‘เงิน’ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรกของการดำรงชีวิต
ถึงแม้ฟังดูเจ็บปวด แต่ผมเชื่อว่าคุณก็คงคิดเหมือนกัน หรือต่อให้คิดต่างก็คงแตกต่างกันไม่มากนัก ลองนึกภาพตัวคุณเกิดมาบนโลกโดยปราศจากเงินแม้แต่แดงเดียว ชีวิตคุณย่อมตกอยู่ในภาวะขาดแคลนปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม หรือยารักษาโรค อาจเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างสุดโต่งอยู่บ้าง แต่หากคุณไม่เก็บออมเงินไว้มากพอ คุณก็ต้องเจอกับภาวะอัตคัดขัดสนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่ไร้เรี่ยวแรงจะทำมาหากินอีกต่อไปแล้ว
ย้อนมาพูดคุยกันเรื่องสภาพเศรษฐกิจของโลกใบนี้ดีกว่า ประเทศก็มีลักษณะเหมือนกับครอบครัว ประกอบด้วยคนที่หลากหลาย ต่างเพศต่างวัย แน่นอนว่าในแต่ละบ้านย่อมมีคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้ ส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยทำงานหรือวัยกลางคน ส่วนวัยเด็กหรือวัยเรียนเป็นผู้ใช้จ่ายเพราะยังพึ่งมาตนเองไม่ได้ และเงินที่ใช้ก็มาจากเสาหลักของครอบครัวนั่นเอง
สมัยก่อนครอบครัว ‘ประเทศไทย’ รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ของโลก มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีวัยทำงานค่อนข้างมาก เด็กและคนชราค่อนข้างน้อย ประเทศจึงหาเงินได้อย่างอู้ฟู่ มากพอจะเลี้ยงดูคนที่ไม่สามารถหาเงินได้ โดยผ่านสวัสดิการของรัฐ แต่ต่อมา เมื่ออัตราการเกิดของประชากรโลกลดลงเรื่อยๆ เด็กเกิดใหม่น้อยลง คนที่จะเติบโตไปเป็นวัยทำงานก็ลดลง แต่การแพทย์กลับยิ่งพัฒนาขึ้น มนุษย์มีอายุยืนขึ้น จำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นิยามของ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ตามหลักสากลขององค์การสหประชาชาติ คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่าร้อยละ 10 ประเทศไทยก็เข้าเงื่อนไขดังกล่าว และยังเป็นประเทศแรกของโลกอีกด้วยที่เป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุแต่ยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “แก่ก่อนรวย” ปัญหานี้ยิ่งตอกย้ำให้เราหันมาเห็นความสำคัญของการเก็บเงินสำหรับตัวเองในวัยชรามากขึ้น เพราะหากจะรอให้ลูกหลานหรือรัฐมาชุบเลี้ยงก็คงไม่ได้การ
ในปี 2014 สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจว่าแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในประเทศไทยมาจากไหน และคำตอบที่ได้ก็น่าสนใจทีเดียว กล่าวคือ เงินได้จากบุตร 36.7% รายได้จากการทำงานของตนเอง 33.9% เบี้ยยังชีพจากรัฐบาล 14.8% เงินบำเหน็จบำนาญ 4.9% เงินได้จากคู่สมรส 4.3% และ รายได้จากเงินออมเงินลงทุน 3.9%
คำตอบนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต เพราะอัตราการเกิดยิ่งน้อย อัตราเงินที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ยิ่งสูง แต่ก่อนพ่อแม่มีลูก 5 คน ลูก 5 คนเลี้ยงพ่อแม่ 2 คน แต่ถ้าพ่อแม่มีลูกแค่คนเดียว ลูก 1 คนเลี้ยงพ่อแม่ 2 คน สมัยก่อนคนเป็นลูกอาจส่งเสียพ่อแม่แค่คนละ 5,000 บาทก็เพียงพอ แต่สมัยนี้ หากจะให้พ่อแม่อยู่ได้ อาจต้องส่งเสียพ่อแม่ถึงคนละ 20,000 บาท
