อ่าน-เขียนครบครันที่ readAwrite

-

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ รวมถึงการอ่าน ที่ไม่จำกัดอยู่บนหน้ากระดาษอีกต่อไป จึงเกิดแอพพลิเคชั่น “readAwrite” (รี้ด-อะ-ไร้ต์) แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักเขียนได้เผยแพร่ผลงาน และนักอ่านได้อ่านงานบนโลกออนไลน์ ทีมงานผู้ให้สัมภาษณ์พูดคุยกับเราในวันนี้ประกอบด้วย อะตอม-อารียา ศิริภูธร (ตำแหน่ง Marketing Officer) พิชชี่-ปัณณทัต ศุภรัตโนดม (ตำแหน่ง Programmer) และปูเป้-ศิริวิมล วิสุทธิ์ศักดิ์ชัย (ตำแหน่ง Digital Marketing Officer)

ปูเป้ พิชชี่ และอะตอม
readAwrite เป็นแอพพลิเคชั่นซึ่งเปิดพื้นที่สำหรับนักอ่านและนักเขียน เน้นอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงได้ทั้งเว็บไซต์จากคอมพิวเตอร์และแอพฯ บนมือถือ (ดาวน์โหลดใช้งานได้ทั้งระบบ Android และ IOS) โดยมีสโลแกนคือ “read ได้ write ดี ต้องที่ readAwrite” ซึ่งจะเปิดใช้งานครบ 3 ปีในเดือนมีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้
การใช้งาน: เมื่อเปิดเข้ามา หน้าแอพฯ จะแบ่งสัดส่วนชัดเจน ได้แก่ “ประเภท” ซึ่งแบ่งเนื้อหาที่มีทั้งนิยายความเรียง, นิยายแชต, การ์ตูน, บทความ, และห้องตั้งกระทู้ถามเพื่อให้สมาชิกได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ readAwrite ยังเพิ่มความหลากหลายด้วย “หมวดหมู่” ให้เลือกอ่านและสร้างสรรค์ผลงานได้ตามความชอบ เช่น นิยายรักจีนโบราณ, นิยายแฟนตาซี/Sci-Fi/ไลท์โนเวล, วรรณกรรม/ดราม่า/เสียดสีสังคม, วรรณกรรมเยาวชน เป็นต้น

 

จุดเริ่มต้นของ readAwrite
ปูเป้: จุดเริ่มต้นของแอพฯ readAwrite เกิดจากการที่บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (หรือ meb e-book) ผู้ให้บริการจัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เล็งเห็นความสำคัญของแพลตฟอร์มที่จะมาช่วยส่งเสริมการขายและการอ่าน ทีมงานจึงพัฒนา readAwrite เพื่อให้ “นักเขียน” สามารถเขียนนิยายในรูปแบบที่ตัวเองชื่นชอบได้อย่างอิสระ เพิ่มโอกาสของนักเขียนในการสร้างรายได้เป็นรายตอน (นอกเหนือจากการเขียนนิยายจบเล่มหรือตีพิมพ์ทั่วๆ ไป) และอีกด้านหนึ่งคือเพื่อให้ “นักอ่าน” สามารถเข้าถึงเนื้อหาใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

การแบ่ง “ประเภท” และ “หมวดหมู่” ที่หลากหลาย
พิชชี่: ประเภทของคอนเทนต์ใน readAwrite มีทั้งนิยายบรรยาย บทความ กระทู้ และการ์ตูนค่ะ เราพบว่านักเขียนบางส่วนมีการลงการ์ตูนในหมวดนิยายบรรยาย เราจึงเพิ่มหมวดการ์ตูนแยกต่างหาก แบ่งประเภทการอ่านได้เป็น 2 แบบ คือ 1.เว็บตูน (เลื่อนหน้าจออ่านจากบนลงล่าง) 2.คอมมิค (เสมือนเลื่อนหน้าอ่านจากรูปเล่ม สามารถเลือกอ่านจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายได้) และ “นิยายแชต” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านนักเขียนรุ่นใหม่

