Sarah Salola กล้าสู้ กล้าฝัน

-

Sarah Salola หรือ ‘ซาร่าห์’ ศญพร เฮียงโฮม นักร้องสาวมาดเท่จากเชียงใหม่ ที่ดึงดูดแฟนคลับด้วยน้ำเสียงหวานนุ่ม ละมุนใจ ซาร่าห์ปล่อยเพลงแรกซึ่งแต่งเนื้อร้องทำนองด้วยตัวเองชื่อ นะครับ (ได้ไหม) ผ่านช่องทางออนไลน์จนกลายเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่น จากนั้น เธอมีผลงานเพลง cover เพลง โต๊ะริม ของ ‘นนธ์’ ธนนท์ ร่วมกับ DoubleBam และ JIXGO ศิลปินร่วมค่าย การ cover นี้กลายเป็นไวรัล ชื่อเสียงของซาร่าห์ขจรขจายมากขึ้น จนไปไกลถึงแฟนคลับชาวจีน และตามมาด้วยซิงเกิลอีกมาก ได้แก่ เอาใจลงไปเล่น คืนให้ ฯลฯ กว่าจะเป็นซาร่าห์ในวันนี้ เด็กสาวคนนี้ต่อสู้เพื่อความฝันด้วยใจอันแน่วแน่ ทั้งการพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัว และการล่าฝันเพื่อเป็นศิลปิน ซาร่าห์แสดงให้เราเห็นว่า แม้ดูไม่ง่าย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้หนทางที่หนึ่งล้มเหลว ก็ยังมีหนทางที่สองและสามอยู่เสมอ ตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้ ย่อมพบหนทางที่เป็นของเราเข้าสักวัน 

ดนตรี ที่รัก อุปสรรค ที่มี

“ครอบครัวของร่าห์มีกัน 3 คน พ่อ แม่ และร่าห์ เป็นลูกคนเดียวค่ะ คุณพ่อชอบเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก ร่าห์ก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก หยิบกีตาร์ของพ่อมาจับๆ เล่นๆ พ่อไม่ได้สอนจริงจัง สอนแค่คอร์ดจีแล้วก็ไม่สอนต่อ เราสนใจเลยฝึกฝนด้วยตัวเอง” นักร้องสาวเสียงละมุนเล่าถึงเรื่องราววัยเด็กและการก้าวสู่โลกดนตรี 

“เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ขอป๊าซื้อคืออูคูเลเล่ ตอนนั้นร่าห์เรียนอยู่ประถมปลาย กว่าป๊าจะยอมซื้อให้ก็นาน เราต้องไปขอยืมคนอื่นเล่นจนเล่นเก่ง จวนจะเบื่ออยู่แล้ว พอเขาเห็นว่าเราเล่นได้จริงถึงยอมซื้อให้ ช่วงนั้นเราอินมาก เปิดยูทูบฝึกเล่นทุกวันจนอูคูเลเล่แตก จากนั้นก็อยากเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ขึ้น เลยหันมาเล่นกีตาร์ ช่วงแรกร่าห์ดีดกีตาร์แค่ 4 สาย เพราะติดจากอูคูเลเล่ ก็ค่อยๆ หัดด้วยตัวเอง ไม่เคยให้ใครเห็น ที่บ้านค่อนข้างซีเรียสเรื่องเรียน ไม่อยากให้เราทำกิจกรรมเยอะ เดี๋ยวการเรียนจะเสีย ร่าห์เองก็เป็นคนไม่กล้าเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ ตอนเด็กๆ เราพูดไม่เก่งด้วย เราไม่สามารถสื่อสารว่าทำไมถึงอยากได้เครื่องดนตรี ทำไมถึงอยากเล่น เอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง เอาแต่พูดทื่อๆ ว่าอยากได้ แล้วพอเขาไม่ให้ เราเป็นเด็กหัวแข็งก็ไม่ง้อ ไม่ให้ก็ไม่เอา เลยแอบฝึกจากกีตาร์เก่าของพ่อไปตามประสา จนวันหนึ่ง จำได้ว่าร่าห์สอบตกวิชาภาษาจีน แต่พ่อพาไปซื้อกีตาร์ เพราะสัญญากับเราไว้ ดีใจมาก คนอื่นกอดตุ๊กตา ร่าห์กอดกีตาร์ ทุกครั้งที่หยิบกีตาร์ขึ้นมาจะรู้สึกอุ่นใจ 

