ดูกรภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง 4 ประการนี้ มีแสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศที่สุด
(32 / 233 อาภาวรรค)
แสงสว่าง 4 ประการมีดังนี้คือ
1. แสงสว่างแห่งพระจันทร์
2. แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์
3. แสงสว่างแห่งไฟ
4. แสงสว่างแห่งปัญญา
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกๆ ท่าน ธรรมะมาอีกแล้วโยม ธรรมะย่อมทำให้เรามีสติ เมื่อมีสติ ปัญญาย่อมเกิดตามมาด้วย เหมือนที่อาตมาหยิบยกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเกริ่นไว้เบื้องต้น แสงสว่างสามอย่างคือ แสงสว่างแห่งพระจันทร์ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ แสงสว่างแห่งไฟ ส่องสว่างได้เฉพาะที่มืด แต่แสงสว่างแห่งปัญญาย่อมส่องสว่างได้ทั้งที่มืดและที่แจ้ง และที่สำคัญคือ สามารถส่องใจที่มืดบอดให้เกิดแสงสว่างได้
โยมทุกท่าน สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ความจริง เอาง่ายๆ คือ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นคำสอนที่ง่าย และเป็นความจริง แต่คนเรานี้เข้าใจยากเหลือเกิน ที่เป็นแบบนั้นเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง และอวิชชายังครอบงำจิตใจอย่างเราอยู่ จึงมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องยาก
โยมทุกท่าน สิ่งที่พระองค์ทรงสอนคือภาษา เป็นภาษาธรรมที่จะนำเราให้พ้นจากความทุกข์
โยมทั้งหลาย สังคมไม่ดี มิใช่เป็นเพราะคนไม่ได้รับการศึกษา แต่เป็นเพราะคนได้รับการศึกษาที่ผิด
คือเรามุ่งเน้นเฉพาะความรู้ แข่งขันกัน แย่งกันเป็นที่หนึ่ง เป็นการปลูกฝังความเห็นแก่ตัว
คือเราจะต้องดี เราจะต้องเด่นกว่าทุกคน ถามว่าสิ่งนี้ทำได้ไหม ตอบว่าได้ แต่เราต้องเน้นคุณธรรมเน้นธรรมะควบคู่กันด้วย เพราะเมื่อคนเหล่านี้มีคุณธรรม มีธรรมะ จะเป็นแรงผลักดันที่ดีให้แก่สังคม
โยมทุกท่าน ถ้าเราเรียนเก่งๆ หาเงินมากๆ แสวงหาความสะดวกสบาย มุ่งเน้นเฉพาะประโยชน์ส่วนตน ไม่สนประโยชน์ส่วนรวม ถึงเราจะมีมากแค่ไหน ก็หามีค่าไม่
ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการเป็นคน รสของธรรมะชนะรสทั้งปวง
ธรรมะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหญิงชาย เด็กผู้ใหญ่ พระเถร เณรชี ผู้ดี หรือยาจก ธรรมะก็เป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งนั้น เพราะทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ธรรมะเป็นยาสมานสังคมได้อย่างดียิ่ง รักษาได้ทุกโรค หากโยมเป็นโรคทรัพย์จาง ก็เอาหัวใจเศรษฐีไปใช้ ให้ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตพอเพียง
โรคหลงตัวเอง ก็ศึกษาให้เข้าใจชัดว่า จะมีทรัพย์สินเงินทองมากแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องไปแค่ตัวเปล่า เหมือนกับตอนที่เจ้ามา