อะตอม: ด้านเนื้อหา เรามีการแบ่งหมวดหมู่ที่หลากหลายให้เลือกอ่านเลือกเขียนตามความชื่นชอบของแต่ละท่าน เช่น “นิยายรักโรแมนติค” “วรรณกรรมเยาวชน” “นิยายลึกลับ/เขย่าขวัญ/สืบสวนสอบสวน” หมวดหมู่ยอดนิยมจะเป็น “บอยเลิฟ” (ชายรักชาย) และ “เกิร์ลเลิฟ” (หญิงรักหญิง) ค่ะ ช่วงนี้นิยายจีนโบราณเป็นที่นิยมจึงเพิ่มหมวดหมู่ “นิยายรักจีนโบราณ”

แอพพลิเคชั่น “readAwrite”


เมื่อแอพฯ readAwrite เปิดกว้างให้นักเขียนอัพโหลดเรื่องอะไรก็ได้ ในฐานะเจ้าของแอพฯ มีวิธีควบคุมความเหมาะสมของเนื้อหาในด้านต่างๆ อย่างไร

อะตอม: เรามีระบบ Rating ซึ่งเป็นระบบให้นักเขียนตั้งระดับความเหมาะสมสำหรับนิยายของตัวเอง มีตั้งแต่ระดับ ทุกวัย, 15+, 18+ หรือ 20+ แล้วแต่วิจารณญาณของนักเขียนว่าจะตั้งในเกณฑ์เท่าไร ทั้งนี้ถ้านิยายเรื่องไหนเนื้อหาเกินความเหมาะสมจากระดับที่ตั้งไว้ เราจะตรวจสอบและเข้าไปพูดคุยกับนักเขียน แจ้งเหตุผลว่าเรื่องนี้ควรปรับเพราะอะไร

ฟีเจอร์ใช้งานที่เหมาะกับนักเขียน
อะตอม: แอพฯ ของเรามีฟีเจอร์เหมาะกับนักเขียนค่อนข้างมาก ฟีเจอร์สำคัญคือ “ปรู๊ฟ proof” (ตรวจคำผิด) ซึ่งเปิดให้ใช้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นเมมเบอร์หรือไม่ได้เป็นก็สามารถใช้งานได้ เพื่อรองรับงานเขียน นอกจากนี้ยังมีระบบ “พรีออเดอร์” (pre-order) สำหรับนักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือทำมือเองแล้วต้องการเปิดพรีออเดอร์ แต่ยังไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยรวบรวมข้อมูล เช่น จำนวนรายชื่อผู้สั่งซื้อ เราจึงพัฒนาเครื่องมือนั้นใน readAwrite เพื่อช่วยนักเขียนให้ใช้งานสะดวกขึ้น และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

แอพฯ อ่านนิยายแห่งแรกที่มีระบบโดเนท
พิชชี่: readAwrite คือแอพฯ อ่านนิยายแห่งแรกที่มี “ระบบโดเนท” (donate บริจาค) เนื่องจากนิยายบางเรื่องเปิดให้อ่านฟรี นักอ่านจึงไม่มีช่องทางที่จะสนับสนุนนักเขียน ก็สามารถโดเนทเพื่อส่งกำลังใจและสนับสนุนนักเขียนที่ชื่นชอบได้นอกเหนือจากการคอมเมนต์ (comment) นอกจากนี้ readAwrite ยังมี “ระบบให้ทิป” สำหรับนักเขียนที่เปิดการขายตอนด้วยเช่นกัน เป็นการโดเนทพร้อมกับการซื้อตอน เช่น นักเขียนเปิดขายตอน ราคาตอนละ 3 บาท นักอ่านสามารถซื้อในราคา 3 บาท หรือ 4 บาท, 5 บาท, 10 บาท ก็ได้ เป็นการซื้อตอนพร้อมให้ทิปเพิ่ม

นักอ่านสามารถโดเนทให้นักเขียนเป็นไอเท็มสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น กดมอบแอปเปิ้ลแก่นักเขียน เท่ากับช่วยโดเนทในจำนวนเงิน 5 บาท, ไอศกรีม (10 บาท), กาแฟ (20 บาท) หรือไอเท็มลับอื่นๆ และในแต่ละเดือนเราจะมีสเปเชียลโดเนท เช่น ในเดือนพฤศจิกายนมีเทศกาลลอยกระทง ก็จะโดเนทด้วยไอเท็มรูปกระทงต่างๆ เช่น กระทงกะลา กระทงน้ำแข็ง กระทงใบตอง กระทงดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้โดเนทคือระบบที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักอ่านเท่านั้น ไม่ได้มีการบังคับจ่ายแต่อย่างใด

แอพฯ อ่านนิยายแห่งแรกที่มีระบบโดเนท

ความเชื่อมโยงระหว่าง readAwrite กับ meb e-book
พิชชี่: เมื่อเขียนนิยายใน readAwrite จบ สามารถส่งต่อมาขายใน meb e-book ได้ค่ะ เรามีทีมงานช่วยดำเนินการ ส่วนนิยายที่เปิดขายบน meb e-book ก็สามารถลิงก์ย้อนกลับมาอ่านรายตอนที่ readAwrite ได้เช่นกัน บนแอพฯ เรามีพื้นที่ให้นักเขียนแปะลิงก์ฉบับ e-book ไว้ ปรากฏส่วนที่แสดงว่านิยายเรื่องนี้มีขายใน meb e-book สามารถกดเข้าไปซื้อได้เลย

ปูเป้ : อีกทั้งเรายังร่วมกับทาง B2S [บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นธุรกิจในเครือ COL หรือบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีร้านจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน และหนังสือแบบรูปเล่มอย่าง B2S (บีทูเอส) ตามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล] ใช้วิธีการโปรโมตหนังสือฉบับเล่มที่วางจำหน่ายในร้าน นักอ่านสามารถทดลองอ่านตัวอย่างงานเขียนจาก readAwrite ก่อนตัดสินใจซื้อได้อีกด้วย เป็นการเชื่อมโยง meb e-book readAwrite และ B2S เข้าด้วยกัน

สื่อสิ่งตีพิมพ์ยังไม่ตาย
ปูเป้: สำหรับทีมงานมองคำว่า “สื่อสิ่งพิมพ์” หรือ “สิ่งตีพิมพ์” เป็น 2 แบบ แบบแรกคือกลุ่มที่ต้องการความรวดเร็วในการนำเสนอ อย่างเช่น ข่าว สิ่งตีพิมพ์พวกนี้จะได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคต เป็นกลุ่มที่กำลังจะตายจากโลกออฟไลน์ แต่ไปอยู่บนโลกออนไลน์แทน แบบที่ 2 คือกลุ่มที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และไม่ต้องการความเร่งด่วนในการนำเสนอ เช่น นิยาย การ์ตูน เรามองเห็นว่ากลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ แต่โลกออฟไลน์มีความท้าทายตรงที่ตัวเล่มหรือสิ่งตีพิมพ์ ถ้าไม่ได้อยู่ในกระแสหลักก็จะไม่ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายหรือไม่ได้รับผลตอบรับมากเท่าที่ควร จึงมีความท้าทายอยู่แต่ยังไม่ตาย ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตคือกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากๆ เช่น นิยายแปลจีนหรือการ์ตูนแปลญี่ปุ่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก รวมถึงนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ อย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาเรามีละครที่สร้างจากนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาส หรือซีรีส์วาย (ชายรักชาย) ที่ออนแอร์ทาง GMM Grammy, Line TV ค่อนข้างเยอะ เมื่อคนดูได้ติดตามซีรีส์แล้วก็จะตามอ่านจากต้นฉบับที่เป็นหนังสือ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สิ่งตีพิมพ์ยังไม่ตาย

