อาจารย์ที่รวยที่สุดในโลก

-

เดวิด เชอริตันเป็นลูกคนที่สามในจำนวนหกคนของพ่อแม่ชาวแคเนเดี้ยน เขาเกิดที่เมืองแวนคูเวอร์ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)  ซึ่งส่งผลกระทบทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เขาจึงถูกสอนให้กรุยทางชีวิตของตัวเองตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่ของเชอริตันเลี้ยงลูกแบบไม่บังคับ ดังนั้นจึงไม่ว่าอะไรเมื่อเชอริตันคิดอยากจะเอาดีด้านการเล่นกีตาร์คลาสสิคและศิลปะการละคร แต่เมื่อเชอริตันสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไม่ติด เขาจึงเบนเข็มไปเรียนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science) จนจบดอกเตอร์ที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู

 

 

ในปี 1981 เชอริตันได้งานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา และได้พบกับแอนดี้ เบคทอลส์ไฮม์ นักศึกษาปริญญาเอก แอนดี้กำลังสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ชื่อว่า SUN ซึ่งย่อมาจาก Stanford University Network และขอให้เชอริตันช่วยเขียนซอฟต์แวร์ให้ ไม่นานนักแอนดี้ก็ก่อตั้งบริษัท Sun Microsytems ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์อันดับต้นๆ ของโลก

เชอริตันยังคงสอนหนังสือที่สแตนฟอร์ด จนกระทั่งปี 1995 แอนดี้ได้ลาออกจาก Sun และชวนเชอริตันมาร่วมกันตั้งบริษัทด้านฮาร์ดแวร์ 2 บริษัท ก่อนจะขายให้แก่ Sun และ Cisco เชอริตันจึงมีเงินในกระเป๋านับสิบล้านเหรียญ แต่ยังคงสอนวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เหมือนเดิม

จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อนักศึกษาสองคนขอเข้าพบเชอริตันเพื่อจะโชว์งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดลำดับเว็บ พวกเขาเคยนำเทคโนโลยีนี้ไปขายให้ Yahoo และ Excite ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน search engine แต่ถูกปฏิเสธ พวกเขาจึงคิดว่าเชอริตันน่าจะพอมีคำแนะนำที่ดี

เมื่อเชอริตันและแอนดี้ได้เห็นผลงานของสองนักศึกษาหนุ่ม ก็รู้ว่าพวกเขาเจอของดีเข้าให้แล้ว

“ถ้าเว็บนี้ได้วันละ 1 ล้านคลิก และคลิกหนึ่งทำเงิน 5 เซนต์ แสดงว่าเขาจะทำเงินได้วันละ 50,000 เหรียญ ดังนั้นเว็บนี้น่าจะไม่เจ๊งแน่ๆ” แอนดี้กล่าวถึงความคิดในตอนนั้น

ทั้งเชอริตันและแอนดี้จึงเขียนเช็คคนละ 100,000 เหรียญเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการทำบริษัทให้แก่นักศึกษาที่ชื่อว่า  แลร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ในการสตาร์ทอัพเล็กๆ ชื่อ Google

เงิน 100,000 เหรียญกลายมาเป็นหุ้นที่เชอริตันถือใน Google และมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิมนับหมื่นเท่า

ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ Forbes ประมาณการว่าเชอริตันในวัย 68 ปี มีมูลค่าทรัพย์สินถึง 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 แสนล้านบาทไทย มูลค่าพอๆ กับรถไฟฟ้า BTS

แม้จะมีทรัพย์สินมหาศาลขนาดนี้ แต่เชอริตันก็ยังคงขับรถตู้โฟล์คปี 1986 และอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่เขาอยู่มา 30 ปี การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายที่สุดที่เชอริตันเคยทำก็คือการซื้อรถ Honda Odyssey ปี 2012 ให้ลูกๆ ขับ (ราคาขายในไทยประมาณ 2.5 ล้านบาท)

“ผมค่อนข้างมีโชคในเรื่องการลงทุน แต่เรื่องการใช้เงิน สมองของผมยังคิดเหมือนวณิพกอยู่เลย”

หลายสิบปีที่ผ่านมา เชอริตันยังลงทุนในสตาร์ทอัพอีกหลายบริษัท แต่เขาก็ระมัดระวังที่จะไม่ทำอะไรตามกระแส เขาไม่เคยลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำโซเชียลเน็ตเวิร์คเลย เขาจะควักกระเป๋าก็ต่อเมื่อบริษัทนั้นกำลังสร้างสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นได้จริงๆ เหมือนกับที่ Google ช่วยให้เด็กมหา’ลัยหาข้อมูลทำงานวิจัยได้แม้จะเป็นเวลาตี 3 แล้ว

“ผมเชื่อว่าถ้าคุณสร้างคุณค่าอย่างแท้จริงให้แก่โลกใบนี้ และทำมันด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผล ลงท้ายแล้วตลาดจะตอบแทนคุณเอง”


เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai

ภาพประกอบ

https://engineering.stanford.edu/magazine/article/david-cheriton-goal-get-students-think-experts

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!