องุ่นไชน์มัสแคท ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น

-

องุ่นไชน์มัสแคท ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น 

ข่าวใหญ่สะเทือนวงการผู้ที่ชอบกินองุ่น โดยเฉพาะองุ่นพันธุ์ ‘ไชน์มัสแคท’ หรือที่บางคนเรียกสั้นๆ ว่า ‘องุ่นไซมัส’ หลังจากที่มีองค์กรเอ็นจีโอ (NGO) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านการเกษตร ได้ออกมาแถลงข่าว หลังสุ่มตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทที่ขายตามห้างและตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่าตรวจพบสารพิษตกค้างสูง ทำเอาผู้คนวิตกกังวลกันใหญ่ ไม่กล้าซื้อมารับประทานกัน ส่งผลกระทบตามมาทำให้ร้านค้าผลไม้ทั่วประเทศเดือดร้อนไปตามๆ กัน 

องุ่นไชน์มัสแคท (Shine Muscat) เป็นพันธุ์องุ่นชนิดกินผลสดได้ ที่มีจำนวนโครโมโซมเป็นแบบดิพพลอยด์(diploid) ตามปรกติ  เกิดจากการผสมพันระหว่างสายพันธุ์ Akitsu21 และพันธุ์ Hakunan โดยฝีมือนักวิจัยด้านไม้ผล ของศูนย์วิจัยในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 มีผลสีเขียวอมเหลืองขนาดใหญ่ เนื้อสดกรอบ กลิ่นรสคล้ายองุ่นพันธุ์มัสแคท (muscat)  หวานฉ่ำน้ำและไม่ค่อยเปรี้ยว เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อให้ยังคงมีเนื้อและรสชาติดีเหมือนองุ่นมัสแคท แต่ทนทานต่อโรคระบาด และสภาพอากาศรุนแรง ฝนตกหนัก ของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งให้มีกลิ่นหอมมากขึ้นด้วย 

ลักษณะขององุ่นไชน์มัสแคท มีผลใหญ่ สีเขียวออกเหลือง รสหวานกรอบ

ทางสถาบันวิจัยได้จดทะเบียนชื่อสายพันธุ์ ‘ไชน์มัสแคท’ ในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2006 แต่ไม่ได้จดในต่างประเทศเนื่องจากไม่ได้ตั้งใจจะส่งออกแต่แรก จึงทำให้มีการนำเอาต้นอ่อนไปปลูกในประเทศเกาหลีใต้และประเทศจีน มีการเพาะปลูกองุ่นกันเป็นจำนวนมาก จนสามารถส่งออกได้ไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ และพบว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงมาก เท่ากับที่เคยนำเข้าจากญี่ปุ่น นำไปสู่ความพยายามของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมูลนิธิโครงการหลวง ที่ทำการวิจัยจนสามารถปลูกองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทยได้สำเร็จ สามารถทำให้องุ่นออกดอก และติดผลได้ ขณะที่ก็มีรสชาติดี เป็นที่น่าพอใจอีกด้วย 

แต่ความนิยมดังกล่าวก็ตกฮวบลงทันที เมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงผลการตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคท ซึ่งได้สุ่มตัวอย่างมา 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่าย ได้แก่ ห้างบิ๊กซี ท็อปส์ โลตัส แม็คโคร วิลล่ามาร์เก็ท แม็กซ์แวลู กัวเมต์มาร์เก็ต รวมถึงร้านผลไม้ในย่านต่างๆ รวมถึงร้านขายผลไม้ออนไลน์ ซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท จากนั้น ได้ส่งตัวอย่างองุ่นไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และพบว่ามีสารตกค้างหลายชนิด อยู่ในองุ่นทุกตัวอย่างที่ตรวจ ในปริมาณต่างๆ กัน 

ช่อดอกขององุ่น หลังจากแช่น้ำยาฮอร์โมนพืช ทำให้ช่อดอกยาวขึ้นและผลองุ่นไม่มีเมล็ด

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะน่าแตกตื่นตกใจอะไรกัน กับผลที่แถลงออกมา เพราะถ้าไม่ใช่ผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ทั้งองุ่นไชน์มัสแคทและองุ่นพันธุ์อื่นๆ ก็เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการเพาะปลูกอยู่แล้ว เพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และโรคพืชต่างๆ ที่จะมาทำลายผลผลิต เพียงแต่ว่าการใช้สารเคมีนั้นจะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ใช้ให้ถูกชนิดกับศัตรูพืช และรอให้สารเคมีสลายตัวไปให้มากเพียงพอ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้มีสารเคมีตกค้างในปริมาณที่มากเกินมาตรฐาน จนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ 