โดเนทเพื่อส่งกำลังใจและสนับสนุนนักเขียนที่ชื่นชอบได้นอกเหนือจากการคอมเมนต์

การอ่านและขายนิยายออนไลน์คือทางเลือกหนึ่ง
ปูเป้: readAwrite นับเป็นการอ่านทางเลือกหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักอ่าน ยกตัวอย่างกรณีที่เราเคยพบคือนักอ่านบางท่านอยู่ต่างประเทศ ต้องการอ่านนิยายภาษาไทย แต่ประสบปัญหาไม่สามารถเดินมาเลือกซื้อหนังสือในร้านได้ กับอีกกรณีคือเด็กรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าอยากอ่านตอนนี้เลย แต่ไม่สามารถไปเลือกซื้อในร้านหนังสือ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านหนังสือมีจำนวนน้อย readAwrite และ meb e-book จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักอ่านกลุ่มนั้นเข้าถึงคอนเทนต์ได้เร็วขึ้น

แอพฯ อ่านนิยายที่โยงใย “นักเขียน” กับ “นักอ่าน”
อะตอม: เราต้องการให้ readAwrite เป็นคอมมิวนิตี้เชื่อมโยงนักเขียนและนักอ่านเข้าด้วยกัน แอพฯ อยากเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกคนจึงเปิดกว้างด้านฟีดแบค (feedback) เพราะต้องการทราบว่านักอ่านนักเขียนมีความคิดเห็นกับแอพฯ เราอย่างไร สิ่งใดต้องแก้ สิ่งไหนต้องปรับปรุง เพื่อนำข้อมูลส่วนนั้นมาพัฒนาแอพฯ ให้ดีขึ้น

ปูเป้: นักอ่านนักเขียนจะส่งความคิดเห็นมาทางอีเมล แฟนเพจ หรือทวิตเตอร์ค่ะ เรามีเจ้าหน้าที่คอยรับข้อมูลเพื่อประชุมในทีมและแก้ไขอยู่เสมอ

ทีมงาน readAwrite

กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้
พิชชี่: ในแต่ละเดือนที่มีเทศกาล readAwrite จะจัดกิจกรรมให้ผู้ใช้ได้ร่วมสนุก เช่น ลอยกระทงออนไลน์ ล่าสุดเราจะมีฟีเจอร์ trophy (ถ้วยรางวัล) นักเขียนและนักอ่านสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดโดย readAwrite แล้วก็จะได้รับตราที่ระลึกเก็บสะสมในสมุด trophy คล้ายๆ การแสตมป์ลงในพาสปอร์ต ตัวอย่างกิจกรรม เช่น เดือนตุลาคมมีกิจกรรม 2 กิจกรรมคือ readAwrite 10.10 จะเปิดให้อ่านนิยายที่ติดเหรียญในแอพฯ ฟรีหนึ่งวัน กับกิจกรรม readtober2019 แต่งนิยายตามธีม (theme) ที่เรากำหนดไว้ นักเขียนที่เข้าร่วม 2 กิจกรรมนี้ก็จะได้รับถ้วยรางวัลค่ะ

การพัฒนา readAwrite ในอนาคต
ปูเป้: ที่ผ่านมาเราพัฒนา readAwrite จากข้อคิดเห็นของทีมงานที่เสนอเข้ามา และอีกทางคือเปิดรับฟีดแบคจากผู้ใช้งานจริง นำมาวิเคราะห์ว่าสมควรพัฒนาจุดใดต่อไป ฉะนั้นแนวทางการพัฒนาในอนาคตของเราที่วางไว้คือสร้างการเขียนนิยายรูปแบบใหม่ๆ ปรับปรุงความรวดเร็วในการใช้งาน สามารถเข้าถึงเนื้อหาภายในแอพฯ ได้สะดวกขึ้น และกระชับความสัมพันธ์ สร้างความใกล้ชิดระหว่างนักอ่านกับนักเขียนยิ่งขึ้น

 

ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก readAwrite

 


คอลัมน์ : ถนนวรรณกรรม
All Magazine มกราคม 2563

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!