เธอคนนี้เกิดมาพร้อมข้อจำกัดทางร่างกาย ด้วยโรคที่ประสบทำให้ต้องใช้ชีวิตบนรถวีลแชร์ และไม่สามารถขยับร่างกายได้เหมือนคนปกติ แต่ ‘รถเมล์’ ปนิตา ชวภัทรธนากุล ไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดมาขวางทางชีวิต ว่าที่ดอกเตอร์คนนี้มีสิ่งที่หลงใหลอย่าง “การแต่งคอสเพลย์” เป็นแรงใจสำคัญ ซึ่งนำเธอสู่โลกกว้าง พบเจอมิตรภาพ และเดินตามความฝัน
รถเมล์เกิดมาพร้อมโรคประจำตัว นั่นคือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (spinal muscular atrophy) โรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม พ่อและแม่มีพาหะของโรค เธอได้รับการถ่ายทอดยีนผิดปกติและเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เกิด ผู้ที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียเซลล์ประสาทที่ใช้สั่งการ จึงทำให้การส่งสัญญาณจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อสั่งให้ร่างกายขยับหรือออกแรงนั้นผิดปกติ กล้ามเนื้อเลยขยับได้ไม่มากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งรถเมล์จัดอยู่ใน type 2 คือไม่มีแรงในการลุกยืนหรือเดินได้ ส่วนแรงแขนนั้นพอมีบ้างเล็กน้อย สามารถเขียนหนังสือหรือหยิบจับสิ่งของเล็กๆ เช่น ดินสอ ปากกา สามารถคลิกเม้าส์หรือพิมพ์ข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ไม่สามารถยกทั้งแขน หรือยกของที่มีน้ำหนักมากๆ เช่น หนังสือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค
ในวัยเด็กรถเมล์ไม่ได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนด้วยอุปสรรคทางกายเป็นเหตุ และต้องมุ่งกับการรักษาพร้อมทำกายภาพบำบัด พี่สาวจึงคอยช่วยสอนหนังสือให้ การเรียนตอนแรกเป็นเหมือนการหาอะไรทำแก้เบื่อ แต่เมื่ออ่านออกเขียนได้เธอก็ชื่นชอบการอ่านหนังสือ จนอายุ 14-15 ปี รถเมล์เริ่มอยากเรียนหนังสืออย่างจริงจัง จึงสมัครเรียนการศึกษานอกโรงเรียน แต่ก็ยังเป็นการเรียนที่บ้านเองแล้วไปสอบ จนเข้ามหา’ลัย ถึงเป็นการเรียนในห้องเรียนครั้งแรก ในการไปเรียนจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการนักศึกษาพิการคอยช่วยเหลือ และใช้การอัดเสียงอาจารย์สอนแล้วกลับมาทบทวน รถเมล์จบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก คณะจิตวิทยา แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเข้าสู่วงการคอสเพลย์ของรถเมล์เริ่มขึ้นสมัยเรียนปริญญาตรี เธอเล่าว่าตอนนั้นมีรุ่นพี่ซึ่งบ้านอยู่ละแวกเดียวกัน มักช่วยหาหนังสือเรียนมาให้ พี่เขาอยากให้รถเมล์ได้ผ่อนคลายจากการเรียน จึงชักชวนให้ดูการ์ตูน แอนิเมชั่นญี่ปุ่น และเล่าให้ฟังเรื่องงานคอสเพลย์ ซึ่งเป็นงานที่คนชอบอนิเมะจะแต่งตัวตามตัวการ์ตูนที่ชอบ ประจวบกับการ์ตูนที่ดูตอนนั้นมีตัวละครชื่อ nunnally เป็นเด็กสาวที่นั่งวีลแชร์ รุ่นพี่จึงโน้มน้าวให้ลองคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนนี้ดู
การทำชุดคอสเพลย์ครั้งแรกได้รับความช่วยเหลือจากคุณแม่ในการเลือกซื้อผ้า และคุณป้าซึ่งเป็นช่างเย็บของโรงงานเย็บผ้าที่บ้านช่วยตัดชุด ส่วนพร็อพต่างๆ พี่ๆ ที่โรงงานก็ช่วยทำ พอเราได้เห็นชุดค่อยๆ ประกอบเป็นรูปเป็นร่างก็รู้สึกสนุก เมื่อชุดเรียบร้อยถัดจากนั้นคือการลงสนามจริง แน่นอนว่าสร้างความประหม่าให้แก่รถเมล์ไม่น้อย “เมล์ลองหารูปงานคอสเพลย์ครั้งก่อนๆ ก็ไม่เคยเห็นว่ามีคนนั่งวีลแชร์ไป เลยกังวลนิดหน่อย แต่พอได้ไปจริงๆ ทุกคนที่ไปร่วมงานใจดีมาก มีคนมาทักด้วยชื่อตัวการ์ตูนที่เราแต่ง มาขอถ่ายรูป ขอเฟซบุ๊กเพื่อส่งรูปให้ เป็นความรู้สึกที่เมล์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอ ดีใจที่ตัวเองกล้าลอง”