ดังนั้น เมื่อฟังผลการแถลงข่าวว่าตรวจเจอสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้และผลผลิตอื่นๆ ทางการเกษตร คำถามที่ต้องตามมาคือ ปริมาณของสารที่ตรวจพบนั้นเมื่อเกิดกว่าเกณฑ์ค่า ‘ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; หรือค่า MRL)’ ที่องค์กรอาหารและเกษตรกรรม (FAO) ของสหประชาติ ได้เผยแพร่ไว้ตามที่กำหนดโดยหน่วยงาน Codex Alimentarius Commission หรือไม่? ซึ่งสำหรับองุ่นนั้น มีการกำหนดค่า MRL ของ CODEX สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide) ไว้นับ 100 สาร ในปริมาณที่แตกต่างกัน (หน่วย มิลลิกรัม/กิโลกรัมองุ่น) ขึ้นกับชนิดของสารเคมีตัวนั้น  

เมื่อเจาะดูรายละเอียดของผลการสำรวจองุ่นไชน์มัสแคทดังกล่าว กลับพบว่าสารเคมีตกค้างที่ตรวจพบนั้น ‘ผ่าน’ เกณฑ์มาตรฐานค่า MRL ของ CODEX ทุกตัวอย่างองุ่นเลย โดยส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์เป็นอันมากด้วย  

ประเด็นปัญหาคือ ในการวิเคราะห์นี้ มีการตรวจสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของ CODEX และทำให้ไม่ได้มีค่า MRL มาตรฐานไว้ให้เทียบ ผู้สำรวจจึงเอาเกณฑ์ ‘ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit)’ ที่มีค่าต่ำมาก เพียงแค่ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (PPM) มาใช้เทียบแทน แต่ถึงกระนั้น ตัวอย่างองุ่นส่วนใหญ่ก็ยังผ่านเกณฑ์นี้อยู่ดี หรือถ้าเกิน ก็เกินไปเล็กน้อย จริงๆ แล้ว มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างจาก 24 ตัวอย่างที่มีสารเคมีตัวหนึ่งตกค้างสูงกว่าค่าลิมิตไปหลายสิบเท่า 

ควรล้างองุ่นด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน เพื่อลดสารเคมีที่อาจจะตกค้างได้ 

ข้อสังเกตนี้ ตรงกับที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมายืนยันว่า ถึงจะพบสารกำจัดศัตรูพืชกว่า 50 ชนิดตกค้างอยู่ในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท แต่ 36 ชนิดนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ CODEX ขณะที่อีก 14 สารที่เหลือนั้นไม่ได้อยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดอันตราย และถ้าใช้ค่ามาตรฐานให้ไม่เกิด 0.01 PPM  ก็พบว่าเกินค่าเพียงแค่เล็กน้อย จึงสามารถนำองุ่นมาบริโภคได้ โดยให้ล้างออกก่อน เพื่อลดปริมาณสารตกค้างดังกล่าว 

สำหรับวิธีการล้างองุ่น ทาง อย. แนะนำให้เอาไปแช่น้ำเปล่า หรือแช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดา (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ในความเข้มข้น 1 ช้อนชาต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมเกลือป่น อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2 ลิตร แช่เป็นเวลา 15 นาทีแล้วเปิดน้ำไหลผ่าน ล้างออกให้สะอาดพร้อมถูลูกองุ่นเบาๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วินาที  

สุดท้าย ขอแถมด้วยว่าถ้าใครได้รับคลิปวิดีโอ เป็นเกษตรกรกำลังเอาช่อดอก-ช่อผลขององุ่นไปจุ่มในแก้วที่ใส่น้ำยา พร้อมคำบรรยายขู่ให้หวาดกลัวว่า เป็นการจุ่มตรงๆ ลงในยาฆ่าแมลง เป็นอันตรายถ้ากินเข้าไป?! ต้องบอกว่า ไม่จริง เพราะสารที่ใช้จุ่มองุ่นนั้นเป็นเพียงแค่ฮอร์โมนพืชชนิดหนึ่งชื่อ ‘กรดจิบเบอเรลลิค (gibberellic acid)’ ที่ไปยับยั้งการพัฒนาของเมล็ดของผลไม้ ทำให้กลายเป็นองุ่นไร้เมล็ด ผลบางลูกใหญ่ บริโภคได้สะดวก และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างไร 


คอลัมน์ คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่องและภาพ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!