จากเดิมที่ไม่เคยนิยมใช้กัน แต่เดี๋ยวนี้ “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” กลับกลายเป็นสินค้าที่แทบทุกบ้านมีติดเอาไว้ หลายคนนำติดตัวใส่กระเป๋าใส่รถยนต์ พกพาไปด้วยเวลาออกนอกบ้าน เพื่อเอาไว้ใช้ฆ่าเชื้อโรคร้ายที่กำลังเป็นที่หวาดกลัวกันไปทั่ว คือ เชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งอาจจะติดมากับมือของเรา เมื่อไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีละอองน้ำลายของผู้ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเราเผลอเอามือที่ไม่สะอาดนั้นมาโดนหน้าโดนตาโดนปากจนติดโรคได้
จริงๆ แล้ว เจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดมือของเรานั้น มีใช้ มีจำหน่ายมานานแล้ว ดังปรากฏข้อมูลว่า ใน ค.ศ.1966 นาง Lupe Hernandez พยาบาลชาวอเมริกัน ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายนอกร่างกาย เพื่อใช้แทนการล้างมือในเวลาที่ไม่สะดวก หรือไม่อาจหาน้ำและสบู่มาใช้ล้างมือได้
ตามประกาศขององค์การอาหารและยา (อ.ย.) เจลล้างมือต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่ร้อยละ 70 ขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่า ถึงจะมีการระเหยบ้าง แต่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเจลก็ยังมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรค ด้วยการทำลายสารโปรตีนตรงส่วนที่เยื่อหุ้มหรือเปลือกหุ้มของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคนั้น ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ในการทำเจลล้างมือนั้น โดยมากเป็นชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า เอทานอล (ethanol) แต่มีความปลอดภัยในการนำมาใช้กับร่างกาย มีความเป็นพิษต่ำกว่าแอลกอฮอล์ชนิดเมทิลแอลกอฮอล์ (หรือเมทานอล) มาก แต่ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่เช่นกันในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีความต้องการใช้เจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคเพิ่มขึ้นกะทันหัน จนเกิดการขาดแคลนเอทิลแอลกอฮอล์ขึ้น และมิจฉาชีพก็เริ่มเอาเมทิลแอลกอฮอล์มาบรรจุขวด ติดฉลาก หลอกขายว่าเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งอันตรายมาก
วิธีการเบื้องต้นในตรวจสอบว่า เจลแอลกอฮอล์ (หรือแอลกอฮอล์น้ำ) ที่ซื้อมานั้น เป็นของจริงหรือเปล่า ควรเริ่มจากการดูฉลากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ มีการเขียนฉลากยี่ห้ออย่างชัดเจน บอกแหล่งผลิต เลขทะเบียนสินค้า วันที่ผลิตและวันหมดอายุ ฯลฯ เพื่อให้ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เป็นแค่ฉลากพิมพ์อย่างลวกๆ แปะขวด
การที่จะตรวจว่า เจลแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ถึงร้อยละ 70 ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น เราคงไม่อาจทำเองได้ ต้องพึ่งพาห้องปฏิบัติการทางเคมีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการทดสอบว่า เจลแอลกอฮอล์ดังกล่าวมีเมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม และจะเป็นอันตรายแก่ผู้ที่นำมาใช้หรือไม่ ก็สามารถใช้วิธีการทางเคมีง่ายๆ คือ นำด่างทับทิม 1 เกล็ด ผสมกับน้ำส้มสายชู1/2 ช้อนชา จะได้สารละลายสีชมพูบานเย็น แล้วนำไปผสมกับแอลกอฮอล์ที่สงสัย ในอัตราส่วน 1:3 ถ้าสีจางลงภายใน 15 นาที แสดงว่าเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ (หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์) แต่ถ้าทิ้งไว้นานกว่านั้น ก็ยังไม่เปลี่ยนสี แสดงว่าน่าจะเป็นเมทิลแอลกอฮอล์