  นอกจากดนตรี บาสเกตบอลเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ซาร่าห์ทุ่มเท “ถ้าชอบอะไรแล้วจะมุ่งมั่นจริงจัง บาสนี้ก็เกือบได้เป็นตัวแทนโรงเรียน ติดตรงที่ป๊าไม่อนุญาต เขาไม่ให้เล่น เราก็แอบเล่น พักกลางวันก็ใส่รองเท้านักเรียนไปเล่นกับเพื่อนผู้ชาย จนรองเท้าขาด และป๊าสั่งห้าม ตอนนั้นตัวดำเพราะเอาแต่เล่นบาส นั่งหลังห้อง การเรียนก็ไม่ค่อยดี  ร่าห์เอาแต่ใจตัวเอง ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่ชอบ ก็ไม่เอาเลย อย่างภาษาจีน จริงๆ ร่าห์ไม่ได้เกลียดภาษาจีนนะ แต่มีจุดฝังใจที่อาจารย์ไม่ค่อยยุติธรรม เราก็เลยไม่ชอบเรียน”

จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อแม่บังคับให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ “ตอนนั้นร่าห์ได้เกรดภาษาอังกฤษ 1.5 ร่าห์เรียนไบลิงกัว มีวิชาภาษาอังกฤษหลายวิชา โชคดีที่อาจารย์เขาแปลเนื้อเพลงมาสอนเรา เราชอบดนตรีอยู่แล้วก็เลยสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ร่าห์ร้องเพลงสากล ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยร้องให้ใครฟัง เพราะไม่มั่นใจ พอเรามั่นใจกับการร้องเพลงสากล ก็กล้าร้องให้คนฟัง ทุกครั้งที่ร้องเพลง รู้สึกว่าเราสื่อสารได้อย่างมั่นใจมากกว่าตอนพูด พอขึ้น ม.ปลาย เรารู้อยู่แก่ใจชัดเจนว่าชอบดนตรีจริงๆ เป็นสิ่งที่อยากทำมากที่สุด  แต่ภาพที่ทุกคนเห็นคือ ร่าห์ไม่เรียน เอาแต่ทำกิจกรรม 

“ตอนนั้นเราแอนตี้พ่อกับแม่มาก มีความไม่เข้าใจกัน เรารู้สึกว่าเขาไม่รับฟังเราเลย สิ่งที่เราชอบไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือบาส เราต้องแอบทำ ทั้งที่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งไม่ดีเลย ตอน ม.ปลาย ร่าห์เขียนเพลง นะครับ (ได้ไหม) เพลงแรกในชีวิตของร่าห์ เขามารู้ทีหลัง จากที่เคยห้ามไม่ให้ทำ อยากให้เราโฟกัสเรื่องเรียน ไม่เชื่อว่าเราจัดการได้ คราวนี้กลายเป็นอยากช่วย แต่วิธีการของพ่อกับแม่ไม่เข้ากับความต้องการของเรา เลยรู้สึกไม่ดีและมีปากเสียงกัน ก็ขุ่นใจกันเรื่อยมา

“พ่อกับแม่เขาหวังดีอยากให้เราทำในสิ่งที่ชอบแบบเป๊ะๆ เลย ชอบร้องเพลงใช่ไหม เดี๋ยวจัดการให้ทำตามที่บอกจะได้ไม่พลาด ร่าห์เข้าใจความเป็นห่วงเพราะเราก็เป็นลูกคนเดียวด้วย แต่พอเราอยู่ในกรอบที่ถูกบีบคั้นมากๆ ก็อยากหนีออกไป ไม่ได้อยากทำสิ่งไม่ดี แค่อยากมีอิสระบ้าง พอเข้ามหา’ลัย ที่เชียงใหม่ ร่าห์ทำงานร้องเพลงกลางคืน พ่อกับแม่อนุญาตให้ทำ ทว่าต้องอยู่ในสายตาเขา กลับบ้านตรงเวลา ร้านที่ไปร้องต้องเป็นร้านที่ป๊ารู้จัก แม้เปิดโอกาสให้ทำก็ยังแฝงการควบคุมไว้ เราก็ทนอยู่ในสภาพนั้นจนถึงจุดแตกหัก เราชัดเจนว่ารักดีแน่นอน แต่ครอบครัวกลับคิดว่าเราจะเสียผู้เสียคน เมื่อร่าห์ทำไม่ถูกใจ  

ก็ใช้วิธียึดเครื่องดนตรีของร่าห์ไป เลยตัดสินใจออกจากบ้านมาใช้ชีวิตทำงานหาเงินเอง เป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้”

การตัดสินใจครั้งสำคัญ
อารมณ์ตอนที่ออกจากบ้านก็เป็นความหุนหันของเด็ก ไม่คิดหน้าคิดหลัง แค่อยู่ตรงนั้นไม่ไหวแล้ว ช่วงแรกยังติดต่อแม่อยู่ ขอเงิน 6,000 บาทเป็นค่าหอก่อนได้ไหม เราอยู่กับเพื่อนไม่ได้เพราะต้องทำงาน แม่ก็ไม่ให้ เขาอยากให้กลับบ้าน ตอนนั้นร่าห์มีแฟน ซึ่งเขาคอยสอนและซัปพอร์ตร่าห์ทุกอย่าง กลางคืนร่าห์ทำงานร้องเพลง กลางวันก็ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านกาแฟ ได้เงินเดือนหมื่นห้า พออยู่ได้ แต่เริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ร่าห์ออกไปร้องเพลงเล่นกีตาร์โปร่งคนเดียว ทำงาน ได้เงินมาก็จ่ายค่าหอ จ่ายค่าเล่าเรียน มันจำเจจนร่าห์ไม่มีความสุข เราไม่อยากอยู่แค่ตรงนี้ อยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น จนได้รับการติดต่อจากค่าย Marr ก็ตัดสินใจเข้าค่าย เราอยากหาคนช่วยสอน ช่วยแนะแนวทางให้ พ่อแม่เราไม่ซัพพอร์ต เราออกจากบ้านไม่มีตังค์ เราต้องหางานทำ เราอยากมั่นคง” 

พออายุ 20 ปีบริบูรณ์ซาร่าห์ก็เซ็นสัญญากับค่าย Marr แล้วลาออกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว รวมทั้งกลับไปผสานรอยร้าวกับครอบครัว “หลังจากเซ็นสัญญาก็บอกพ่อกับแม่ เขาจะมายกเลิกสัญญาด้วย แต่ไม่ทันแล้ว หนูเซ็นไปแล้ว อันที่จริงเขาเป็นห่วงเราแหละ ก็ได้กลับมาคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน นัดครอบครัวและทีมงานในค่ายมาคุยกัน พี่ทีมงานสัญญาว่าต่อจากนี้จะดูแลร่าห์ให้เอง พ่อกับแม่เลยสบายใจ แล้วก็ตัดสินใจลาออกจากมหา’ลัย เพราะยากที่จะอยู่เชียงใหม่และรับงานแค่ภาคเหนือ จึงขอให้ป๊าเซ็นยินยอมการลาออก ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดี เหมือนได้พ่อแม่ใหม่เลย (หัวเราะ) ปัญหาครอบครัวที่ผ่านมาเพราะเขาไม่สื่อสาร ภายหลังแม่บอกกับร่าห์เองว่า เป็นความผิดของเขาเองที่ไม่พูด ไม่อธิบาย เพราะคิดว่ายังเด็ก คงรับไม่ไหว แต่เด็กมันรู้เรื่องนะ ต่อให้แม่ไม่อยากให้รู้ แต่เราก็เห็นเขาแอบร้องไห้ เราก็รู้ด้วยตัวเองอยู่ดี”

ทุกวันนี้ซาร่าห์เป็นเสาหลักให้ครอบครัวแล้วรึยัง “ไม่รู้เหมือนกันค่ะ แต่เรารวยกว่าพ่อแม่แล้ว คิดว่านะ เพราะรายได้เขาก็ไม่เยอะขนาดนั้น ที่ผ่านมาเขาส่งเราเรียนแพงๆ เสียเงินอะไรให้เรา ร่าห์ก็อยากคืนให้ ทุกวันนี้ร่าห์ส่งเงินให้ที่บ้าน ทุกครั้งที่โอนให้แม่ก็รู้สึกเท่มาก เขาไม่ได้ขอ แต่เราอยากให้ เขาก็คิดแต่จะเก็บไว้ให้เรา จนร่าห์ต้องคอยบอกให้เขาเอาไปใช้เถอะ”

การตัดสินใจเป็นนักร้องสังกัดค่ายเพลงนั้น ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แล้วรึยัง “ถ้าเรื่องความต้องการพัฒนาตัวเอง ตอนนี้ยังไม่บรรลุเป้า แต่ก็พัฒนาไปหลายด้านแล้ว เช่น การเล่นโซเชียลมีเดีย ร่าห์ไม่เคยเล่น ค่ายก็สอนให้เล่น และเรื่องอื่นๆ ที่ร่าห์เคยลิสต์ไว้ก่อนเข้าค่าย เช่น ร่าห์อยากมั่นคง วันนี้ก็มั่นคง และอยากมั่นคงมากขึ้นอีก อยากปรับความเข้าใจกับครอบครัว วันนี้ก็สำเร็จแล้ว 

ความเป็น Sarah Salola

“เดิมชื่อเล่นว่าครีม แต่คุณลุงชอบดาราดังชื่อซาร่าห์ และไม่อยากให้หลานมีชื่อเล่นพยางค์เดียว กลัวจะมีคนเติม ไอ้ อี หน้าชื่อ เลยเปลี่ยนเป็นซาร่าห์ ส่วนซาโลล่าคือนามแฝงสมัยเป็นศิลปินอิสระ spsalola sp จากชื่อจริง ศญพร salola คือชื่อที่พ่อชอบเรียก ค่ายเห็นว่าใช้ชื่อ Sarah Salola ดีกว่า คนที่รู้จักเราตั้งแต่เป็นศิลปินอิสระก็จะจำได้ด้วย”

ดนตรีในแบบของซาร่าห์ ซาโลล่า เป็นแบบไหน เราถามศิลปินสาว “เป็นการทดลองและค้นพบ ที่ผ่านมาร่าห์สบายใจกับกีตาร์โปร่งและแนวดนตรีอะคูสติก แต่พอเป็นศิลปินในค่ายก็มีโอกาสทดลองหลายอย่าง เพิ่งรู้ตัวว่าเราทำอะไรได้หลากหลาย แนวเพลงของร่าห์ตอนนี้จึงไม่จำกัดแค่แนวใดแนวหนึ่ง ร่าห์ว่าร่าห์ทำได้ทุกอย่าง และยังไม่เจอสิ่งที่อยากหยุดในตอนนี้ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้อินกับอะไร คงเป็นดนตรีร็อกที่จังหวะหนักแน่นขึ้น ปีที่แล้วร่าห์เป็นสายชิลล์ เชียงใหม่ซาวนด์ ปีนี้ก็อยากจะเพิ่มความเข้มข้นทางดนตรี

ซาร่าห์เล่าถึงการมีส่วนร่วมในงานเพลง แม้จะไม่ได้เขียนเพลงเองแต่ก็มีส่วนแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน “พี่ที่เขียนเพลงจะส่งเดโมมา แล้วถามร่าห์ว่าอยากแก้คำไหนไหม หรือเขาจะร้องไกด์มาก่อน เรามาปรับเป็นตัวเองร้องกับกีตาร์แล้วส่งกลับให้เขา ร่าห์ไม่ชอบตรงไหนก็สามารถปรับได้ เดโมอาจร้องด้วยการตีความคนละแบบกับร่าห์ก็ได้ พอเข้าสู่พาร์ตดนตรี ก็คุยกันว่าอยากให้ใครทำดนตรี ปรึกษากันตลอด”

ชื่อเสียงที่มาอย่างไม่ทันตั้งหลัก

ความตั้งใจของซาร่าห์คือการเป็นศิลปิน แต่สิ่งที่เธอไม่ได้คาดไว้คือชื่อเสียงซึ่งมาพร้อมกับความกดดัน “ร่าห์ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้มาก่อนเลย ร่าห์ฝันแค่อยากเป็นศิลปิน มีเงิน มีงาน มีความมั่นคง ร่าห์ไม่อยากเป็นคนดัง แค่ทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ปีครึ่งที่ผ่านมาต่างจากที่คิดมาก คนรู้จักเราเยอะขึ้น อะไรที่ไม่เคยเจอก็เจอ ร่าห์กลายเป็นคนนิสัยแบบที่ไม่อยากเป็น กว่าจะมานั่งพูดได้ปกติแบบนี้ ร่าห์ต้องปรึกษาแพทย์และกินยา ปัญหาเกิดจากพื้นฐานร่าห์เป็นคนคิดมาก แคร์ทุกคน แต่พอเราอยู่ตรงนี้เราแคร์ไม่ได้ เราเป็นแค่เด็กน้อยที่ไม่มีประสบการณ์ บางอย่างก็รับไม่ไหว ได้แต่เก็บไว้ข้างใน แล้วคิดว่าต้องทำให้ดีกว่านี้ ทำงานให้เยอะเข้าไว้ แต่จริงๆ คือ เราต้องรู้จักบาลานซ์ชีวิตทั้งตัวเองและคนรอบข้าง รับมือกับการเป็นคนดังให้ได้”

“เรื่องที่ประทับใจก็มี ไม่ได้มีแต่เรื่องหนักใจ” นักร้องสาวเสียงละมุนกล่าว “มีครั้งหนึ่งแฟนคลับรวมเงินกันให้ร่าห์ได้ขึ้นจอใหญ่ที่ MBK เราเป็นใครก็ไม่รู้ นิสัยก็ค่อนข้างแปลก แฟนๆ เขารู้จักเราจริงๆ ใช่ไหม ถึงเสียเงินให้ร่าห์ได้มีหน้าขึ้นไปอยู่ในจอนั้น แล้วร่าห์ก็ไม่เคยใฝ่ฝันจะอยากได้ตรงนั้นเลย พอได้มาก็เกิดความดีใจแบบแปลกๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะดีใจขนาดนี้ และกดดันในช่วงแรก แต่ตอนนี้ก็ปล่อยวางแล้ว แฟนที่ชอบเราคงรับเราในแบบที่เราเป็นจริงๆ”

แตกสลายเพื่อเกิดใหม่

น้อยคนนักจะรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยเธอประกวดร้องเพลงและไม่ผ่านเข้ารอบ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ฝังใจเธอ จนเธอเลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระและปล่อยเพลงเอง “ร่าห์เคยประกวด The Voice สองปี ไปถึงรอบ blind audition แล้วก็ตกรอบ ปีแรกร่าห์เด็กที่สุดอายุแค่ 16-17 ปี เรารู้สึกตื่นเต้น พ่อกับแม่ก็ซีเรียส พอตกรอบ ปีที่สองก็กลับไปอีก รู้สึกตัวเองพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังไม่ผ่านอีก คราวนี้เราผิดหวังมากๆ จำได้ว่าเราต้องเดินออกแล้ว เพราะเราไม่ผ่าน พี่โปรดิวเซอร์วิ่งมาตบไหล่ร่าห์ที่กำลังร้องไห้ บอกว่าชอบร้องเพลงก็อย่าหยุดร้องนะ จากนั้นร่าห์ถามตัวเองซ้ำๆ ว่าเราไปแข่งเพื่ออะไร ได้อะไรบ้าง และรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับเวทีประกวด การประกวดไม่ผิด แต่เราแค่ไม่เหมาะ จากนั้นเลิกแข่งเลย และเป็นจุดเริ่มต้นที่หันมาปล่อยเพลงเอง แล้วรับฟีดแบ็กจากคนฟังโดยตรง

“พอร่าห์เข้าค่ายเพลง ร่าห์ได้เจอรุ่นพี่ที่เคยประกวดด้วยกัน คือพี่มาง วง Bamm ร่าห์เคยคุยกับแม่พี่มางด้วย พี่มางเขาเป็นสายประกวด การโคจรมาเจอกันทำให้ร่าห์ตระหนักว่า ไม่จำเป็นที่เส้นทางจะมีแค่การประกวดเท่านั้น หากเส้นทางนั้นท็อกซิก ไม่เหมาะกับเรา ก็ไม่ต้องฝืน ยังมีเส้นทางอีกมากมายให้เลือกเดิน เหมือนร่าห์กับพี่มาง ซึ่งต่างคนต่างมาคนละแบบ แต่สุดท้ายเราก็มาบรรจบกันที่การเป็นศิลปิน”

ซาร่าห์เล่าให้เราฟังอีกว่า ในวันที่เหนื่อยล้าและอยากยอมแพ้ เธอปล่อยความรู้สึกอ่อนแออันท่วมท้นจนสุดแรง แล้วค่อยฟื้นกำลังใจภายหลัง “ถ้าให้ตอบตามจริง ร่าห์เป็นแบบนี้คือ ร่าห์ต้องแตกสลายไปก่อน เหมือนตอนที่ตัดสินใจออกจากบ้าน และตอนมีชื่อเสียงแรกๆ ดำดิ่งจนแตกสลาย ให้ซาร่าห์คนเดิมแหลกละเอียด แล้วเกิดเป็นซาร่าห์ร่างใหม่ เพราะไม่มีใครอยากให้ตัวเองอยู่ในจุดต่ำสุดแบบนั้น ความคิดที่ไม่อยากอยู่ตรงนี้ ขอไปจากตรงนี้ จะพาเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”

ซาร่าห์ในเวอร์ชันที่เธอบอกว่าเป็นซาร่าห์คนใหม่แล้วนั้น เล่นดนตรีด้วยความเบาสบาย และอิ่มสุขมากขึ้น “มีช่วงหนึ่งที่ไม่อยากเล่นอีกแล้ว มันท็อกซิกไปหมด แต่ตอนนี้เรามีแต่ความรู้สึกอยากออกไปทำงาน อยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับดนตรี กลับไปมีความรู้สึกเดียวกันกับช่วงมัธยม ตอนนี้ร่าห์ค้นพบว่าเราไม่ต้องพยายามเอาใจใครให้สนุก ทว่าถ้าเราสนุกจากภายใน เราสนุกกับทีมงาน เชื่อว่าคนภายนอกที่ดูจะรับรู้ได้เอง”

เป้าหมายของปีนี้กับมุมมองที่เติบโตขึ้น “ร่าห์อยากเป็นศิลปินที่ดีตามอุดคติของตัวเอง แต่อุดมคติของร่าห์ต้องหาจุดร่วมกันกับค่ายด้วย เพราะศิลปิน ซาร่าห์ ซาโลล่า ไม่ได้เกิดจากร่าห์คนเดียว แต่ประกอบขึ้นจากหลายๆ คนรวมกัน ร่าห์ก็จะหารือกับเขาว่าอยากทำอะไร จะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร เปรียบเทียบกับอะไร เพื่อที่เราจะได้เดินไปถึงอุดมคติที่ฝันด้วยกัน” ส่วนเป้าหมายระยะไกลที่อยากให้สำเร็จ คือการเปิดร้านกาแฟ “อยากมีธุรกิจส่วนตัว งานหลักคือร้านกาแฟ แล้วให้ดนตรีเป็นงานอดิเรก น่าจะเท่มากเลยนะ ทุกวันนี้ที่ทำอยู่ก็เพื่อเงิน แต่มัวเก็บเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบาลานซ์ชีวิตด้วย ได้ทำงานและใช้ชีวิตควบคู่กันไป นั่นคือสุดยอดนะ”


Oakwood Studios Sukhumvit, Bangkok

????? ???? ???????, ???? ???!

? (+66) 02 009 5700

? reservations.studios-bangkok@oakwood.com

Address: Soi 70, Sukhumvit 36, Klongton Sub-district, Klongtoey, 10110, Bangkok, Thailand

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!