“สาหร่ายพวงองุ่น” เป็นพืชน้ำเค็มอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องด้วยมีคุณค่าทางอาหารสูง มีส่วนประกอบของเกลือแร่และวิตามินหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี 1 บี 2 วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยไอโอดีน ฟอสฟอรัส สังกะสี แคลเซียม และกรดอะมิโนจำเป็นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับไข่และโปรตีนถั่วเหลือง จัดเป็น 1 ใน 5 อาหารแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพ แต่ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกไม่มาก ทั้งนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีได้จัดอบรมเเละส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกสาหร่ายพวงองุ่นเชิงพาณิชย์ สาหร่ายชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเขียวใสมรกต เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 มิลลิเมตร เบียดแน่นรอบแขนงและอยู่ชิดกันเป็นพวงจนดูคล้ายช่อองุ่น จึงเรียกว่าสาหร่ายพวงองุ่น ชื่อภาษาอังกฤษก็คล้ายๆ กันว่า sea grapes ส่วนในญี่ปุ่นเขาเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า Umi-budou แปลว่าองุ่นแห่งท้องทะเล
สาหร่ายพวงองุ่นนี้เป็นสาหร่ายที่แพร่กระจายในเขตร้อนแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก พบมากที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ไทย และปาปัวนิวกินี นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ โมซัมบิก มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เคนยา มอริเชียส และโซมาเลีย สำหรับประเทศไทยนั้นพบมากตามชายทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ในปัจจุบันมีการแพร่ขยายไปทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบน
ตั้งแต่ปี 2536 กรมประมงได้ริเริ่มเลี้ยงสาหร่ายนี้โดยสถานีวิจัยประมงชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้น รับพันธุ์และเรียนรู้จากอาจารย์กาญจนา ลิ่วมโนมนต์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำทางชีวภาพ สำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ต่อมาเมื่อปี 2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีได้รับมอบหมายให้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงเพื่อการขยายผลเชิงพาณิชย์ ศูนย์จึงนำองค์ความรู้ที่สะสมมากว่า 10 ปีพัฒนารูปแบบการผลิตสาหร่ายพวงองุ่นแบบครบวงจร จนในปัจจุบันสามารถเลี้ยงให้มีปริมาณมากและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สม่ำเสมอ คุณภาพดี สะอาด ขยายผลเชิงพาณิชย์เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เหล่าเกษตรกรและผู้ประกอบการนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
สาหร่ายพวงองุ่นนี้มีคุณประโยชน์นานัปการ ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณชายฝั่งรู้จักเก็บมาบริโภคช้านาน ภาษาถิ่นภาคใต้ฝั่งอันดามันเรียก “สาย” โดยนำมาบริโภคสดจิ้มกับน้ำพริกกะปิ หรือน้ำจิ้มซีฟู้ด หรือจะนำมายำกับหมึกหรือกุ้ง ตำส้มตำก็เข้ากันได้ดี ทุกคนที่ได้กินต่างติดใจในรสชาติและเนื้อสัมผัสเมื่อเคี้ยวโดนเม็ดสาหร่ายที่กรุบกรอบ ในต่างประเทศ สาหร่ายนี้ก็เป็นอาหารที่นิยมบริโภคมาเป็นเวลานาน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกหลากหลาย ทั้งใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ปุ๋ย ยารักษาโรค อาหารสัตว์ ในปัจจุบันนิยมบริโภคสาหร่ายนี้กันมากขึ้น เนื่องจากมีคุณค่ามากมาย จัดเป็นอาหารสุขภาพ ในประเทศไทยนั้นรู้จักใช้เป็นอาหารในจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันออก โดยใช้กินแทนผัก
ประโยชน์ของสาหร่ายพวงองุ่น
- เป็นแหล่งรวมของวิตามิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอและวิตามินซี เพื่อช่วยบำรุงสุขภาพ และในเวลาที่ร่างกายเจ็บป่วยไม่สบาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคคอพอก เพราะมีไอโอดีนที่เป็นแร่ธาตุสำคัญ ทั้งยังป้องกันและบรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคไทรอยด์
- เหมาะกับคนที่เป็นโรคหัวใจ เพราะมีปริมาณของแมกนีเซียมสูง ซึ่งจะช่วยลดระดับความดันในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจล้มเหลว รวมทั้งเป็นผลดีต่อโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
- มีเส้นใยอาหารสูง แต่แคลอรีต่ำ เหมาะสำหรับคนที่ควบคุมหรือลดน้ำหนัก แม้จะเป็นสาหร่ายจากทะเล แต่ก็มีปริมาณของโซเดียมต่ำ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
- ช่วยกระตุ้นให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดอาการท้องผูก และลดความเสี่ยงของโรคริดสีดวงทวาร
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและบำรุงผิวพรรณ ลดการเกิดริ้วรอย
- ช่วยบำรุงกระดูก ทำให้กล้ามเนื้อและประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท
- 9. ช่วยรักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย และสามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี
- 10. รักษาความชุ่มชื้นของเซลล์ผิว จึงมีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว เพื่อช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง เต่งตึง ผิวหนังมีความแข็งแรง ไม่หย่อนคล้อยได้ง่าย
สาหร่ายพวงองุ่นสามารถปรุงกินได้หลากหลายแบบ ให้ลองกินสดก่อน โดยล้างด้วยน้ำเปล่าหลายน้ำให้หมดทราย แล้วนำไปแช่น้ำเย็นเพื่อความสดกรอบ จากนั้นเลือกกินกับน้ำจิ้มที่ชอบ จะเป็นน้ำจิ้มพอนสึตามแบบฉบับของญี่ปุ่น รสชาติหวานๆ เค็มๆ หรือจะแซ่บยิ่งขึ้นกับน้ำจิ้มซีฟู้ด เปรี้ยว เค็ม เผ็ด นอกจากนี้ยังสามารถนำไปดัดแปลงเป็นเมนูต่างๆ เช่น ยำ ส้มตำ ซูชิ แครกเกอร์ ใส่สลัด ยัดไส้ ต่างๆ นานา จนติดอกติดใจไปตามๆ กัน
อ้างอิง
ที่มา : https://bit.ly/2AM6GuU , https://www.sanook.com/health/2067/ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1471500156&utm_source=taboola&utm_medium=referral
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี