จากความสำเร็จของละครโทรทัศน์เรื่องทองเอก หมอยาท่าโฉลง เมื่อ พ.ศ.2562 ช่อง 3 ได้ต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวด้วยการเสนอละครโทรทัศน์เรื่องหมอหลวง จากผลงานของ “จินโจว” นักประพันธ์ท่านเดิม เพียงเสนอไปตอนแรก กระแสละครโทรทัศน์เรื่องหมอหลวงก็เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง
แม้จะเป็นเรื่องแพทย์แผนไทยในอดีตเหมือนกัน แต่หมอหลวงก็ไม่ใช่ภาคต่อของทองเอก หมอยาท่าโฉลง ถึงกระนั้นก็เป็นการต่อยอดประเด็นเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจมาก ทองเอก หมอยาท่าโฉลงเล่นประเด็นการปะทะทางความรู้ระหว่างการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนใหม่ที่เข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีท้องที่ที่เกิดโรคระบาดเป็นแหล่งปะทะกัน ส่วนหมอหลวงเป็นการปะทะกันของภูมิปัญญาแพทย์ไทยสองยุค คือยุคอดีตกับยุคปัจจุบัน
ก่อนอื่นขอชมเชย “จินโจว” เจ้าของบทประพันธ์ที่หยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์การแพทย์มาเป็นฉากหลังของละครทั้งสองเรื่อง การนำเสนอเนื้อหาแปลกใหม่ หลุดจากวงจรผัวๆ เมียๆ นั้น เราไม่ค่อยได้เห็นกันนักในตลาดหนังสือไทย เมื่อนักเขียนหยิบยกเรื่องการแพทย์ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะเช่นนี้ จึงนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทยนั้นมีมาเนิ่นนาน ดังจะเห็นได้จากตำราโอสถและตำรายาพื้นบ้านทั่วทุกภูมิภาคของไทย ทั้งที่ตกทอดมาในฐานะตำราหลวงและตำราพื้นบ้าน ภูมิปัญญาเรื่องการปรุงยาจากสมุนไพร การนวด การประคบ การรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ล้วนมีอยู่อย่างอุดมในสังคมไทย แต่ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 3 ทรงเปิดรับวิทยาการแผนใหม่ด้านต่างๆ เข้ามาในสยาม ในขณะเดียวกันก็ทรงวางรากฐานการแพทย์แผนไทยให้เจริญงอกงามอีกด้วย ดังเห็นได้จากการจารึกเรื่องการแพทย์แผนไทยไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ การปั้นรูปฤาษีดัดตนเป็นท่านวดแบบต่างๆ วัดพระเชตุพนฯ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม การบันทึกความรู้ผ่านประติมากรรมและการจารึกไว้เป็นหลักฐานนี้ ในด้านหนึ่งการรักษาอนุรักษ์ภูมิปัญญาสยาม เพื่อประกาศให้ตะวันตกเห็นว่าสยามไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เป็นบ้านเมืองที่มีภูมิปัญญาสืบทอดกันมาแต่โบราณ
ส่วนการเปิดรับภูมิปัญญาทางการแพทย์จากตะวันตกให้มาลงหลักปักฐานในสังคมสยามนั้น เห็นได้จากการมีหมอชาวตะวันตกเข้ามาในสยามแล้วเผยแผ่ความรู้ทางการแพทย์ให้เป็นที่รู้จักกันทั่ว ถือเป็นการวางรากฐานการแพทย์แผนใหม่ในสยามในเวลาต่อมานั่นเอง หมอจากตะวันตกที่มีชื่อเสียงและได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เช่น หมอบรัดเลย์ นักเผยแผ่คริสต์ศาสนาที่เข้ามาพร้อมกับบรรดามิชชันนารี พ.ศ.2378 และต่อมาได้ทดลองปลูกฝีไข้ทรพิษ เมื่อพ.ศ.2381 นับเป็นการต่อสู้กับโรคระบาดอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ จากนั้นหมอบรัดเลย์ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการแพทย์แผนใหม่ในสังคมสยามให้แก่บุคคลต่างๆ เพื่อเรียนเป็น “หมอสมัยใหม่” คนไทยคนแรกที่สำเร็จวิชาแพทย์แผนใหม่ของหมอบรัดเลย์ก็คือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่รักษาคนไข้ด้วยยาสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาควินินเพื่อรักษาโรคไข้จับสั่น ต่อมาใน พ.ศ.2392 หมอเฮ้าส์ก็เป็นคนแรกที่เอาภูมิปัญญาเรื่องการวางยาสลบเข้ามาในสังคมสยาม
