นิยายเรื่องเสาร์ห้า ของ “ดาเรศร์” นามปากกาของคุณประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาแล้ว รวมสามครั้ง ครั้งล่าสุด เสนอฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 กล่าวได้ว่านิยายเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่มี “บทบาท” น่าสนใจเรื่องหนึ่งในวงวรรณกรรมและสื่อบันเทิงไทย
ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร นอกจากจะเป็นนักกลอนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในช่วงทศวรรษ 2510 แล้ว ยังเป็นนักเขียนแนวบู๊ ลงในนิตยสารบางกอกหลายเรื่อง ผลงานเด่นๆ เช่น เสาร์ห้า, ขวางทางปืน, นักเลงทรงกลด ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องได้นำมาผลิตเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างสูง
ในปัจจุบัน นิยายแนวบู๊ล้างผลาญ มิได้รับความนิยมจากนักอ่านเหมือนแต่ก่อน ยิ่งเมื่อนิตยสารที่เป็นพื้นที่หลักของนิยายแนวนี้ปิดตัวลง ช่องทางในการเผยแพร่ก็ถูกปิดลงโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปเมื่อห้าทศวรรษก่อน นิยายแนวบู๊ ซึ่งเขียนเอาใจผู้อ่านชายเป็นหลักนั้น มีสถานะที่มั่นคงและมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในกระบวนการสร้างและเสพวรรณกรรมไทย
ทั้งนี้เป็นเพราะบริบททางการเมืองไทย ในช่วง พ.ศ.2500–2519 เกิดกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แพร่ไปทั่วในกลุ่มประเทศอินโดจีน รัฐบาลไทยกลัวว่าประเทศไทยจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงปลุกกระแสชาตินิยมผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” อาทิ เพลงปลุกใจ โปสเตอร์ให้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ตามพื้นที่สาธารณะ การสร้างวัตถุมงคลป้องกันภัยในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ภาพยนตร์ และวรรณกรรม นิยายเรื่องเสาร์ห้า เป็นหนึ่งในกระแสชาตินิยมทางวัฒนธรรม ท่ามกลางนิยายแนวบู๊รักชาติจำนวนมากมายในห้วงเวลาดังกล่าว
ในแง่วรรณกรรม ช่วงสองทศวรรษดังกล่าว เกิดนิยายแนวบู๊จำนวนมากมาย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรลับจากต่างชาติ ที่มุ่งทำลายการปกครองและความสงบสุขภายในชาติ กล่าวถึงนายทุนค้ายาเสพติด ของเถื่อน รังแกคนจน และเข้าร่วมกับข้าราชการเอาเปรียบประชาชน ต่อมานิยายเหล่านี้ ได้นำไปผลิตเป็น “หนังไทย” ซึ่งจะต้องมีความสนุกครบรส ทั้งบู๊ ชีวิต ตลก แน่นอนว่าต้องมีเนื้อหาเชิดชูคนดี เสียสละและกล้าหาญเพื่อรักษาอธิปไตยและความสงบสุขของสังคมไว้ชั่วนิรันดร์
นิยายเรื่องเสาร์ห้า ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม ในปี พ.ศ.2519 อันเป็นที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้แทรกซึมไปทั่วประเทศ เป็นปีที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา ความขัดแย้งพัฒนาไปถึงขั้นแตกหัก ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนว่ากระแสความขัดแย้งและอิทธิพลจากลัทธิต่างชาติได้ปูกระแสในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว ปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ “ดาเรศร์” เขียนนิยายเรื่องเสาร์ห้าขึ้นมา และหลังจากมีการพิมพ์รวมเล่มได้ไม่นาน ก็มีการนำนิยายเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
