หลายคนมี ‘เงินสด’ ก็จริง แต่ไม่อยากลงทุนที่มีความเสี่ยงมาก ทั้งที่ใจก็อยากได้ผลตอบแทนบ้าง
หากจะเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาก็ได้ดอกเบี้ยน้อยมากจนเหมือนไม่ได้ หักลบค่าบัตร ATM แล้วบางทีกลับขาดทุนเสียอีก แต่จะฝากประจำระยะยาวก็ไม่ไหว เพราะบางครั้งต้องหยิบมาใช้ฉุกเฉิน หลายคนจึงคิดไม่ตกว่าจะจัดการเงินก้อนนี้อย่างไรดี นักลงทุนบางคนเลยมีเงินสดจำนวนมากไว้รอซื้อสินทรัพย์ในเวลาสำคัญ เช่น ช่วงตลาดตกหนัก การเก็บเงินสดไว้ให้ถูกที่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในบัญชีเงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูงเป็นหลัก
บัญชีเงินฝากประเภทนี้ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา แต่ก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือหากเงินก้อนนี้ใหญ่มากมายจนเกินเงื่อนไขบัญชีเงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง ผมก็เก็บเงินก้อนนี้ไว้ในบัญชี cash balance เลย เงินสดในบัญชีจะได้รับดอกเบี้ยด้วย แต่ดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงเท่าบัญชีเงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง
ผมยึดหลักสภาพคล่องในการถือเงินสด
ปัจจุบันนี้ผมแทบไม่ได้นำเงินก้อนนี้ไปซื้อกองทุนรวมเลย เพราะกองทุนรวมยังมีความผันผวนอยู่ ต่อให้เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ (ระยะยาว) ก็ตาม แต่หากเป็นกองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้นก็อาจพอรับได้บ้าง เพราะความเสี่ยงค่อนข้างต่ำหากเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่น แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ผมก็ยังชอบเงินฝากที่มีการรับประกันเงินต้นมากกว่า
สิ่งที่เสี่ยงและผมไม่เห็นด้วยเลยคือการนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีปัญหาสภาพคล่อง
บางคนนำเงินก้อนนี้ไปซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย หากคุณจะซื้อเพื่อลงทุนหรือกระจายความเสี่ยง ผมคิดว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าจะนำเงินก้อนนี้รอซื้อหุ้นเพราะอยากได้ผลตอบแทนหลายเปอร์เซ็นต์ด้วย บางทีอาจทำให้ซื้อขายหุ้นลำบากและพลาดโอกาสสำคัญไปอีก
บางคนนำเงินก้อนนี้ไปซื้อสลากออมทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น สลากออมสิน แบบนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะแม้มีการประกันเงินต้น แต่สลากประเภทนี้ก็มีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่อง สลากบางประเภทหากขายคืนก่อนสามเดือนจะได้รับเงินต้นคืนไม่ครบ นั่นก็ทำให้เสียผลตอบแทนไปอีก
หากคิดจะเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในกองทุนรวมต่างๆ คุณต้องพิจารณาถึงการได้เงินคืนด้วย เพราะส่วนใหญ่กองทุนรวมไม่ได้เงินทันทีที่ขาย แต่จะได้ในวันทำการถัดไป หากคุณจะนำเงินนี้มาใช้เพื่อการซื้อหุ้นหรือใช้จ่ายยามฉุกเฉิน คุณต้องคำนวณวันที่เงินจะเข้ามาหักลบกันพอดี หากคำนวณผิด เงินเข้าไม่ทัน คุณก็อาจต้องวุ่นวายและเสียเงินดอกเบี้ยทั้งที่ไม่สมควรเสีย
ผมให้ความสำคัญอย่างมากกับสภาพคล่องของเงินก้อนนี้ ช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง เวลาแค่ชั่วโมงเดียวอาจหมายถึงเงินมหาศาล หากคุณนำเงินก้อนนี้ไปเก็บไว้ในที่ซึ่งมีความเสี่ยงและถอนกลับมาลำบาก คุณอาจเสียผลตอบแทนมหาศาลเพื่อแลกกับผลตอบแทนนิดเดียว
ตราสารหนี้เองก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
ตราสารหนี้ (Bond) คือตราสารที่ออกมาแทนสภาพหนี้ ผู้ออกตราสารมีลักษณะเป็นผู้กู้ และผู้ซื้อตราสารมีลักษณะเป็นผู้ให้กู้ โดยผู้ออกตราสารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือตราสาร และชดใช้หนี้คืนทั้งหมดเมื่อครบระยะเวลา ตัวอย่างตราสารหนี้ ได้แก่ (1) ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และ (2) ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน
ตราสารหนี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่กำหนดผลตอบแทนคงที่และมีระยะเวลาการได้เงินคืนแน่นอน หากไม่ซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง โอกาสขาดทุนด้วยตราสารหนี้จะเกิดจากการที่ผู้ออกตราสารผิดนัดชำระเท่านั้น นักลงทุนสามารถเลือกผู้ออกตราสารที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น รัฐบาล บริษัทมหาชนที่มีฐานะการเงินมั่นคง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
ในแง่ของนักลงทุนหุ้น การถือตราสารหนี้ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม เคยมีนักการเงินเสนอไว้ว่าสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ต่อหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับความผันผวน คือ 75 : 25 เทียบง่ายๆ ก็คือหากมีเงินทุนรวม 1,000,000 บาทก็ให้แบ่งไปซื้อตราสารหนี้ 750,000 บาท และซื้อหุ้น 250,000 บาท
ในความเป็นจริงคงไม่มีนักลงทุนหุ้นคนไหนอยากถือตราสารหนี้นัก เพราะหากมีความรู้พอจะเลือกหุ้นเองได้ ตราสารหนี้ก็กลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มเท่าไหร่ นักลงทุนหุ้นจำนวนมากที่ผมรู้จักจึงไม่มีใครถือตราสารหนี้เลย
หากจะมีอยู่บ้างก็เป็นในลักษณะการถือสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเผื่อไว้ซื้อหุ้นในกรณีฉุกเฉิน นักลงทุนบางคนที่ผมรู้จักจะมีเงินก้อนนี้อยู่ประมาณร้อยละ 10–30 ส่วนผมอาจไม่ได้เน้นเก็บเงินสำรองไว้เท่าไหร่นัก เพราะผมมีธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้ตลอด หากวิกฤติเกิดนานหลายเดือน ผมก็พอจะหาเงินมาซื้อหุ้นได้ แต่ถ้าวิกฤติเกิดไม่นาน ผมจะใช้วิธีสลับตัวหุ้นเอา
นักลงทุนบางคนถือตราสารหนี้ (รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้) แทนเงินสด ผมจะเสนอว่าตราสารหนี้เองก็มีราคาผันผวนในตลาดรอง หากมีความต้องการใช้เงินเร่งด่วนเพื่อนำไปซื้อหุ้น เราอาจจำเป็นต้องขายตราสารหนี้ในราคาขาดทุนได้
หากคุณรับได้ ขายขาดทุนได้ ผมเองก็ไม่ได้ยึดติดว่าจะถือตราสารหนี้หรือเงินสด เพราะสินทรัพย์สองประเภทนี้ ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าคุณไม่กล้าขายขาดทุนเลย การถือตราสารหนี้ไว้อาจเป็นปัญหาได้ เพราะถ้าคุณไม่ได้มีสภาพคล่องจริงๆ ผมแนะนำให้ถือเงินสดแทนดีกว่า
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: ‘ลงทุนศาสตร์’