ทางออกที่ดีที่สุดอยู่ที่เราแต่ละคนต้องมีแผนการเกษียณของ คุณจำเป็นต้องมีเงินใช้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาใครเลย ทั้งลูกหลาน คู่ชีวิต ครอบครัว หรือแม้กระทั่งรัฐบาล นี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่และท้าทาย เราแค่รู้ตัวว่าจะต้องเตรียมแผนเกษียณของตนเองไว้ล่วงหน้า ที่สำคัญคือยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น
คำถามสำคัญ คือ คุณต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอสำหรับการเกษียณ สูตรการคำนวณเงินเกษียณมีหลากหลาย และแต่ละวิธีก็ให้ตัวเลขที่แตกต่างกัน ได้แก่ (1) การคำนวณแบบใช้เงินต้น คือ คุณเก็บเงินให้ได้ก้อนใหญ่ และแบ่งเงินออกมาใช้จ่ายรายเดือนจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และ (2) การคำนวณแบบใช้ผลตอบแทนจากการลงทุน คือ คุณเก็บเงินให้ได้ก้อนใหญ่ เมื่อเกษียณ คุณเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุน และคุณก็ใช้จ่ายด้วยดอกผลจากการลงทุนนั้น
(1) เงินเกษียณ = เงินใช้จ่ายรายปี x (อายุขัย – อายุเกษียณ)
(2) เงินเกษียณ =
เงินใช้จ่ายรายปี / ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนเงินใช้จ่ายรายปีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน
โดยทั่วไป หากยังไม่ค่อยมั่นใจ หรืออยากได้ตัวเลขเป้าหมายมายึดเป็นภาพใหญ่ ผมมักให้เป้าหมายการเกษียณที่ 9,000,000 บาท เท่ากับมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาทไปเป็นเวลา 30 ปี คุณอาจจินตนาการว่าตัวเองเกษียณสักอายุ 60 ปี ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ออีก 5 ปี และเริ่มหยุดทำงานจริง ๆ สักอายุ 65 ปี ใช้เวลาที่เหลืออีก 30 ปี จนสิ้นชีวิตราวอายุ 95 ปี สำหรับผม อายุขัยโดยประมาณดังกล่าวค่อนข้างเป็นไปได้
ตัวเลข 9,000,000 บาท อาจดูเยอะมากสำหรับหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เริ่มวางแผนการเงินช้า แต่คุณยังมีเครื่องทุ่นแรงด้านการเกษียณอีกหลายอย่างช่วยคุณอยู่ เช่น เงินกองทุนประกันสังคม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จบำนาญราชการ เงินกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไปรวมถึงทรัพย์สินที่คุณสะสมไว้และสามารถขายออกได้ในอนาคต เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเพื่ออยู่อาศัย
การเก็บออมจึงถือเป็นเป้าหมายใหญ่ และเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากด้วย แต่แน่นอน ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ในเมื่อต้องทำอะไรที่ขัดกับความอยากของตนเอง สมองของเราชอบความสุขตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ดังนั้นหากให้สมองเลือกว่านำเงินออกไปใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขวันนี้เลย ท่องเที่ยว กินของอร่อย ซื้อของถูกใจ กับการเลือกเก็บออมไว้เพื่อความสุขยามเกษียณอันแสนไกล สมองมักเลือกตอบสนองอย่างแรก
ทางไปสู่ชีวิตที่เกษียณสุขจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นความสำคัญและเข้าใจคุณค่าของการออมตั้งแต่อายุยังน้อย …ออมไว้เถิดจะเกิดผล ก่อนจะใช้จ่าย อย่าลืมนึกถึงชีวิตของตัวเองในอนาคตอีกสามสิบห้าสิบปีข้างหน้ากันนะ
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: ‘ลงทุนศาสตร์’