ส่วนวิธีอื่นๆ ที่แชร์กันในโลกโซเชียล เกี่ยวกับการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม หรือมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่มากหรือน้อย ไม่ว่าจะเป็นการเอาไปจุดไฟ ดูว่าติดไฟหรือไม่ หรือการเอาเจลแอลกอฮอล์ไปทาบนใบเสร็จรับเงิน ดูว่าหมึกบนใบเสร็จละลายหรือไม่ หรือการนำไปเขย่าดูว่ามีฟองมากฟองน้อย หรือวิธีอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะผลการทดสอบนั้นอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์นั้นผสมสารเคมีอีกหลายตัวไว้ด้วย เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดอาการอักเสบให้แก่ผิวของมือ เช่น สารกลีเซอรีน ที่ใส่เพิ่มในเจลแอลกอฮอล์นั้น มักจะทำให้จุดไฟไม่ติด ทั้งที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม การที่แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ง่าย การนำไปใช้งานในรูปของเจลล้างมือจึงต้องระวังเรื่องความปลอดภัยด้วย แม้ว่าเจลแอลกอฮอล์จะมีปริมาณของน้ำและสารให้ความชุ่มชื้นอยู่สูงก็ตาม มีเจลแอลกอฮอล์หลายยี่ห้อที่สามารถติดไฟ แล้วเกิดเปลวไฟเป็นแสงสีฟ้าที่มองเห็นไม่ค่อยชัด จนเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือเกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนั้น เมื่อใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ควรถูมือทั้งสองข้างจนกว่าเจลจะแห้งสนิท เพื่อให้แน่ใจว่าแอลกอฮอล์ได้ระเหยไปจนหมดแล้ว (และมั่นใจว่าแอลกอฮอล์สัมผัสถูกทุกจุดของมือ จะได้ฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วทั้งมือ) อย่าเอามือไปใกล้เปลวไฟในขณะที่เจลแอลกอฮอล์ยังไม่แห้ง และควรเก็บขวดเจลไว้ห่างจากความร้อน
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “แล้วเจลแอลกอฮอล์ที่เก็บไว้ในรถที่อบความร้อน จะติดไฟลุกไหม้เองได้หรือไม่ ? ” เพราะเคยมีการแชร์ภาพและข้อความกันอยู่เรื่อยๆ จากต่างประเทศ ทำนองว่า มีรถยนต์เกิดเพลิงไหม้เนื่องจากคนลืมขวดเจลแอลกอฮอล์เอาไว้ในรถที่จอดตากแดดเป็นเวลานานๆ จนอุณหภูมิภายในรถร้อนจัด แล้วแอลกอฮอล์ก็ติดไฟ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าแอลกอฮอล์จะเป็นสารไวไฟ และไอระเหยของมันก็ติดไฟได้ง่ายแค่โดนประกายไฟจากที่จุดเตาแก๊ส แต่มันจะติดไฟได้เอง ก็ต่อเมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูงมาก คือ สูงกว่า 371 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรถที่จอดไว้ เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ถ้ารถจอดตากแดดอยู่กลางแจ้งที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ภายในห้องโดยสารของรถจะมีอุณหภูมิประมาณ 47 องศาเซลเซียส ขณะที่แผงแดชบอร์ดด้านหน้ารถอาจมีอุณหภูมิ 71 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ยังห่างไกลกับการที่เจลแอลกอฮอล์จะลุกติดไฟได้เอง
แม้ว่าเจลล้างมือจะไม่สามารถลุกติดไฟได้เอง แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และมั่นใจว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในขวดเจลแอลกอฮอล์ของเรายังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อโรคได้จริง จึงไม่ควรเก็บหรือเผลอวางทิ้งไว้ในบริเวณที่มีความร้อนสูง หรือโดนแสงแดดโดยตรง หรือใกล้เปลวไฟ
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์