเป็นของตัวเอง ในรูปแบบของตัวเอง เราไม่อาจตัดสินได้ว่าใครหนักกว่าใคร ดังนั้นการคิดริษยาว่าเขาโชคดีกว่าเราอาจกลายเป็นแรงลมที่พัดพาเราเข้าไปสู่การกระทำที่เลวร้ายได้ในที่สุด
ในฐานะนักเขียนนิยายรักผู้ประสบความสำเร็จมองว่าคุณค่าของนิยายรักต่อสังคมไทยคืออะไร
นอกจากการให้ความสุขกับผู้อ่านก็คือการสอดแทรกแง่คิดในการดำรงชีวิต สร้างคติสอนใจผ่านเรื่องราวของตัวละคร ให้ผู้อ่านได้อ่านแล้วอิ่มใจ เชื่อมั่นในการกระทำความดี นำไปขบคิดและยึดเป็นแนวปฏิบัติ เป็นความจริงชัดเจนว่า นิยายรักเข้าถึงผู้อ่านจำนวนมากได้ดีกว่านิยายประเภทอื่นๆ นิยายรักเป็นดั่งประตูที่เปิดกว้าง ดังนั้นนิยายรักที่ดีจึงควรใช้ข้อได้เปรียบในส่วนนี้สร้างสรรค์สังคมในแนวทางของตนเองอย่างแนบเนียนให้ได้
มรดกตกผลึก
ประพันธ์โดย “จักรพันธุ์ ขวัญมงคล”
ตกผลึก หัวหน้าคณะตลกที่ดังบ้างไม่ดังบ้างและได้มรดกเป็นเงิน 5 ล้านจากคุณยายผู้ดีเก่า แต่แลกกับเงื่อนไขคือต้องกลับไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาเคยทำผิดพลาดในอดีตให้สมกับมูลค่าเงินที่จะได้รับคือ 1 ล้านบาทต่อการเผชิญหน้า 1 ครั้ง จากข้อเสนอสุดประหลาดนี้ทำให้เขาต้องแบกหน้ากลับไปหาอดีตคนรักที่เขาเคยทิ้งเธอไป พบหน้ากับนักเลงโต๊ะบอลที่เขาไปโกงเงินมา กล่าวคำขอโทษเพื่อนผู้ถูกคุมขังเพียงเพราะคำท้าโง่ ๆ ของเขาในสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นเลือดร้อน ไล่ไปถึงการเผชิญหน้าที่เดิมพันด้วยชีวิตเพื่อแก้ไขและร้องขอคำให้อภัยแทนพ่อผู้ล่วงลับ
อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้
มรดกตกผลึกเกิดจาก 1.ผมโตมากับการดูตลกคาเฟ่ และชีวิตในวัยเด็กก็พอจะพบเห็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนเป็นตลกคาเฟ่อยู่บ้าง เนื่องจากบ้านที่อยู่ในตอนเด็กนั้นใกล้กับศูนย์กลางของวงดนตรีลูกทุ่ง ซึ่งจะมีตลกเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ และผมเพิ่งรู้ตัวว่ามันฝังลึกอยู่ในความชอบของผม 2.ผมอยากเขียนเรื่องการกลับไปเผชิญหน้ากับความผิดพลาดในอดีต ซึ่งที่ผ่านมาผมทำสิ่งที่ผิดพลาดไว้อยู่พอสมควร บางอย่างผมก็กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ดังนั้น มรดกตกผลึก จึงเกิดจากการนำสิ่งที่ผมชอบ ชีวิตของคนที่ผมชอบมารวมกับสิ่งที่ค้างคาใจผม
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
ตลกคาเฟ่ มาเฟียคาเฟ่ คนพ่ายแพ้ คนที่ถูกหลงลืม และมุขตลกคาเฟ่ทั้งหลาย
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
ผมแค่อยากนำเสนอชีวิตของคนเป็นตลกคาเฟ่ในบางด้านไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ผู้อ่านจะได้อะไรจากงานชิ้นนี้ และสำหรับผู้เขียน งานชิ้นนี้ให้อะไรแก่เราบ้าง
ผู้อ่านจะได้อะไรผมก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยสำหรับคนที่เกิดหรือโตไม่ทันวัฒนธรรมย่อยอย่างตลกคาเฟ่ ผมก็หวังแค่ว่าเขาจะได้รู้ว่ามันเคยเกิดขึ้นและมีอยู่จริง ส่วนงานชิ้นนี้ให้อะไรกับผมบ้างนั้นผมก็ยังไม่เคยได้คิดจริงๆ เสียที
ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน
ประพันธ์โดย “ปะการัง”
อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกินเป็นนวนิยายรักของหนุ่มสาว หรืออาจกล่าวได้ในอีกมิติที่ลึกไปกว่านั้น ก็คือเป็นเรื่องราวของความขัดแย้ง หลงผิด ชิงชัง รวมถึงการให้อภัย ความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งในที่สุดก็ไปบรรจบตรงความรักที่แท้จริงบริสุทธิ์งาม
อธิบายถึงผลงานและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดงานชิ้นนี้
เป็นเรื่องของครอบครัวหนึ่ง เน้นที่ตัวหลักคู่หนุ่มสาว พี่สาวกับหนุ่มคนรัก และอีกคู่หนึ่ง เป็นน้องชายคนสุดท้องกับเด็กผู้หญิงเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งฉากหลังของเรื่องเป็นความขัดแย้งของคนในหมู่บ้านที่เชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระดับประเทศ โดยสอดแทรกเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างพี่น้องซึ่งต่างเป็นตัวแทนความขัดแย้งหลักของทั้งสองฝ่ายรวมอยู่ด้วย
อย่างที่ทราบนะครับ ตอนนี้ประเทศเราหรือแม้กระทั่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งบางครั้งเกิดจากเรื่องเล็กๆ เฉพาะจุด แล้วก็ค่อยๆ ลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ไม่รู้จบ ซึ่งทางออกของความขัดแย้งเหล่านี้ เมื่อหาคำตอบจากหน้าประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็จบลงด้วยสงคราม ซึ่งไม่ได้เป็นการตัดสินที่ถูกต้องว่าใครถูกหรือใครผิด เพราะหลังสงคราม ก็มีแค่ผู้แพ้กับผู้ชนะ และผู้ชนะก็กลายเป็นถูกต้องเสมอ แต่จริงๆ แล้วมันควรเป็นอย่างนั้นหรือ? จะยังมีทางออกอื่นๆ อีกมั้ย และที่สำคัญ ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่ ตั้งแต่ในครอบครัว ระหว่างเพื่อน จนถึงความรัก ซึ่งหลายๆ ความขัดแย้งเหล่านั้น มีเบื้องหลัง ที่มาที่ไป แตกต่างกัน แต่น่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้… หลากหลายประเด็นทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดความคิดว่า น่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งเหล่านี้ครับ
เหตุใดจึงเลือกถ่ายทอดเป็นนวนิยาย แทนการเขียนเป็นความเรียงเฉกเช่นผลงานส่วนใหญ่ของคุณ
คือตอนที่คิดจะเขียนเรื่องราวเหล่านี้ ก็มองเห็นภาพตั้งแต่แรกแล้วว่า ต้องทำเป็นนวนิยาย แต่ตั้งใจไว้ว่า จะไม่เป็นนวนิยายแบบหนักๆ หรือยาวหลายร้อยหน้า เพราะไม่ต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกอึดอัดตั้งแต่ก่อนอ่าน แต่จะพยายามทำให้เบาสบาย อ่านง่าย แล้วค่อยๆ รับ “สาร” หรือความคิดที่อยากส่งต่อออกไป
ที่ผ่านมา เขียนแต่ความเรียง เพราะพูดเรื่องทั่วไปที่สามารถแสดงออกตรงๆ ได้ง่ายชัดเจน แต่พอพูดประเด็นความขัดแย้งโดยเฉพาะโยงถึงการเมือง ผู้อ่านก็เริ่มตั้งเป้าในใจหรือพยายามเดาว่าผู้เขียนอยู่ฝ่ายไหน เข้าข้างใครกันแน่นะ ก็เลยต้องเขียนเป็นนวนิยาย เป็นเรื่องแต่งแทน ให้รู้ว่าเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่เรื่องจริง และในหนังสือเอง ก็ยังตั้งชื่อตัวละคร หรือเมือง ให้เป็นภาษาต่างชาติ ซึ่งดูแปลกๆ ไม่รู้ว่าเป็นประเทศทางเอเชียหรืออเมริกาใต้กันแน่ ทั้งนี้ ก็เพื่อตอกย้ำว่านี่ไม่ใช่เรื่องในบ้านเรา เป็นเรื่องของประเทศสมมติในจินตนาการ เพราะฉะนั้น อย่าเชื่อมโยงว่ามีนัยแอบแฝงอะไรหรือไม่ อ่านโดยไม่ต้องมีอคติ เอาตัวเองออกมาจากความขัดแย้งเสียก่อน แล้วค่อยอ่าน ซึ่งอาจทำให้เห็นทางออกของปัญหาก็ได้ เพราะทุกวันนี้ คนในสังคมมักถือหางข้างใดข้างหนึ่ง แล้วก็จะไม่เปิดใจรับฟังฝ่ายตรงข้าม
