ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เราพบเห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันเช่นทรายนั้นกำลังขาดแคลนจนเป็นปัญหาระดับโลก และนับวันจะยิ่งหนักมือขึ้นจนจำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทรายเป็นทรัพยากรที่หายากยิ่งขึ้นทุกทีเพราะมีการใช้อย่างมากในอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งทรายเป็นส่วนประกอบสำคัญของคอนกรีต ในปีหนึ่งๆ ทั้งโลกมีการใช้ทรายถึง 5 หมื่นล้านตัน ทรายเหล่านี้มาจากชายทะเล ท้องแม่น้ำ หรือการแตกสลายของหินฟอสซิล
เอเชียเป็นทวีปที่ใช้ทรายมากที่สุดอันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนเกิดการก่อสร้างในลักษณะต่างๆ ขึ้นมากมาย เพียงจีนประเทศเดียวระหว่างปี 2011 ถึง 2013 ใช้ทรายถึง 6 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าที่สหรัฐอเมริกาใช้ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ใช้ทราย 4.5 พันล้านตัน)
นอกจากการก่อสร้างแล้วยังมีการใช้ทรายถมที่เพื่อวางรากฐานสิ่งก่อสร้างและถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ของแผ่นดิน (สิงคโปร์ขยายพื้นที่เกาะซึ่งมีอยู่จำกัดถึงร้อยละ 20 นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา) อีกทั้งใช้ทรายถมชายฝั่งเพื่อป้องกันน้ำทะเลที่มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ท่วมดังเช่นในกรณีของหมู่เกาะมัลดีฟส์ และคิราบาติ
มีการพยากรณ์ว่าก่อนถึงปี 2030 โลกจะมีมหานครหรือเมืองขนาดใหญ่ (megacities คือเมืองที่มีประชากรอยู่มากกว่า 10 ล้านคน) รวมทั้งสิ้น 40 เมือง ในขณะที่มีเพียง 31 เมืองในปี 2016 เมื่อเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นก็จะมีการถมที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัย ตลอดจนเขื่อนเพื่อขวางกั้นระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นั่นแสดงว่าความต้องการทรายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งที่มีทรายอยู่มากมายในทะเลและทะเลทรายแล้วโลกจะขาดแคลนได้อย่างไร คำตอบก็คือทรายจากทะเลทรายไม่อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เนื่องจากมีความลื่นไหลเกินไป และทรายจากใต้ทะเลก็มีความเค็มจัดจนไม่สามารถใช้ผสมคอนกรีตได้ การค้นหาบ่อทรายใต้พื้นดินและสูบทรายจากท้องแม่น้ำจึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะทำให้ตลิ่งพัง ต้นไม้ล้มจนมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือการอยู่อาศัย
เมื่อประเทศทั้งหลายต่างมีกฎหมายและกฎกติกากำหนดปริมาณการนำทรายธรรมชาติจากสถานที่ต่างๆ มาใช้ ปริมาณทรายที่ออกมาตอบสนองความต้องการจึงมีจำนวนจำกัด ธุรกิจค้าทรายผิดกฎหมายเกิดขึ้นในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา “มาเฟียทราย” ทรงอิทธิพลในอินเดียด้วยการขู่ชาวบ้านให้กลัวจนสามารถนำทรายออกสู่ตลาดได้สะดวก ในโมร็อกโกและหมู่เกาะแคริบเบียนมีคนลักลอบขนทรายออกจากชายหาดจนเกือบหมด สถิติของการเปลี่ยนรูปวัสดุดิบใต้ดินจากธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์ระบุว่า ในแต่ละปีกรวดหินและทรายมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 85 ของปริมาณวัสดุใต้ดินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด
เมื่อทรายขาดแคลนจึงเริ่มมีการใช้สิ่งทดแทนในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ใช้แอสฟัลต์และคอนกรีตรีไซเคิล (คอนกรีตจากสิ่งก่อสร้างเก่าถูกป่นด้วยเครื่องจักรจนกลายเป็นเม็ดเล็กๆ เท่าทราย) ใช้เหล็กและไม้ในการสร้างบ้านมากขึ้น ใช้โคลนถมที่ในทะเล ฯลฯ
ราคาทรายที่สูงขึ้นและกฎหมายจูงใจการรีไซเคิลทำให้มีการทดแทนทรายมากขึ้นเป็นลำดับในหลายประเทศที่ร่ำรวย เช่น เกือบ 1 ใน 3 ของวัสดุก่อสร้างบ้านทั้งหมดในอังกฤษเมื่อปี 2014 ใช้วัสดุรีไซเคิล สิงคโปร์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการถมทะเลโดยกั้นน้ำเป็นตอนๆ และใช้ทรายถมน้อยลงโดยใช้เลนแทน
ส่วนประเทศที่ยังไม่ร่ำรวยก็มีแนวโน้มว่าจะใช้ทรายน้อยลงเพราะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายรีไซเคิลอย่างแข็งขันแล้ว ตราบนั้นกระบวนการทดแทนก็จะเป็นไปอย่างช้าๆ และการขาดแคลนทรายก็จะยังคงดำรงอยู่
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