ละครโทรทัศน์เรื่องหมอหลวงได้อิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ด้วยการสร้างเรื่องให้รัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้น โดยคัดเลือกจากคนที่สนใจ แต่วิชาความรู้ที่เรียนนั้นเน้นเรื่องสมุนไพรและกายวิภาคอย่างไทยๆ ซึ่งสืบต่อกันมาแต่โบราณ ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ทางการแพทย์สอดแทรกไว้ในเรื่องอย่างเหมาะสม มีการให้ตัวละครท่องกายวิภาคและสมุนไพรตามแบบไทยด้วย
โรงเรียนหมอหลวง เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความงอกงามด้านภูมิปัญญาในสังคมสยามในช่วงรัชกาลที่ 3 เมื่อหมอสมัยใหม่เริ่มมีบทบาทต่อวิถีสุขภาพของผู้คนสยาม ภูมิปัญญาการแพทย์ของไทยอาจสูญหายได้ โรงเรียนหมอหลวงคือการพยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญาดังกล่าวไว้ แต่ก็ไม่ได้ละเลยความทันสมัยที่เข้ามาในยุคนั้น
ทองอ้น บุตรหลวงชำนาญเวชหรือหมอทองคำ ซึ่งสืบทอดการเป็นแพทย์เมื่อครั้งกรุงเก่า โดยถ่ายทอดผ่านลูกหลานมาหลายช่วงตระกูล ทองอ้นไม่ได้เก่งกล้าปัญญาดีเหมือนทองแท้ผู้พี่ชาย แต่ต่อมาทองอ้นได้พบกับบัว นักศึกษาแพทย์ในยุคปัจจุบัน ที่พลัดหลงทะลุมิติไปสู่อดีต ความน่าสนใจก็คือบัวได้แลกเปลี่ยนวิทยาการทางการแพทย์กับทองอ้น ละครเสนอให้เห็นว่าแม้เครื่องไม้เครื่องมือจะไม่ทันสมัยเหมือนในยุคปัจจุบัน แต่ก็มิได้หมายความว่าสยามขาดความรู้ทางการแพทย์ เพียงแต่การเสนอความรู้ดังกล่าวใช้ภาษาต่างกันเท่านั้น
การพบกันของทองอ้นกับบัวจึงมีนัยของการปะทะกันและบูรณาการความรู้ระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ ซึ่งในแง่หนึ่ง หากตัดเรื่องความสนุกของละครออกไป สิ่งที่คนดูได้รับก็คือ ความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษได้สืบทอดวิชาการแพทย์ให้งอกงาม ขณะเดียวกันก็นำเสนอให้เห็นว่าสาเหตุที่การแพทย์ไทยรุ่งเรืองเหนือกว่าอีกหลายๆ ประเทศในปัจจุบันเป็นเพราะ ความใจกว้างเปิดรับภูมิปัญญาจากต่างชาติต่างภาษาเพื่อนำมาประยุกต์และบูรณาการความรู้สองยุคให้กลายเป็นวิทยาการอันเหมาะสม
บัว เป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ แต่ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคเก่า ทองอ้น ตัวแทนของโลกยุคเก่านั่นเหมือนคนที่มองไปในอนาคตข้างหน้าว่าโลกจะเจริญอย่างไร ส่วนบรรดาหมอหลวงที่ร่ำเรียนกันในโรงเรียน ก็คือความงอกงามของความรู้ที่แพร่หลายไปในวงกว้างผ่านบรรดาหมอทั้งหลายนั่นเอง
ทองเอก หมอยาท่าโฉลงและหมอหลวง นับเป็นตัวอย่างอันดีที่จะให้นักเขียนรุ่นใหม่พยายามคิดค้นหาเนื้อหาที่แตกต่างจากแนวเรื่องเดิมๆ มองออกไปจากวงจรของผัวๆ เมียๆ ความทันสมัยของเทคโนโลยีในการเข้าถึงความรู้ และองค์ความรู้ที่มีมากมายในปัจจุบัน ตลอดจนประสบการณ์หลากหลายที่นักเขียนแต่ละคนมีต่างกัน จะช่วยเพิ่มนิยายที่มีเนื้อหาใหม่ๆ ให้แก่บรรณพิภพไทยต่อไปในวันหน้า
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีสี ช่อง 3