เมื่อเทคโนโลยีทำให้ห้องเรียนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

-

ซัลมาน ข่าน (Salman Khan) เป็นคนเชื้อสายบังกลาเทศที่เติบโตในอเมริกา เรียนชั้นมัธยมโรงเรียนรัฐบาล ก่อนสอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียน และเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง MIT จนได้ปริญญาตรี 3 ใบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ก่อนไปจบ MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้งานเป็นนักวิเคราะห์กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund)

ระหว่างที่ทำงานกินเงินเดือนสูงๆ อยู่นั้น ข่านก็เริ่มช่วยติวหนังสือให้แก่ลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ต่างเมือง ช่วงที่ไม่ได้เจอหน้ากัน ข่านก็ทำวิดีโอแล้วอัพโหลดขึ้น YouTube เพื่อให้ลูกพี่ลูกน้องเอาไปดูยามว่าง

แต่แล้วลูกพี่ลูกน้องกลับบอกข่านว่า พวกเขาชอบฟังข่านสอนบนยูทูบมากกว่าฟังข่านสอนตัวเป็นๆ เสียอีก ตอนแรกข่านนึกว่าแค่โดนแซวเฉยๆ แต่พอคิดทบทวนก็เข้าใจเหตุผลว่า ในมุมของคนเรียน พวกเขาจะเข้าไปดูวิดีโอเมื่อไหร่ก็ได้ จะเล่นซ้ำกี่ทีก็ได้โดยไม่ต้องกลัวข่านจะรำคาญ

เพียงไม่นาน คนอื่นๆ ก็เริ่มเข้ามาดูวิดีโอของข่านมากขึ้น มีแม่คนหนึ่งเขียนจดหมายถึงข่านว่า

“ลูกชายวัย 12 ของฉันเป็นโรคออทิสติก และมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนเลขเป็นอย่างมาก พวกเราพยายามทุกอย่างแล้ว ลองมาทุกวิธี ซื้อหนังสือมาอ่านหลายเล่มแต่ก็ไม่เป็นผล แล้วพวกเราก็เจอวิดีโอเรื่องทศนิยมของคุณ แล้วเขาก็ทำได้ จากนั้นพวกเราลองให้เขาเรียนเรื่องเศษส่วน เขาก็ทำได้ พวกเราไม่อยากเชื่อเลย เขาเองก็ตื่นเต้นมากๆ”

เมื่อตระหนักว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีคุณค่าต่อคนอื่นแค่ไหน และวิดีโอที่เขาทำก็สามารถใช้ซ้ำได้หลายต่อหลายรุ่น ข่านจึงลาออกจากการทำงานกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (ที่เงินเดือนน่าจะสูงเอาการ) มาก่อตั้ง Khan Academy ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรอย่างเต็มตัว

โรงเรียนในอเมริกาหลายแห่งเริ่มเอาวิดีโอของข่านไปใช้ในการเรียนการสอน และ “พลิก” การเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง

การสอนที่เราคุ้นเคยกัน คือครูยืนพูดอยู่หน้าชั้น นักเรียน 30 คนต้องนั่งเงียบและฟังครูอย่างตั้งใจ และเมื่อจบคาบ ครูก็ให้การบ้านนักเรียนกลับไปทำที่บ้าน

 

ซัลมาน ข่าน

แต่เมื่อใช้วิดีโอของข่าน ครูสามารถมอบหมายให้นักเรียนไปดูวิดีโอที่บ้านเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหา แล้วมานั่งทำแบบฝึกหัดร่วมกันในห้องเรียนแทน ด้วยวิธีนี้นักเรียนจึงสามารถดูวิดีโอได้หลายครั้งเพื่อให้เข้าใจเนื้อหา แล้วเมื่อมานั่งที่ห้องก็ได้ทำแบบฝึกหัดผ่านเว็บของ Khan Academy ซึ่งจะมีตารางสรุปให้เห็นว่านักเรียนคนไหนอ่อนเรื่องอะไร ครูจึงสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ถูกจุด และที่เจ๋งไปกว่านั้น คือครูจะรู้ทันทีว่าใครเก่งเรื่องอะไร และขอให้เด็กที่เก่งเรื่องนั้นไปช่วยสอนเด็กที่อ่อนกว่า ห้องเรียนจึงเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน นี่คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ห้องเรียนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น (using technology to humanize the classroom)

ข่านยังมองเห็นอีกว่า การให้เด็กเก่งช่วยติวเด็กอ่อนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน ด้วยเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เด็กอินเดียที่อยู่ในเมืองกัลกัตต้าก็อาจจะช่วยติวเลขให้แก่เด็กอเมริกันที่อยู่ในแคลิฟอร์เนียได้

ปัจจุบันมีนักเรียนที่เคยผ่านห้องเรียนของ Khan Academy มาแล้ว 80 ล้านคน และวิชาที่สอนอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 36 ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทยด้วย ผู้อ่านสามารถเข้าไปดูบทเรียนภาษาไทยได้ที่ https://th.khanacademy.org/

ข่านเชื่อว่าการศึกษาคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เป้าหมายของเขาจึงเป็นการทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับ world class จากที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้

ใครจะไปรู้ ในอนาคตอันไม่ไกล ชายเชื้อสายบังกลาเทศคนนี้อาจจะได้รับการจารึกชื่อว่าเป็นครูผู้มีนักเรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์


คอลัมน์: มุมละไม

เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai

ภาพประกอบ  https://en.wikipedia.org/wiki/Sal_Khan#/media/File:Salman_Khan_TED_2011.jpg

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!