อาจารย์คะ
หมอที่รักษาดิฉันแนะนำให้ฉีดยา semaglutide ลดน้ำหนัก ท่านบอกว่าเป็นยาลดน้ำหนักที่ได้ผลดีกว่าวิธีลดน้ำหนักทุกวิธีที่เคยมีมา ทั้งยังเป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคสมองเสื่อมด้วย ดิฉันควรจะฉีดไหม
ตอบครับ
ประเด็นกลไกการออกฤทธิ์ของยา ต้องรู้จักฮอร์โมนสามตัวก่อน
ตัวแรกคือ อินสุลิน (insulin) ซึ่งคอยวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด คือถ้าพบว่ามีน้ำตาลหรือไขมันในเลือดมากก็จะ (1) สั่งให้เซลล์ทั่วร่างกายเปิดรับเอาน้ำตาลและไขมันจากภายนอกเซลล์เข้าไปในเซลล์ (2) กระตุ้นให้เซลล์เผาผลาญกลูโคสออกมาเป็นพลังงาน (3) ถ้าน้ำตาลต่ำก็ทำให้หิว ถ้าน้ำตาลสูงก็ทำให้อิ่ม
ตัวที่สองคือ กลูคากอน (glucagon) เป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ในยามขาดแคลนอาหาร กล่าวคือมันจะออกฤทธิ์ (1) สั่งให้ตับสลายเอาแป้งสำรอง (ไกลโคเจน) เป็นกลูโคสแล้วปล่อยออกมาในกระแสเลือด (2) ยับยั้งเซลล์ในการสร้างพลังงานจากกลูโคสซึ่งกำลังขาดแคลน (3) โปรโมตการสร้างกลูโค้สผ่านวิถีใหม่ (de novo gluconeogenesis) คือแทนที่จะใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบก็เปลี่ยนไปใช้โมเลกุลอื่น เช่น ใช้กลีเซอรอลที่ได้จากไขมันไตรกลีเซอไรด์แทน
ตัวที่สามคือ อินครีติน (incretin) เป็นฮอร์โมนผู้ช่วยของอินซูลินที่มีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน มันช่วยอินซูลินได้ ดังนี้ (1) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง สมองจะสั่งระงับการปล่อยอินซูลิน แต่การปล่อยฮอร์โมนอินครีตินไม่ถูกระงับโดยการเพิ่มระดับน้ำตาล มันจึงยังช่วยทำหน้าที่แทนอินซูลินได้ (2) มันระงับการทำงานของกลูคากอนได้โดยเข้าไปปิดตัวรับกลูคากอน กลูคากอนเลยออกฤทธิ์ไม่ถนัด เหตุที่มันทำอย่างนี้ได้เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกลูคากอน ดังนั้นอินครีตินจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า glucagon like peptide-1 (GLP-1) (3) มันทำให้อิ่ม
ยาเซมากลูไทด์ที่คุณถามมานี้เป็นยาฉีด ซึ่งมีฤทธิ์เสริมการทำงานของ GLP-1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยของอินซูลินนั่นเอง
ถามว่ายาเซมากลูไทด์เป็นยาลดความอ้วนที่ได้ผลดีกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ไหม ตอบว่าไม่หรอกครับ เพราะยังไม่มีงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่จะตอบคำถามนี้ได้
ถามว่ายาเซมากลูไทด์มีผลลดน้ำหนักได้จริงๆ แค่ไหน ตอบว่างานวิจัยพบว่าคนที่ฉีดเซมากลูไทด์ลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มฉีดยาหลอก 11.85% เมื่อฉีดยานานหนึ่งปี แต่ในระยะยาวจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ
ถามว่าควรฉีดยานี้ไหม ตอบว่าควรลดน้ำหนักด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างครบวงจรก่อน เช่นกินอาหารพืชเป็นหลัก เน้นอาหารแบบมีไขมันต่ำควบคู่กับงดอาหารเย็น (IF) และตั้งใจเลิกนิสัยเสพติดอาหารหวานอาหารมันให้ได้ก่อนดีกว่ารีบใช้ยาครับ
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์