ผู้ประพันธ์ได้สร้างแกนเรื่องเสาร์ห้า เหมือนนิยายบู๊รักชาติทั่วไป คือมีองค์กรลับจากต่างชาติ ชื่อ “องค์กรจาร์ก้า” แฝงตัวอยู่ในประเทศไทยและมุ่งทำลายล้างการปกครองของไทย ซึ่งก็น่าจะหมายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง องค์กรนี้อยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้แน่ชัด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองที่จะต้องหาทางปราบปรามให้สิ้นซาก
“ดาเรศร์” ได้นำความเชื่อทางพุทธศาสนา มาผูกเรื่องเพื่อสร้างให้ตัวละครเอกเป็น “ฮีโร่” ของเรื่อง โดยใช้ความเชื่อเรื่องวันเสาร์ห้า อันหมายถึงวันเสาร์ที่ตรงกับวันข้างขึ้นหรือข้างแรมห้าค่ำ ถือว่าเป็นวันแรง มักจะนิยมทำการมงคลปลุกเสกพระเครื่อง เด็กที่เกิดในวันเสาร์ห้า จะเป็นคนเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ไม่กลัวตาย แต่ถ้าหากเกิดวันวันเสาร์ห้าที่ตรงกับโจรฤกษ์ เด็กที่เกิดมาวันนี้จะเป็นโจรดุร้ายและเป็นภัยต่อประเทศชาติได้ เกิดแนวคิดนำเด็กที่เกิดวันเสาร์ห้าโจโรฤกษ์มาเลี้ยงดู กล่อมเกลาให้อยู่ในศีลในธรรมและปฏิบัติสมาธิอย่างเคร่งครัด เด็กห้าคนยังมีพระเครื่องยอดนิยมของไทยทีหลวงพ่อให้ไว้เป็นวัตถุมงคลประจำตัว จนต่อมากลายเป็น “นามสกุล” ของแต่ละคนไป ได้แก่ เทิด ยอดธง, เดี่ยว สมเด็จ, ยอด นางพญา, กริ่ง คลองตะเคียน, ดอน ท่ากระดาน ซึ่งล้วนแต่เป็นสุดยอดพระเครื่องของไทย
ผู้ประพันธ์ยังเสริมความพิเศษให้แก่ฮีโร่ด้วยการให้มีความพิเศษ โดยอาศัยปาฏิหาริย์ในทางพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็น “อาวุธ” ต่อสู้กับเหล่าร้าย ได้แก่ การได้หูทิพย์ ตาทิพย์ หายตัว เคลื่อนไหวเร็วแบบลิงลม มีหมัดเหล็ก ชกใครก็ตายหมด เป็นต้น แนวคิดเรื่องเสาร์ห้า จึงไม่ต่างจากนิยายแนวฮีโร่ หรือการสร้างวีรบุรุษ เพื่อมาปราบเหล่าร้าย อันเป็นแนวคิดในเรื่องเล่าสากลทั่วโลก
เมื่อพิจารณาเนื้อหาหลักๆ แล้ว จะเห็นว่านิยายบู๊แนวรักชาติได้ผสานแนวคิดสองอย่างเข้าด้วยกัน คือแนวคิดเรื่องชาตินิยม กับแนวคิดเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยนำเสนอผ่านการสร้างตัวละครเอกที่เป็นฮีโร่แบบไทยๆ แนวคิดทั้งสองอย่าง เมื่อผสานเข้าด้วยกันแล้ว จึงมีลักษณะเป็น “พุทธชาตินิยม” อันมีแนวคิดที่น่าสนใจว่า พุทธศาสนา นอกจากจะเป็นหลักปฏิบัติของชาวพุทธในประเทศไทยแล้ว ยังสามารถปกป้องภยันตรายต่างๆ ได้ด้วย แม้ภยันตรายนั้น มิได้เกิดกับปัจเจกบุคคล แต่เกิดกับ “รัฐ” พุทธศาสนาก็ยังปกป้องได้ ซึ่งเป็นการปกป้องด้วยปาฏิหาริย์ที่เกิดจากการปฏิบัติทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด การเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ประพฤติชั่ว และการปกป้องนั้นก็เกิดจากอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเครื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในความรับรู้ของคนไทยทั้งประเทศ จนกล่าวได้ว่าเสาร์ห้าเป็นนิยายบู๊ล้างผลาญ ที่มีตัวละครฮีโร่แบบไทยๆ มีของวิเศษประจำตัว และตัวละครฮีโร่มีความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดสากลของนิทานทั่วโลก นิยายเรื่องเสาร์ห้าจึงเป็นการนำพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมาแก้ไขวิกฤติทางการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จะพบว่าการประท้วงทางการเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม มักจะมีการทำพิธีกรรมต่างๆ ในเชิงไสยศาสตร์ให้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ แล้ว เสาร์ห้าก็นับว่าเป็นนิยายที่ทันสมัย ไม่ตกขบวนการเมืองเลย แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะผ่านมากึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: https://www.facebook.com/Ch7HDDramaSociety