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
หนังสือทุกเล่มของผม ล้วนพาผูอ่านไปพบกับความหวัง ความสว่าง และมีความสุข หลังจากที่อ่านจบ หนังสือเล่มนี้ ก็เช่นกัน ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า ทุกความขัดแย้งมีทางออกที่ดีกว่าสงคราม เราจะไม่พูดถึงสเกลใหญ่ แต่จะยกตัวอย่างให้เห็นความขัดแย้งในระดับเล็กลงมา เช่น ครอบครัว ซึ่งทางออกก็คือความเข้าใจ การให้อภัย และความรักซึ่งจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และถ้าในระดับครอบครัวทำสำเร็จทุกๆ ครอบครัว ในสังคมที่กว้างออกไปเรื่อยๆ ก็น่าจะลดปัญหาลงได้บ้าง เพราะมันจะส่งผลกระทบเกี่ยวโยงกัน
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
เยอะเลยครับ กระจายอยู่ทั้งเล่ม แล้วแต่ใครจะเก็บเกี่ยวตรงไหน ประเด็นหลักๆ ก็คือ โลกนี้ไม่ได้สร้างมาให้เราอยู่เพียงคนเดียว ครอบครัวเดียว หรือเผ่าพันธุ์เดียว มิเช่นนั้น โลกนี้ก็กว้างใหญ่เกินจำเป็น ฉะนั้น เมื่อเราต้องอยู่รวมกัน เราก็ต้องร่วมมือกันในทางสร้างสรรค์ นอกจากไม่ขัดแย้ง เบียดเบียนกันเองแล้ว ยังต้องไม่เบียดเบียนชีวิตร่วมโลกด้วย ถึงจะรักษาโลกนี้ให้คงอยู่ได้ และการที่จะทำให้โลกกว้างนี้ แคบลง ใกล้ชิดกัน อบอุ่นขึ้น ไม่ใช่ทำได้ด้วยเทคโนโลยีใด หากเป็นการใส่ใจคนรอบข้าง รอบตัวเรานั่นเอง
ลิงพาดกลอน
ประพันธ์โดย “ปราบต์”
ไตรตรึงษ์ ถูกตามตัวกลับบ้านเก่าทางภาคใต้ เพราะ ไอ้โคร่ง อริที่เป็นทั้งเพื่อนรักถูกฆ่าตาย และน่าสงสัยว่าต้นเหตุที่ทำให้สายสืบภาคแปดอย่างมันต้องพบจุดจบจะเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นวันเว้นวันในพื้นที่บ้านหลาว แต่ละศพถูกฆ่าด้วยวิธีหฤโหด ทั้งใช้ขวานผ่าอก ทุบกะโหลกแตกแล้วเอาถ่านร้อนยัดสมอง ฯลฯ แถมยังเชื่อมโยงกันด้วยตัวเลขและตารางประหลาด ถ้า กาหลมหรทึก เคยทำให้คุณใจสั่น คุณไม่ควรพลาดเรื่องนี้ ถ้าคุณประทับใจ แชนกบี่ เราขอต้อนรับสู่การเดินทางครั้งใหม่
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้ และการนำบทลงโทษในกฏหมายตรา 3 ดวงมาใช้
ลิงพาดกลอนมีจุดเริ่มต้นจากตัวละครแชนกบี่ในกาหลมหรทึก ผมอยากเขียนเรื่องของคนสองคนนี้ แต่เนื่องจากถ้าเขียนต่อจากกาหลมหรทึกโดยตรงก็จะต้องขนตัวละครอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย และต้องทำเป็นพีเรียด จึงยกมาเพียงบุคลิกและความสัมพันธ์ แล้วสร้างคดีใหม่ในปัจจุบันแทน ตัวคดีนั้นเริ่มต้นด้วยยันต์อุบากองซึ่งมีลักษณะเป็นตาราง มีจุดสัญลักษณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจกึ่งๆ น่ากลัว คิดว่าน่าจะเอามาเล่นกับเรื่องฆาตกรรมต่อเนื่องได้ดี จากนั้นเมื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับอุบากองไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้พบเรื่องคุกวัดโพธิ์ ต่อไปถึงกฎหมายตราสามดวงและบทลงโทษขั้นรุนแรง จึงเกิดแรงบันดาลใจนำส่วนนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนฆาตกรรมและเชื่อมโยงถึงบริบทกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยครับ
อธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับอะไร ทำไมเราถึงอยากพูดถึงเรื่องนี้
แม้จะหยิบตัวละครจากกาหลมหรทึกมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ลิงพาดกลอนกับกาหลมหรทึกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญครับ ประเด็นในลิงพาดกลอนเป็นสิ่งที่อยากพูดถึงเพราะทุกวันนี้สังคมของเราค่อนข้างมีความรู้สึกต่างคนต่างอยู่ค่อนข้างมาก โลกมันหมุนเร็วจนทำให้เราทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและใจร้ายต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ เรามักรู้สึกว่า แค่มองโลกในแง่ดี ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายก็พอแล้ว ไม่ต้องสนใจความทุกข์ของใครให้มาก เพราะความอยุติธรรมต่างๆ มันไม่เกี่ยวกับเรา ซึ่งที่จริงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเลย
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
เส้นเรื่องหลักของลิงพาดกลอนคือการตามสืบหาความจริงในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องซึ่งเกิดในพื้นที่ทางใต้ของไทย คนร้ายก่อเหตุวันเว้นวัน และเหยื่อทุกรายถูกฆ่าตายด้วยวิธีการเดียวกับโทษประหาร 21 สถานในกฎหมายตราสามดวง แต่ระหว่างการสืบ ตัวละครแต่ละตัวก็จะพาเราไปสำรวจมุมมืดต่างๆ ในสังคมไทยด้วย ตั้งแต่ระดับพื้นบ้านอย่างการกีดกันเขตทำมาหากินของรถสองแถวไม้ การทำประมงผิดกฎหมาย หญิงขายบริการข้ามชาติ ชะตากรรมของผู้ลี้ภัย เรื่อยไปถึงแก๊งมาเฟียผู้มีอิทธิพลระดับพื้นที่ และระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็พามองย้อนไปยังประวัติศาสตร์ของผู้พลัดถิ่นซึ่งแท้จริงเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับตำนานยันต์อุบากองของไทย และพาคาดการณ์ไปถึงอนาคตด้วยว่าถ้าเรายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ต่อไป สังคมจะเป็นยังไง ทั้งหมดนี้อาจเพราะผมชอบสร้างงานโดยการสืบหาข้อมูล พอเห็นข้อมูลเยอะๆ เราจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ทำให้รู้ว่า ในที่สุดแล้ว ถ้าจะวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง เราไม่สามารถมองมันแบบโดดๆ ได้เลย ทุกอย่างพาดพิงถึงกันและกันทั้งนั้น
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
แก่นเรื่องของลิงพาดกลอนพูดถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความล้มเหลวของกระบวนการทางกฎหมาย การดำรงอยู่ของชนต่างๆ ตั้งแต่อภิสิทธิ์ชนจนถึงชนชั้นล่างของชนชั้นล่างอีกทีอย่างชนกลุ่มน้อยผู้ลี้ภัย จริงๆ ภาพพวกนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นทุกวันจากข่าวสารบ้านเมือง แต่ละเรื่องดูไม่เกี่ยวข้องกัน message ของลิงพาดกลอนคือพยายามนำมันมาทำให้คนอ่านเห็นว่า จริงๆ แล้วถ้าเรามองลึกๆ ทุกอย่างล้วนมีรากของปัญหาเกี่ยวโยง และส่วนหนึ่งที่มันเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความเพิกเฉยของเราทุกคนด้วย แท้ที่จริงแล้วเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น
วายัง อมฤต
ประพันธ์โดย “อนุสรณ์ ติปยานนท์”
โลกของ วายัง อมฤต คือโลกของอุดมคติ เป็นโลกที่อาจแลดูเลื่อนลอยคล้ายเงาดำบนฉากขาวในการแสดง วายัง กุลิต แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อมองลงไปในความจริงมันกลับมีบางสิ่งที่จับต้องได้อยู่ในนั้น อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติอันตกผลึก ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โลกของผู้ถูกกดขี่ โลกของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โลกของผู้คนที่ไม่มีสิทธิแม้จะพูดในสิ่งที่เขาคิด คือศัตรูของโลกแห่ง วายัง อมฤต
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้
แรงบันดาลใจของนวนิยายเรื่องนี้คือเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามในปี 2475 มีตัวละครจำนวนมากมายที่ถูกพูดถึง และมีตัวละครมากมายที่ถูกหลงลืม ผมเพียงแต่คิดถึงการเกิดและดับของอำนาจที่ส่งผลต่อตัวละครเหล่านั้น
การเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีจุดที่ยากในการทำงานตรงไหนไหม
การเขียนนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับช่วงการเปลี่ยนแปลงมีความยากตรงที่มีญาติมิตรและทายาทของตัวละครเหล่านั้นอยู่ เราจำเป็นต้องรักษาระดับของเรื่องเล่ากับความจริงหรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ให้สมดุลซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเย็นเอามากๆ
หนังสือเล่มนี้หรือนวนิยายเรื่องนี้จะพาเราไปสู่ช่วงเวลาอันยุ่งเหยิงในประเทศอินโดนีเซีย การต่อสู้ระหว่างชนพื้นเมืองกับเจ้าอาณานิคมดัทช์ ไปสู่กองทัพญี่ปุ่นกับเจ้าอาณานิคมดัทช์ และชนพื้นเมืองกับกองทัพญี่ปุ่น
หนังสือเรื่องนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปพบกับอะไรบ้าง
สงครามสามเส้านี้ทำความเสียหายให้กับผู้คนและชีวิตของประเทศอย่างมากช่วงเวลาเพียงสี่ปี ประเทศอินโดนีเซียเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากนับจากนั้น
มี Message อะไรไหมที่อยากส่งถึงคนอ่าน หรือสะท้อนสู่สังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้
สิ่งที่อยากสื่อถึงคนอ่านคือการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ที่เราไม่อาจแยกขาดจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิตผู้คนในประเทศทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและผู้คนคือผู้ที่รับผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้นในที่สุด
สำหรับผู้เขียน งานชิ้นนี้ให้อะไรแก่บ้าง
งานชิ้นนี้ทำให้เราในฐานะคนเขียนได้มีโอกาสมาทบทวนเรื่องราวในประวัติศาสตร์อย่างช้าๆ แทนการรับรองมันแบบผ่านไป เราดึงตัวเองกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน ในแง่นี้เองที่ทำให้ในฐานะของคนเขียนเข้าใจคำว่าประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอย่างมากและทำให้พิจารณาประวัติศาสตร์ในฐานะของบทเรียนสำคัญในชีวิตอีกด้วย
อยากได้ออลแม็กกาซีน ฉบับแรกถึงปัจจุบัน เป็นอีบุ็ค เก็บไว้อ่านครับ