“การคอสเพลย์ช่วยเปิดโลกของเมล์ให้กว้างขึ้น ก่อนหน้านี้สังคมของเมล์มีแค่บ้านกับมหา’ลัย มีเพื่อนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่พอเข้ามาคอสเพลย์เมล์ก็ได้รู้จักผู้คนหลากหลาย คนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน ชวนกันดูการ์ตูน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด พอเราสนใจการ์ตูนญี่ปุ่นก็อยากเรียนภาษาญี่ปุ่น เมล์มีฝันอยากไปงานคอสเพลย์ที่ประเทศญี่ปุ่น อยากสื่อสารกับเพื่อนๆ ที่นั่นได้ ระหว่างรอโควิด-19 ซาก็ฝึกภาษาไปพลางๆ”
คอสเพลย์ไม่เพียงให้ความสุขแก่ตัวเอง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นด้วย “ตอนที่เมล์ไปงานคอสเพลย์ มีคนเข้ามาบอกเมล์ว่า เขาไม่กล้าแต่ง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย กลัวว่าแต่งแล้วจะถูกล้อถูกบูลลี่ว่าไม่เหมือนตัวการ์ตูน แต่พอเขามาเจอเมล์ก็ทำให้เขามีกำลังใจในการแต่ง หรือบางคนที่ไม่ได้คอสเพลย์ แต่เขาเห็นเมล์ก็มีแรงบันดาลใจทำสิ่งที่ชอบ เมล์ดีใจที่งานอดิเรกของเราได้จุดประกายให้แก่คนอื่น และเมล์เองก็ได้เรียนรู้จากคนที่พบเหล่านั้น เมล์อยากผลักดันให้สังคมคอสเพลย์ หรือแม้แต่สังคมอื่นๆ ไม่ตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอก ตัวเมล์เองก็มีข้อจำกัดด้านร่างกายต้องนั่งวีลแชร์ หรือบางคนที่ชอบคอสเพลย์ แต่เขาไม่มีความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่สวย แม้ทุกคนจะแตกต่างแต่ก็มีสิทธิ์ทำในสิ่งที่ตนรัก”
รถเมล์เปรียบชีวิตเป็นดั่งเส้นทางสายรุ้ง คติในการใช้ชีวิตของเธอคือการเดินทางไปบนเส้นทางสายรุ้งนั้น “สายรุ้งมีหลากสี เหมือนกับชีวิตของคนที่ประกอบด้วยหลายสิ่ง อาจมีทั้งสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เป็นหน้าที่ หรือสิ่งที่เป็นข้อจำกัด สิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนรวมเข้าเป็นตัวเรา เมล์จะใช้ชีวิตภายใต้เงื่อนไขทั้งหมดนั้นทำตามฝัน ทำสิ่งที่เรามีความสุข ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เราก็จะได้สายรุ้งที่สวยที่สุดในแบบของเรา”
สุดท้ายรถเมล์อยากฝากไว้ว่า หากใครอ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจรู้สึกว่าชีวิตของรถเมล์ดี มีแต่ความสุข ได้ทำในสิ่งที่รัก แต่จริงๆ แล้วรถเมล์เองก็มีความลำบากในชีวิตไม่ต่างกับคนอื่น มีเหนื่อยและท้อใจ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญอุปสรรค มีจิตใจที่เข้มแข็งก้าวผ่านปัญหาต่างๆ เมื่อไหร่ที่รู้สึกไม่ไหว ลองหาสิ่งที่ชอบทำ หรือหากำลังใจรอบๆ ตัว เพื่อเติมพลังให้สู้ต่อไป สำหรับรถเมล์นั้นแม้ช่วงหลังจะไม่ได้เข้าร่วมงานคอสเพลย์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการเรียนที่หนักขึ้น แต่เธอก็ยังหาวิธีที่จะได้สนุกกับสิ่งที่รัก โดยการแต่งตัวคอสเพลย์แล้วถ่ายรูปที่บ้าน จัดมุมบ้านให้เหมือนในการ์ตูนที่สุด ซึ่งเธอก็พบความสนุกใหม่ๆ อย่างไม่คาดคิด
ติดตามผลงานคอสเพลย์ของเธอได้ที่
เฟซบุ๊ก: https://www.facebook.com/rodmaystation18
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน