มีการนำคำว่า “กระดูก” มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนไทยมาแต่โบราณ ซึ่งน่าสนใจ ได้แก่ สำนวน “เกลียดเข้ากระดูกดำ” “กระดูกร้องได้” ฯลฯ
เกลียดเข้ากระดูกดำ
กระดูกเป็นโครงร่างกายหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงร่างกาย มีลักษณะแข็ง มีเนื้อหนังหุ้มอยู่ ส่วนคำว่า “เกลียด” มีความหมายในทางลบว่าไม่ชอบ เมื่อนำมาใช้รวมกันกับ “เข้ากระดูกดำ” เป็นสำนวน “เกลียดเข้ากระดูกดำ” จึงใช้ในความเปรียบที่สื่อน้ำเสียงลึกล้ำรุนแรง เพราะพลังความเกลียดทะลุเข้าถึงกระดูก
ปกติกระดูกจะมีสีขาว แต่ถ้าผู้ใดเป็นโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษซึ่งมีพิษร้ายแรง พิษของโรคร้ายดังกล่าวจะแทรกซึมเข้าไปในร่างกาย แม้แต่กระดูกก็จะมีรอยดำติดอยู่ไม่หายไปจนตาย “เกลียดเข้ากระดูกดำ” จึงเป็นสำนวนเปรียบที่มีความหมายว่าเกลียดฝังลึก เกลียดไม่หาย เกลียดที่สุด เช่น ป้าแมวพูดกับลุงชดสามี หลังจากเห็นหนุ่มฉมเดินส่งเสียงเอะอะผ่านหน้าบ้านไปว่า “ฉันละเกลียดไอ้เจ้านี่เข้ากระดูกดำ มันช่างทำชั่วได้ตลอด สร้างแต่ความเดือดร้อน ทั้งขโมย ทั้งกินเหล้า ติดยา ทะเลาะเบาะแว้งกับใครต่อใคร วันๆ ได้แต่นอน ตื่นขึ้นมาก็เดินหาเหยื่อเพื่อแย่งชิงเงินทองคนอื่น ไม่เคยคิดกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีกับใครเค้าบ้างเลย สงสารแม่ของมัน”
อนึ่ง มีสำนวนที่ถูกนำมาใช้ให้มีความหมายเปรียบคล้ายกับ “เกลียดเข้ากระดูกดำ” อีกสำนวนหนึ่ง ได้แก่ “เกลียดเข้าไส้” คือเกลียดอย่างลึกซึ้ง
กระดูกร้องได้
กระดูกเป็นสิ่งไม่มีชีวิต จึงส่งเสียงร้องใดๆ มิได้ แต่เมื่อมีผู้นำมาใช้เป็นสำนวนว่า “กระดูกร้องได้” จึงเป็นภาพพจน์ที่ส่อถึงความมีชีวิตของกระดูกของคนที่ถูกฆ่า ดังในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนงานแต่งงานพระไวย (พลายงาม) ขุนช้างและนางวันทองมาช่วยงานแต่ง แต่ขุนช้างกินเหล้าเมาเอะอะโวยวายลำเลิกบุญคุณด่าว่าพระไวย จึงถูกพระไวยสั่งให้พวกข้าไทรุมทุบตีจนขุนช้างสลบ เมื่อฟื้นขึ้นมาก็โกรธอาฆาตแค้น บอกว่าจะไปฟ้องเจ้านาย
ถึงตัวกูบรรลัยกระดูกร้อง อันจะถองเล่นเปล่าเปล่าเจ้าอย่าหมาย
มึงพวกมากฝากไว้เถิดไอ้พลาย ถ้าเจ้านาย[1]ไม่เลี้ยงก็แล้วไป
เคยมีสื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีความที่เกิดจากการตายอย่างมีปริศนาของชายหนุ่มคนหนึ่ง แล้วผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่สรุปคดีออกมาในรูปของอุบัติเหตุ แต่บางคนคิดว่าน่าจะมีเงื่อนงำบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะญาติๆ ผู้ตายไม่เชื่อถือผลสรุปดังกล่าว ครั้นมีเหตุการณ์บางอย่างที่เหมือนกับผู้ตายมาดลใจให้ญาติๆ ฉุกคิด ญาติๆ จึงยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ ในที่สุดปรากฏว่าผลการสอบสวนพลิกจากเรื่องที่ว่าตายโดยอุบัติเหตุกลายเป็นการถูกฆาตกรรม จนฆาตกรถูกจับและยอมรับสารภาพ ผู้คนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ เช่นตอนหนี่งถวัลย์พูดกับนาทเพื่อนร่วมงานว่า “สำนวนกระดูกร้องได้นี่มันเป็นจริงนะ ดูสิกระดูกยังสู้จนชนะได้ อย่าว่าแต่กระดูกคนตายเลย ถ้าอะไรไม่ถูกต้อง คนเป็นๆ ก็ย่อมมีสิทธิ์จะร้องเรียนเพื่อความยุติธรรมได้เหมือนกัน จะยอมให้ผิดเป็นถูกได้ไง ใช่เปล่า?”
[1] เจ้านายในที่นี้หมายถึงสมเด็จพระพันวษา
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์