ขานรับลงท้ายในคำลาว

-

ขานรับลงท้ายในคำลาว

เมื่อเดือนก่อน มีเพื่อนคนไทยที่ไปทำธุรกิจในฝั่งลาวมาปรึกษากับผู้เขียนว่า ผู้จัดการคนไทยเกิดขัดแย้งไม่พอใจพนักงานคนลาว เนื่องจากผู้จัดการเห็นว่าพนักงานคนลาวพูดจาห้วน กระด้าง ไม่มีหางเสียง ขาดสัมมาคารวะ ผู้เขียนจึงได้ช่วยเพื่อนปรับความเข้าใจโดยไปบอกกล่าวแก่ผู้จัดการว่า ภาษาลาวนั้นแม้จะมีส่วนคล้ายภาษาไทย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีการใช้คำขานรับ อย่างไรก็ตาม ในการพูดที่ต้องคำนึงถึงสถานะระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เช่น การพูดกับพระภิกษุสงฆ์ หรือผู้บริหารระดับสูง หรือกับคนเฒ่าคนแก่ผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ยังมีการใช้คำขานรับในแบบดั้งเดิมอยู่บ้างเพื่อแสดงความสุภาพ ดังนี้

ໂດຍ โดย ออกเสียงจริงเป็น โด่ย หรือ โด๋ย เป็นคำขานรับท้ายประโยค อาจหมายความว่า ตกลง รับทราบ ได้ จะดำเนินการ ฯลฯ ใช้เวลาผู้น้อยรับคำผู้ใหญ่ หรือฆราวาสญาติโยมขานรับพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี ผู้ทรงศีล เดิมคำ โดย นี้ใช้กันทั่วไปแพร่หลายเป็นปกติในยุคราชอาณาจักรลาว แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติในปี 1975 การใช้คำแสดงความเคารพนับถือผู้ใหญ่ผู้อาวุโสก็ลดลงไป ปัจจุบันยังมีใช้ให้เห็นอยู่บ้างในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคนต่างแขวงที่ยังดำรงรักษาประเพณีดั้งเดิมของลาวไว้

ຂ້ານ້ອຍ ข้าน้อย เป็นคำใช้แทนตัวผู้พูด ซึ่งส่วนมากเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานต่ำกว่า หรือเป็นลูกจ้าง ขานรับหัวหน้าหรือเจ้านาย รวมถึงอาจใช้ร่วมกับ โดย ว่า ໂດຍຂ້ານ້ອຍ

ເຈົ້າ เจ้า ออกเสียงสั้นเป็น เจ๊า เป็นคำขานรับของสตรี หรือเด็กผู้ชาย ได้รับอิทธิพลจากภาษาล้านนา เนื่องจากนครหลวงเวียงจันทน์มีการเทครัวชาวล้านนามาตั้งรกรากอยู่ในอาณาจักรล้านช้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อีกทั้งชาวล้านช้างมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับชาวล้านนามาแต่โบราณ คำ “เจ้า” จึงพลอยติดมาด้วย และใช้มากในประเทศลาวทางเหนือ ซึ่งแตกต่างจากลาวใต้ที่มักไม่ขานรับแบบมีหางเสียง 

ວາ วา ออกเสียงสูงยาวเป็น หวา เป็นคำท้ายประโยคแสดงคำถามหรือความสงสัย ในรูปไวยากรณ์ไทยอาจเรียกว่าเป็นปฤจฉาวิเศษณ์ เป็นสำเนียงเวียงจันทน์โดยเฉพาะ หากไปอยู่เขตแขวงอื่นจะมีคำท้ายประโยคแสดงคำถามที่แตกต่างกัน


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!