โลกเรามีเรื่องแปลกๆ อย่างหนึ่ง คือชอบซ้ำเติมความเจ็บปวดของคนอื่น เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินสะดุดล้ม ก็ว่า “ไม่สวยแล้วยังซุ่มซ่ามอีก”
เห็นคนก้มหน้าดูสมาร์ทโฟนเดินจนตกท่อ ก็ว่า “สมน้ำหน้า”
เด็กสอบไม่ผ่าน กลุ้มใจอยู่แล้ว กลับถึงบ้านถูกพ่อแม่ด่าว่าโง่ ซ้ำอีกรอบหนึ่ง
ผู้หญิงบางคนถูกข่มขืน กลับถูกสังคมวิพากษ์ว่า “สมควรแล้ว ก็ใครให้แต่งตัวล่อแหลมล่ะ”
นี่คือการโรยเกลือใส่บาดแผล
นอกจากจะไม่เห็นใจในเคราะห์กรรมของคนอื่น ยังซ้ำเติมอีก
แน่ละ ในเรื่องบางเรื่องก็ค่อนข้างยากจะห้ามไม่ให้สมน้ำหน้า แต่ในเมื่อมันเกิดเรื่องร้ายกับเขาแล้ว เขาก็เรียนรู้บทเรียนแล้ว ทำไมเราต้องใจร้ายไปตำหนิเขาอีก?
พ่อแม่บางคนถูกครูเรียกไปรับทราบว่าลูกประพฤติตัวไม่ดี และถูกโรงเรียนลงโทษ เมื่อกลับถึงบ้าน เด็กอาจถูกลงโทษอีกรอบ
พ่อแม่ควรประเมินว่า การลงโทษรอบเดียวพอแล้วหรือไม่ ควรหรือไม่ที่จะโรยเกลือบนบาดแผลอีก
โลกเราก็มีเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่งคือ บางคนชอบโรยเกลือใส่บาดแผลของตนเอง
ผู้หญิงคนหนึ่งถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาลเพราะถูกสามีทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ เมื่อทำการพยาบาลเธอเรียบร้อยแล้ว หมอบอกให้เธอไปแจ้งความกับตำรวจ ภรรยากลับบอกว่า “ฉันผิดเอง”
ตามมาด้วย “ฉันไปยั่วให้เขาโกรธเอง เขาจึงซ้อมฉัน”
อ้าว! ความผิดกลายเป็นของผู้ถูกกระทำ!
พนักงานคนหนึ่งถูกขอให้ออกจากงานเพราะเศรษฐกิจเลวร้าย บริษัทต้องลดคน ก็บอกว่า “ผมไร้ค่า”
ตรรกะของเขาคือ มีคนในออฟฟิศมากมาย แต่เจ้านายให้เฉพาะเขาออก แสดงว่าเขาไร้ความสามารถ “ผมไม่ดีพอ เขาจึงให้ออก”
เมื่อถูกแฟนทิ้ง บางคนบอกว่า “ฉันไม่มีค่า เขาจึงไม่สนใจ”
คนบางคนก็แปลก คนอื่นกรีดแผลใส่เรา เรากลับโรยเกลือบนบาดแผลนั้นซ้ำ
การถูกทำร้ายกับ “ฉันผิดเอง” เป็นคนละเรื่องกัน เพราะต่อให้ภรรยาทำผิดพลาด ก็ไม่สมควรถูกสามีทำร้ายร่างกาย
การถูกไล่ออกจากงานก็ไม่ได้แปลว่าตนเองไร้คุณภาพเสมอไป มันอาจเป็นเพราะการจัดองค์กรใหม่ทำให้ต้องเก็บเฉพาะคนที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้น
คนบางจำพวกมี Inferiority complex คือความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น หรือด้อยกว่ามาตรฐานของสังคม อาจเป็นความรู้สึกที่ฝังในจิตใต้สำนึก คิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือไม่มีอะไรดี
ดังนั้นเมื่อเจอปัญหาใดๆ ก็ตาม วิเคราะห์ให้ดีก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
ถ้าเกิดแผลเล็ก ก็อย่าทำให้แผลใหญ่ขึ้น
ต่อให้เป็นคนที่มี Inferiority complex ก็ไม่ต้องยอมรับการทำร้ายตัวเองซ้ำ
…………
ไม่ว่าจะโรยเกลือใส่คนอื่นหรือใส่แผลตัวเอง มันสะท้อนว่าคนเรามักติดนิสัยมองเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งว่าต้องมีคนผิดเสมอ
เคยสังเกตไหมว่า คนบางคนชอบมองว่ามีคนผิดคนถูก
สามีภรรยามีปากเสียงกัน คนหนึ่งว่า “คุณว่าฉันผิดเหรอ?”
หรือ “อ้าว! เป็นความผิดของฉันหรือ?”
นี่คือการมองแบบ ‘ทุกเรื่องต้องมีคนผิด’
นี่เป็นทัศนคติที่อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ในชีวิตไม่มีผิดหรือถูก มันเป็นเช่นนั้นเอง
เวลารถชนกัน เราจะถามโดยอัตโนมัติว่า “ใครผิด?” แทนที่จะถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” เพราะบ่อยครั้งไม่มีคนผิด เช่น ถนนลื่น หรือไฟจราจรเสีย
การโรยเกลือใส่บาดแผลไม่ว่าแผลของเราหรือแผลของคนอื่น ก็สะท้อนว่าเราขาดเมตตา
ขาดเมตตาต่อคนอื่นก็สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่น
ขาดเมตตาต่อตัวเอง ชีวิตก็ไร้สุข
คอลัมน์: ลมหายใจ เรื่อง: วินทร์ เลียววาริณ ตอน 61