เลาะย่างห้างฯลาว
ห้างสรรพสินค้าเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดของชาวลาวไม่ต่างจากชาวไทย ก่อนโควิด-19 ระบาด ทุกเย็นวันศุกร์ของด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แทบทุกแห่งคลาคล่ำไปด้วยพี่น้องชาวลาวข้ามมาจับจ่ายซื้อของและกินอาหารที่ห้างสรรพสินค้าฝั่งไทย ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย อุดรธานี นครพนม หรือมุกดาหาร แต่โควิด-19 และการปิดประเทศ ปิดด่าน ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวลาวเปลี่ยนไป หันมาเดินซื้อของในห้างฯ ฝั่งลาวเองมากกว่าเดิม และในเมืองใหญ่ของลาวก็มีห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อไปเปิดเพิ่มขึ้น หากข้ามไปฝั่งลาว ก็น่าลองเดินชมวิถีชีวิตแบบใหม่ของชาวเมืองในลาวกัน คำศัพท์ที่ใช้ส่วนมากคล้ายกับไทยและอ่านไม่ยาก ยกเว้นบางคำที่น่ารู้ดังต่อไปนี้
ສູນການຄ້າ สูนกานค้า คือ ศูนย์การค้าหรือรวมถึงห้างสรรพสินค้า ภาษาลาวใช้คำว่า สูน หรือศูนย์ กับแหล่งรวมสิ่งต่างๆ เช่น ສູນການປະຊຸມ ศูนย์การประชุม ສູນວາງສະແດງສິນຄ້າ ศูนย์จัดแสดงสินค้า
ໂຮງຮູບເງົາ โฮงฮูปเงา คือ โรงภาพยนตร์/โรงหนัง ซึ่งมักอยู่ชั้นบนของศูนย์การค้า ในนครหลวงเวียงจันทน์มีโฮงฮูปเงาสองแห่งที่ศูนย์การค้า ITECC MALL และเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ฉายภาพยนตร์ หรือ ຮູບເງົາ ทั้งของลาว ไทย และประเทศอื่นๆ
ຮ້ານໂມງ ฮ้านโมง คือ ร้านนาฬิกา ส่วนมากหมายถึงร้านขายนาฬิกาข้อมือ หรือ ໂມງແຂນ โมงแขน ซึ่งเป็นแบรนด์เนมต่างๆ ในศูนย์การค้า
ສ່ວນຫຼຸດ ส่วนหลุด คือ ส่วนลด ในศูนย์การค้าของลาวหากมีป้ายคำว่า ຫຼຸດ หลุด อยู่นั้น ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่หลุดร่วงตกหล่นเสียหาย แต่หมายถึงสินค้านั้นลดราคาลงจากป้าย หรือมีโพรโมชันพิเศษ
ລົດຍູ້ ลดยู้ คือ รถเข็น มาจากคำว่า ຍູ້ ยู้ ซึ่งแปลว่า ผลัก, ดัน, เข็น ขยายคำว่า ລົດ หรือ รถ เราจะเห็นลดยู้นี้ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือมีบริการสำหรับผู้พิการหรือเดินไม่สะดวก
ຂັ້ນໄດໄຟຟ້າ ขั้นไดไฟฟ้า คือ บันไดเลื่อน มาจากคำว่า ຂັ້ນໄດ ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่า บันได ประสมกับคำว่า ไฟฟ้า เรียกบันไดที่ใช้กำลังไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนการเดินตามปกติ แตกต่างจากการใช้คำแสดงกริยาเลื่อนในภาษาไทย
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข