อย่า ‘แรด’ นักเลย

-

อย่า ‘แรด’ นักเลย

ปัจจุบันสื่อต่างๆ มีบทบาทสำคัญให้ผู้เสพได้เห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก  ซึ่งถ้ากล่าวเฉพาะในทางสังคมไทยก็รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในด้านชีวิต ความเป็นอยู่ พฤติกรรม แนวคิด ฯลฯ ของคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกและลบ ฉบับนี้ผู้เขียนจะนำเสนอการใช้สำนวนไทยว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยยกตัวอย่างสำนวนซึ่งมีที่มาจากสัตว์ร้ายที่ถูกนำมาใช้ในความหมายเปรียบกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แรด งูเห่า และเหี้ย 

 

แรด 

‘แรด’ เป็นสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่อาจดุร้ายและเป็นอันตราย แรดมีอายุยืนยาวประมาณ 45-50 ปี  มีขนาดใหญ่รองจากช้าง มีอวัยวะเด่นคือ ‘นอ’ ซึ่งใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ชอบนอนแช่ในโคลนหรือปลักเพื่อดับความร้อนและไล่แมลงที่มารบกวน แรดกินพืช เช่น ใบไม้ ผลไม้สุก หญ้า ฯลฯ เป็นอาหาร โดยธรรมชาติแรดตัวเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงแรดตัวผู้มาครอบครอง 

ได้มีผู้นำคำว่า ‘แรด’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับพฤติกรรมเกินงามน่าตำหนิของผู้หญิงที่ดัดจริต แก่แดด ไวไฟ ไม่สงวนตัว มีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคนหรือแย่งชิงผู้ชายกันจนถูกดูแคลนว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่ในปัจจุบันคำ ‘แรด’ จะถูกนำมาใช้พูดกันเป็นปกติจนเกือบเป็นคำสามัญ เช่น นวลเห็นน้องสาวแต่งตัวตามสมัยนิยมของวัยรุ่นคือนุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อสั้นจนเห็นสะดือ กำลังจะออกไปนอกบ้านในวันหยุดแทนที่จะช่วยทำงานบ้านบ้างว่า “วันนี้จะไปแรดที่ไหนอีกล่ะ เดี๋ยวพ่อกับแม่กลับมาหล่อนจะโดนเอาเรื่องแน่ๆ” 

 

เหี้ย 

‘เหี้ย’ เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีรูปร่างลักษณะเหมือนกิ้งก่า แต่มีขนาดใหญ่คล้ายมังกร ตัวยาวเต็มที่ประมาณ 2-3 เมตร  หางยาวพอๆ กับความยาวของลำตัว ผิวหนังเป็นเกล็ดปุ่มนูนสีเหลืองหรือสีขาวลายดอกที่เชื่อมต่อกันตลอดทั้งตัว มีลิ้นสองแฉกคล้ายงูสำหรับรับกลิ่นอาหารได้ไกลหลายเมตร มีฟันคล้ายใบเลื่อยสำหรับใช้บดกินอาหาร ชอบกินของเน่าเปื่อย เศษซากอาหาร หรือสัตว์ขนาดเล็ก เช่น เป็ด ไก่ หนู นก ปลา เป็นต้น เหี้ยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ว่ายน้ำดำน้ำเก่ง อยู่บนบกได้บ้าง มีเล็บแหลมคนสำหรับปีนป่าย เหี้ยจึงปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว มีนิสัยตื่นคน ถ้าพบคนก็จะหนี ถ้าเหี้ยเข้ามาในบ้านหรือบริเวณบ้านคนจะกลัวและขยะแขยง  ดังโคลงในวรรณคดีเรื่องสามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ว่า 

  มังกรเป็นชื่อใช้ เชิงแฝง  ด้วยนา 

ขึ้นเย่าเราขยะแขยง โยคเปลี้ย 

ยักย้ายอุบายแปลง นามเปลี่ยน 

ชื่อที่จริงคือเหี้ย โหดร้ายมลายสิน 

เหี้ยจึงมีชื่อแฝงว่า ‘มังกร’ และด้วยรูปลักษณ์ที่มีปุ่มสีเหลืองสีขาวบนตัว บางคนจึงเรียกเหี้ยว่า ‘ตัวเงินตัวทอง’ เมื่อนำ ‘เหี้ย’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงคนที่มีพฤติกรรมในทางลบ เป็นที่น่ารังเกียจ แต่ปัจจุบันคำนี้บางครั้งผู้ใช้พูดหรือเรียกกันแสดงถึงความสนิทสนมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เช่น ชูพูดกับแจ็คเพื่อนร่วมห้องเรียนเมื่อพบกันตอนเช้าว่า “ไอ้เหี้ยแจ็ค ทำไมเมื่อวานมึงไม่ไปพบเพื่อนๆ ตามนัดวะ ใครๆ เขาก็คอยกัน” 

 

งูเห่า 

‘งูเห่า’ เป็นงูพิษร้ายแรงขนาดกลาง ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตร มีหลายสี เช่น ดำ น้ำตาลอ่อน ขาว ฯลฯ มีนิสัยดุร้าย โดยเฉพาะในช่วงวางไข่จะดุร้ายเป็นพิเศษ ถ้างูเห่าตกใจหรือตั้งใจจะขู่ศัตรู มันจะทำเสียงขู่ฟู่ๆ ด้วยการพ่นลมออกจากทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังบริเวณคอออกมา เรียกว่า ‘แผ่แม่เบี้ย’ หรือ ‘แผ่พังพาน’ ถ้าใครโชคร้ายถูกงูเห่ากัดก็จะเสียชีวิต เพราะพิษของมันมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรง งูเห่าบางชนิดจะพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษ เรียกว่า ‘งูเห่าพ่นพิษ’ ใครถูกมันพ่นพิษใส่ก็ทำให้ตาบอดได้ 

‘งูเห่า’ ที่เป็นสำนวนเปรียบแพร่หลายมีที่มาจากนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า ซึ่งมีเรื่องโดยย่อว่า วันหนึ่งในฤดูหนาว ชาวนาเห็นงูเห่านอนหนาวตัวแข็งอยู่บนคันนาก็สงสาร จึงอุ้มมันขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิต แต่เมื่องูเห่าได้รับความอบอุ่นก็รู้สึกตัว เห็นชาวนาก็ตกใจแว้งกัดชาวนาตายในที่สุด สมัยก่อน ‘งูเห่า’ ถูกนำมาใช้ให้เป็นสำนวนเปรียบหมายถึงคนทั่วไปที่อกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณ แต่ปัจจุบันนิยมนำ ‘งูเห่า’ มาใช้เปรียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือนักการเมืองที่ทรยศเอาใจออกห่างจากพรรคที่ตนสังกัดอยู่ เช่น ลงมติสวนทางกับพรรคของตน หรือย้ายไปอยู่พรรคอื่นเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เช่น ตอนหนึ่ง ส.ส. สมมติพูดกับ ส.ส. กำแหงถึงผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวว่า “ทำตัวเป็นงูเห่าอย่างนี้ ไม่กลัวถูกสาปแช่งรึไง รับรองว่าในอนาคตเส้นทางการเมืองจะไม่ราบรื่นนัก” 


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!