รู้ไหมว่าทำไมไดโนเสาร์จึงมีตัวใหญ่เท่าตึก?
มีหลายทฤษฎี
ยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกคือ Triassic, Jurassic และ Cretaceous ราว 250 ล้านปีก่อนจนถึงราว 65 ล้านปีก่อน เป็นช่วงที่อากาศอุ่นกว่าโลกในวันนี้มาก ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ สูงกว่าปัจจุบันถึงสี่เท่า ทำให้พืชเติบโตและมีมากมาย ไดโนเสาร์ที่กินพืชมีอาหารอุดมสมบูรณ์
นี่เป็นทฤษฎีหนึ่ง
อีกทฤษฎีหนึ่งคือระดับออกซิเจนในโลกสมัยนั้นสูงกว่าตอนนี้ ทำให้สัตว์โตกว่าปกติ ทำให้ไดโนเสาร์ตัวใหญ่มาก เหมือนยุค Carboniferous ซึ่งเป็นยุคก่อนมีไดโนเสาร์ ราว 300 ล้านปีก่อน ช่วงเวลานั้นระดับออกซิเจนสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปัจจุบันคือราว 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สัตว์ในยุคนั้นโตมาก แมลงและสัตว์ขาปล้องโบราณมีขนาดใหญ่มาก
แต่ทฤษฎีนี้ถูกยิงตก เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เผยว่า ระดับออกซิเจนในสมัยไดโนเสาร์ครองโลกไม่ได้สูงกว่าโลกของเราในวันนี้
หลักฐานยังพบว่าไม่ใช่ไดโนเสาร์ทุกพันธุ์ที่ตัวใหญ่ ไดโนเสาร์ที่กินพืชตัวเล็ก เช่น Heterodontosaurus และไดโนเสาร์นักล่าที่ตัวเล็ก เช่น Coelophysis
ความจริงคือ ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ตัวเล็ก ตัวยาวแค่ 12-17 ฟุตเท่านั้น
ทำไมสัตว์โลกจึงมีขนาดต่างกันมากขนาดนี้ ใหญ่ยักษ์และเล็กจิ๋ว?
ในหลักวิวัฒนาการ ชีวิตบนโลกปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม บางสายพันธุ์มีขนาดใหญ่ บ้างมีขนาดเล็ก
ธรรมชาติยุติธรรมกับทั้งสัตว์ใหญ่และเล็ก ไม่ว่ามีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็อยู่ในโลกได้ตามวิถีของพวกมัน
โลกมีสัตว์น้ำเล็กจิ๋วเช่น ปลาซิว ปลาเข็ม และมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น วาฬ เล็กหรือใหญ่ก็ว่ายน้ำได้เหมือนกัน นกขนาดใหญ่เช่น อินทรี และขนาดเล็กจิ๋ว เช่น ฮัมมิงเบิร์ด ขนาดแค่ 2-5 นิ้ว ใหญ่หรือเล็กก็บินได้เหมือนกัน
ความแตกต่างระหว่างสัตว์ทั่วไปกับมนุษย์คือ ในสัตว์ทั่วไป ขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นกับความจำเป็นและความอยู่รอด แต่ใหญ่หรือเล็กในสังคมมนุษย์อาจมาจากการเลือกและค่านิยมของสังคม
ในสังคมที่แข่งขันกัน เราก็แข่งในเรื่องใหญ่โตโดยปริยาย เพราะความใหญ่เป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมและมาตรวัดความสำเร็จ การแสดงที่ชัดเจนที่สุดคือผ่านวัตถุ เช่น บ้าน รถยนต์ ของประดับ
การอาศัยอยู่ในบ้านใหญ่ 50 ห้องไม่ใช่เรื่องแปลก หากจำเป็นต้องใช้งาน แต่หากทำเพื่อสนองอีโก้ตนเอง ห้องที่เกินมาก็เป็นแค่ “เครื่องประดับ”
ใช้โถส้วมทองคำแล้วมีความสุข ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าใช้อวดความรวย มันก็เป็นแค่เครื่องประดับ
ถ้าเราสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรในชีวิตของเราเป็นของจำเป็น อะไรเป็นเครื่องประดับ เราก็อาจเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอาจปล่อยวางง่ายขึ้น ผลที่ตามมาก็เป็นมีความสุขทางใจมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการฝึกเขียนหนังสือคือ หากเราตัดข้อความใดข้อความหนึ่งออกไปแล้ว ยังอ่านรู้เรื่อง ก็แสดงว่าข้อความนั้นเป็นส่วนเกิน เป็นแค่สิ่งประดับประดา
หลักนี้ใช้กับชีวิตได้เช่นกัน ว่างๆ เราก็ควรพิจารณาดูสิ่งของรอบตัวเรา แล้วถามตัวเองว่า ถ้าเอามันออกไปจากชีวิตแล้ว เรายังดำรงอยู่ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็แสดงว่ามันเป็นแค่เครื่องประดับ
ชีวิตที่พอเพียงเท่าที่จำเป็น ใช้ชีวิตตามหน้าที่ใช้สอย ก็งดงามได้
วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า Minimalism ใช้ได้ทั้งร่างกาย จนไปจนถึงวิถีชีวิต
กำหนดขนาดของชีวิตด้วยตัวเอง ด้วยความพอดี
เราจะใช้ชีวิตแบบ “ไขมันเกาะหนา” หรือ “ไขมันน้อย” ก็แล้วแต่เรา เพียงแต่เมื่อ “ไขมัน” น้อย ก็อาจคล่องตัว ทะมัดทะแมงกว่า
รู้ไหมว่าขณะที่ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ หัวของมันกลับเล็กมากเมื่อเทียบกับลำตัว
เมื่ออุกกาบาตถล่มโลกจนอยู่ลำบาก สัตว์ใหญ่แข็งแกร่งอย่างไดโนเสาร์กลับตายก่อน สัตว์เล็กรอดมาได้
บางทีธรรมชาติสอนเราว่า ความเล็กปลอดภัยกว่าความใหญ่
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