“สยอง หาดแม่รำพึงหวิดฆ่าหมู่ ดูดสองชีวิตลงทะเล ตายหนึ่ง รอดหนึ่ง” “หาดแม่รำพึงเฮี้ยน กลืนร่างเด็ก ม.6” “หาดแม่รำพึงเฮี้ยนจัด ดูดสองชีวิตใน 24 ชม.” พาดหัวข่าวอันน่าสลดเกี่ยวกับเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำบริเวณหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง มีให้เห็นเป็นประจำทุกปี มีข้อมูลระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนถึง พ.ศ.2557 ผู้เสียชีวิตที่หาดแม่รำพึง มีจำนวนมากถึง 25 ราย แค่ พ.ศ. 2545 ปีเดียวก็มีผู้เสียชีวิตตั้ง 5 รายแล้ว หรือโดยเฉลี่ยพบว่ามีผู้เสียชีวิตที่หาดแม่รำพึงนี้ปีละ 2 คน
หาดแม่รำพึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง หาดอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า มีทรายขาวสะอาด ถือเป็นหาดที่ยาวที่สุดของฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีที่พักและร้านอาหารทะเลไว้บริการนักท่องเที่ยว ยามเย็นจึงเห็นนักท่องเที่ยวแวะมานั่งเล่นมากมาย
ชื่อหาดแม่รำพึงนั้น มีที่มาจากตำนานเรื่อง “ตาม่องล่าย” ชาวพม่าผู้มีลูกสาวแสนสวยชื่อ “ยมโดย” ตาม่องล่ายตั้งใจยกยมโดยให้ “พระเจ้ากรุงจีน” เพราะเห็นว่าร่ำรวย ลูกสาวจะได้สบาย ส่วนเมียของตาม่องล่ายหมายใจจะยกให้ “เจ้าลาย” หนุ่มหน้าตาดีและขยัน แต่ทั้งคู่กลับไม่ได้หารือกันก่อน พอถึงวันแต่งงาน ขันหมากของพระเจ้ากรุงจีนก็ยกมาเผชิญหน้ากับขันหมากของเจ้าลาย สองผัวเมียเลยทะเลาะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายเมียโกรธมาก หนีไปสงบสติอารมณ์ที่ชายหาด จึงเรียกว่า “หาดแม่รำพึง”
แต่ยังมีอีกตำนานที่เศร้าโศกกว่า บอกว่ามีหญิงสาวชาวบ้านผิดหวังในความรัก จึงมาโดดน้ำฆ่าตัวตายที่หาดทรายริมทะเล และเป็นที่มาของชื่อ “หาดแม่รำพึง” เช่นกัน ตำนานนี้เองคือชนวนเหตุให้คนอ้างถึงความเฮี้ยนของหาดแม่รำพึง ที่กลายเป็นหาดอาถรรพณ์ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาจบชีวิตที่หาดแห่งนี้ทุกปี ดังที่เป็นข่าวให้ได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน
แม้ว่าการเสียชีวิตนั้นมักถูกเชื่อมโยงกับอาถรรพณ์ตามชื่อหาด แต่ถ้าถามชาวประมงพื้นบ้านว่าทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตที่นี่ทุกปี จะได้ข้อมูลว่า ในช่วงลมมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม มักเกิดกระแสน้ำวนทั่วทุกชายหาด แล้วตรงบริเวณหาดแม่รำพึงนี้เป็นจุดที่คลื่นพัดเข้าทั้ง 2 ด้าน ชาวบ้านเรียกว่า ”คลื่นเทพนม” เกิดร่องน้ำใหญ่ตรงกลาง มีแรงดูดมหาศาล หากเราไปเล่นน้ำตรงนั้น แม้ว่าน้ำตื้นแค่หัวเข่า ก็อาจจะถูกคลื่นดูดหายไป จนเสียชีวิตได้
คำอธิบายนี้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติจริงที่เกิดขึ้นในบริเวณหาดแม่รำพึง รวมถึงอีกหลายๆ ชายหาดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะภูเก็ตและเกาะช้าง มีชื่อเรียกว่าปรากฏการณ์ “Rip Current กระแสน้ำริป” เพราะกระแสน้ำที่ซัดเข้าชายฝั่งเกิดการดูดกลับลงท้องทะเลอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากพื้นทรายใต้น้ำบริเวณหาดแม่รำพึงนั้น เกิดเป็นสันทรายสูงต่ำสลับกัน มีแอ่งกระทะระหว่างสันทราย เมื่อคลื่นซัดเข้าฝั่ง เกิดเป็นกระแสน้ำและคลื่นย้อนกลับ จนคนที่ว่ายน้ำอยู่ไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำนี้ได้ แม้จะพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่งเต็มที่แล้ว เลยหมดแรงและจมน้ำในที่สุด
“กระแสน้ำริป” หรือที่บางคนเรียกว่า “กระแสน้ำย้อนกลับ” นั้น เป็นกระแสน้ำแคบๆ แต่มีกำลังแรง ที่เกิดขึ้นใกล้ชายหาด และจะไหลออกจากฝั่ง ตัดผ่านแนวของคลื่นที่กำลังซัดเข้ามา จนดูเหมือนกับมีลำธารไหลลงสู่ทะเล จุดที่มีความเร็วและความแรงของกระแสน้ำสูงสุดอยู่ที่บริเวณผิวน้ำ กระแสน้ำริปนั้นเป็นอันตรายอย่างมากแก่คนที่กำลังเล่นน้ำ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในกระแสน้ำริป โดยเฉลี่ยถึงปีละ 46 ราย
กระแสน้ำริปเกิดจากมวลน้ำที่คลื่นซัดเข้าหาฝั่งตามกระแสลมที่พัดพามา และเมื่อมวลน้ำไหลกลับลงสู่ทะเล ก็จะไหลไปตามช่องทางที่สะดวกรวดเร็วที่สุดตามธรรมชาติ ถ้าพื้นทรายใต้น้ำในบริเวณนั้นมีร่องน้ำลึกกว่าตรงจุดอื่น หรือบริเวณนั้นมีสันทรายหรือแนวปะการังขวางอยู่ แล้วมีช่องเปิดระหว่างสันทราย มวลน้ำก็จะไหลออกไปตามร่องน้ำหรือช่องเปิดระหว่างสันทรายนั้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสน้ำริป แต่เป็นการยากมากที่จะคาดการณ์จุดเกิดของกระแสน้ำริป เพราะมันขึ้นกับโครงสร้างทางกายภาพของท้องน้ำบริเวณนั้น บางครั้งอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และหายไปอย่างรวดเร็วก็มี
แม้ว่าคาดการณ์ได้ยาก แต่เราก็อาจหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในบริเวณนั้นได้ เนื่องจากกระแสน้ำริปมีลักษณะจำเพาะบางอย่างที่เราพอสังเกตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากที่สูง จะเห็นเหมือนกับถนนหรือแม่น้ำที่ตัดผ่านท้องทะเล อาจมีความกว้างประมาณ 5-10 เมตรและมีความเร็วของกระแสน้ำถึง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ขึ้นกับความแรงของคลื่นและกายภาพของชายฝั่งทะเล) ผิวน้ำดูเรียบหรือมีฟองโฟม แตกต่างจากด้านข้างซ้ายขวาที่คลื่นแตกซ่าตามปรกติของคลื่นน้ำที่ซัดเข้าและออกจากฝั่ง สีของกระแสน้ำริปอาจดูเข้ม หรือขุ่น หรือจาง แตกต่างจากน้ำทะเลโดยรอบ บางครั้งอาจเห็นสิ่งของที่ลอยน้ำอยู่ เช่น สาหร่าย เศษไม้ ไหลออกไปตามกระแสน้ำด้วย แทนที่จะถูกซัดเข้าฝั่ง
บางคนเข้าใจผิดว่ากระแสน้ำริปดูดนักว่ายน้ำให้จมลงไป แต่ความจริงแล้ว กระแสน้ำริปมีความรุนแรงเฉพาะบริเวณผิวน้ำ และอ่อนกำลังในจุดที่ลึกลงไปตามแรงเสียดทานของน้ำ ถ้านักว่ายน้ำปล่อยตัวให้ลอยไปตามน้ำ ไม่พยายามว่ายทวนกระแสน้ำ เขาก็แค่ถูกดึงให้ห่างชายฝั่ง และจะหลุดออกจากกระแสน้ำในที่สุด
ดังนั้น วิธีลดอันตรายจากกระแสน้ำริปก็คือ ถ้ารู้สึกถึงความผิดปกติ และพบว่าจุดที่ตนเองว่ายน้ำอยู่นั้นมีกระแสน้ำผลักให้ออกจากชายฝั่ง ก็อย่าแตกตื่นหรือพยายามว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อกลับเข้าฝั่ง จนหมดแรงและจมน้ำ แต่ให้ตั้งสติ และเล็งว่าชายฝั่งทะเลอยู่ทางทิศใด แล้วว่ายขนานไปกับชายฝั่ง ตัดผ่านแนวของกระแสน้ำริป เพื่อให้คลื่นน้ำที่อยู่นอกกระแสน้ำริปพาเราให้ลอยตัวกลับเข้าฝั่ง
สำหรับหาดแม่รำพึง ซึ่งกายภาพของท้องทะเลนั้นทำให้เกิดกระแสน้ำริปได้ง่าย จึงควรเฝ้าสังเกตธงสีแดงและป้ายประกาศซึ่งเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติปักเตือนไว้ว่าไม่ควรลงเล่นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้ามรสุมที่มีคลื่นลมแรง คลื่นน้ำสูง และไม่ควรปลีกตัวไปเล่นน้ำตามลำพัง ห่างไกลผู้คน จนไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ถ้าเกิดเจอกระแสน้ำริปกะทันหัน
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์