โรงงานใหญ่ๆ ในโลกต้องมีโกดังเก็บวัตถุดิบ จักรวาลก็เหมือนกัน ต้องมีวัตถุดิบสำหรับสร้างดวงดาว (ก็คือดวงอาทิตย์) วัตถุดิบเหล่านั้นได้แก่ธาตุต่างๆ เช่น ไฮโดรเจน ฮีเลียม ฯลฯ กองวัตถุดิบเหล่านี้รวมกันดูเหมือนกลุ่มเมฆ จึงเรียกว่า เนบิวลา (nebula) ในภาษาละตินแปลว่าเมฆหมอก
เนบิวลาส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่หลายร้อยปีแสง แต่ละเนบิวลาบรรจุวัตถุดิบมากพอสร้างดวงอาทิตย์ได้หลายร้อยดวง
เมื่อธาตุต่างๆ รวมตัวกัน เกิดเป็นดวงอาทิตย์ เศษธาตุรอบๆ ที่ไม่ได้เป็นดวงอาทิตย์ ก็โคจรรอบดาวที่เพิ่งกำเนิด
เศษธาตุของอะตอมและโมเลกุลเหล่านี้เกาะตัวเข้าด้วยกันกลายเป็นอนุภาคที่ใหญ่ขึ้น อนุภาคเหล่านี้จะชนกันบ้าง ดูดหากันบ้าง จนกลายเป็น ‘ลูกบอล’ เรียกว่า planetesimals
หากแรงดึง planetesimals ไม่แรงไปอ่อนไป มันก็จะรวมกัน และขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ เศษหิน เศษสสารต่างๆ มาเกาะกัน ยิ่งเกาะแน่นก็ยิ่งมีแรง ดึงมารวมกันในรูปของจานของเถ้าฝุ่นและก๊าซ เรียกว่า accretion disk มันไม่หลุดหายไปเพราะแรงโน้มถ่วงของดาวดาวดึงเอาไว้ กินเวลาตั้งแต่ 10-100 ล้านปีก็เกิดดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เกิดใหม่
สังคมมนุษย์เราก็ไม่ต่างจากดาวเคราะห์ คนที่มีความคิดความอ่าน นิสัยใจคอคล้ายกัน หรือเข้ากันได้ มักเกาะตัวรวมกัน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การเกาะรวมกันเป็นธรรมชาติของเรา
คนประเภทเดียวกันมักไหลไปรวมกัน เพราะคุยกันรู้เรื่อง หรือเชื่อเรื่องเดียวกัน
เรียกว่า ศีลเสมอกัน
ศีลเสมอกันไม่ได้มีนัยทางศาสนาหรือความเชื่อเสมอไป เพราะการรวมกันเกาะกลุ่มกันเป็นไปได้ทั้งคนที่ดีเหมือนกัน และเลวเหมือนกัน
ในทางไม่ค่อยดีงาม สำนวนไทยว่า ฝนตกขี้หมูไหล แปลว่าพลอยเหลวไหลไปด้วยกัน บางทีใช้ ‘ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน’ ก็คือการเกาะตัวรวมกันของคนไม่ดี
‘ศีล’ ในที่นี้รวมถึงความคิดความอ่าน นิสัย สันดาน พฤติกรรม การกระทำ ความชอบ รสนิยม มุมมอง โลกทัศน์ ทัศนคติ
เมื่อคล้ายกัน ก็มักเกาะตัวด้วยกัน
คนที่คิดต่างกันคนละขั้ว หรือศีลต่างกัน ยากจะเข้าร่วมกัน เช่น มีมุมมองทางการเมืองต่างกันคนละขั้ว หรือมีความเชื่อเรื่องศาสนาคนละแบบ คนหนึ่งชอบเก็บตัว คนหนึ่งชอบเที่ยวเตร่ คนหนึ่งชอบดื่มเหล้า อีกคนหนึ่งเกลียดเหล้า คนหนึ่งชอบดูกีฬา คนหนึ่งเกลียดกีฬา ฯลฯ
นี่แปลว่าคนที่มีศีลเสมอกันจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขกว่าคนมีศีลต่างกันหรือ? คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะการอยู่ด้วยกันมีปัจจัยมากกว่าแค่ความเหมือนกัน
คนต่างศาสนาต่างความเชื่อก็อยู่ด้วยกันได้ หากรู้วิธีการอยู่ด้วยกัน เคารพกันและกัน
การเกาะตัวยังยกระดับไปในสเกลใหญ่ขึ้น ระดับองค์กร ในเมื่อคนสร้างองค์กร เมื่อคนถูกดูดหากัน องค์กรต่างกันก็เกาะกันได้ ด้วยแรงดูดที่เรียกว่า ‘ผลประโยชน์เสมอกัน’ เห็นชัดมากในการตั้งพรรคการเมือง ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ แล้วค่อยคิดอุดมการณ์หรือจุดขายภายหลัง
บริษัทหลายแห่งก็รวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ บางครั้งอยู่ในรูปของการเชื่อมทองแผ่นเดียวกัน
นี่มิใช่ประเด็นถูกหรือผิด แต่เป็นธรรมชาติของการเกาะตัวกัน
…………………………..
อย่างไรก็ตาม มีทางสายหนึ่งที่ ‘ศีล’ หมายถึงศีลจริงๆ นั่นคือทางสายธรรม ควรหาคนที่มีศีลเสมอกัน เพราะหากศีลต่างกัน จะไปด้วยกันไม่ได้ เช่น คนหนึ่งเห็นว่าทำชั่วไม่เป็นไร ขอให้บรรลุผล อีกคนหนึ่งเห็นว่า ความชั่วก็คือความชั่ว เหมือนถ่านดำ เข้าใกล้คลุกคลีก็เปื้อนมือเปื้อนตัว
ดังนั้นในทางธรรม จึงมีคำสอนว่า หากเดินไปด้วยกัน ควรไปกับคนศีลเสมอกัน หรือสูงกว่า หากหาไม่ได้ ก็จงเลือกเดินไปคนเดียว
นี่คือประเด็น คบคนพาลพาลไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปหาผล
ดังนั้นไม่ว่ามีศีลเสมอกันหรือไม่ เราก็ควรคบแต่คนดี มีศีลธรรม เพราะอยู่กับคนแบบไหน เราก็อาจกลายเป็นคนแบบนั้น เราอาจซึมซับความชั่วมาโดยไม่รู้ตัว
ไม่เช่นนั้นก็เดินคนเดียว
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/