โยมทุกท่าน คำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นความจริงขนาดไหน สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างไร ก็ไม่มีผล ถ้าเราแค่อ่าน แต่ไม่นำไปปฏิบัติให้เป็นอุปนิสัย
สิ่งที่อาตมาเห็นมาตั้งแต่เด็ก จนบัดนี้เริ่มจะแก่แล้ว คือ คนเราเข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่หวังกำไรเกินควร ทำบุญเสร็จ มักอธิษฐานขอให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ถูกหวยรวยเบอร์รางวัลใหญ่ๆ ส่วนน้อยที่จะเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมะ ฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรม อยู่กับปัจจุบันขณะ เพื่อลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดปัญญารู้แจ้ง เข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง
แต่ส่วนมากคนไทยชอบเข้าวัดเพื่อดูหมอ (อาตมาเคยให้โยมไปดูที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าบิณฑบาตไม่ได้ข้าวฉันไปหลายวัน) และเข้าวัดไปขอหวย อยากรวยทางลัด
บางคนทำมาค้าขาย ก็เข้าวัดเพื่อไปหาสาลิกาลิ้นทอง ไปบูชานางกวัก ได้มาแล้ว คำพูดก็ไม่เพราะอ่อนหวาน หน้าตาไม่ยิ้มแย้มแจ่มใจ หน้าบูดเหมือนตูดเป็ด หน้างอเหมือนตวัก
ใครก็ไม่อยากซื้อกับเราอยู่ดี
โยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค้าขาย เรื่องทำมาค้าขึ้น ถ้าเราซื่อสัตย์ ขยันอดทน รวยทั้งนั้น ไม่ต้องวิ่งหาคาถามหาละลวยที่ไหนมาช่วยหรอกโยม มันอยู่ที่ตัวโยมนั่นแหละ
บางคนก็เข้าวัดมาเจิมรถ ทุกวันนี้รถรุ่นใหม่เปิดตัวเป็นว่าเล่น ไม่จะเป็นโตโยต้า ฮอนด้า
บีเอ็ม ออกมาไม่ซ้ำรุ่น แต่ละคันน่าใช้ทั้งนั้น การใช้รถใช้ถนนจะมองแค่ความสวยงามไม่ได้
เราต้องมองถึงความปลอดภัยด้วย รุ่นไหน ขับดีนั่งสบาย รุ่นไหนปลอดภัยก็ต้องเลือก
ดังนั้นสิ่งแรกที่โยมทำตอนออกรถมาคือ ต้องไปให้หลวงพ่อเจิมรถก่อน
เหมือนมีโยมคนหนึ่งออกรถรุ่นใหม่ป้ายแดง ได้ข่าวหลวงพ่อท่านหนึ่งเจิมรถศักดิ์สิทธิ์มาก เลยไปให้ท่านเจิม ปรากฏว่า ขับไปชนเกาะกลางถนน ไม่เป็นไรเลยจริงๆ เหมือนที่เขาว่า
เกาะกลางถนนนะโยม ไม่เป็นไรเลย แต่รถบู้บี้เหลือเท่ากล่อง ยกกลับบ้านได้เลย
หลวงพ่อปัญญาท่านบอกว่า เวลาเจิมรถอย่าเจิมเปล่าๆ ต้องให้ปัญญาเขาด้วย จะได้ไม่โง่เหมือนเดิม เขาจะได้นึกถึงพระ แล้วนึกถึงคำสอนว่า
“อัปปมาโท อมตัง ปทัง” ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
“ปมาโท มัจจุโน ปทัง” ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
คนใดประมาทก็ตายเร็ว ไม่ประมาทก็ตายช้าหน่อย หรืออาจไม่ตายเพราะอุบัติเหตุก็ได้
เมื่อโยมเห็นจุดที่พระเจิม จะได้มีความสำรวมระวัง มีสติปัญญา ไม่ลุแก่อำนาจโทสะ โมหะในขณะที่ขับรถ ไม่ไปแข่งใคร เพราะถ้าแข่งก็เท่ากับเดินทางไปหาพระยามัจจุราช
โยมทุกท่าน ไม่ว่ารถคันนั้นจะดีอย่างไร ถ้าประมาทก็อาจไม่ต่างกับรถไม้ผุๆ ที่ชนอะไรก็พังนั่นแหละโยม
เจริญพร
คอลัมน์: ธรรมะอมยิ้ม
เรื่อง: พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์