สวัสดีปีใหม่พุทธศักราช 2563 ค่ะ ขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจตลอดปีนะคะ
ปีนี้เป็นปีชวด (หนู) ทำให้คิดถึงพฤติกรรมของหนูที่ถูกนำใช้มาเป็นสำนวนเปรียบตั้งแต่สมัยโบราณ มีบางสำนวนที่น่าสนใจและยังนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น หนูตกถังข้าวสาร, แมวไม่อยู่หนูระเริง แมวมาหลังคาเปิง เป็นต้น
หนูตกถังข้าวสาร
ถังเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้ หรือโลหะ หรือพลาสติก มีรูปร่างและขนาดต่างๆ กัน ใช้ตักน้ำ ใช้ตวงหรือใส่สิ่งของ ถ้าใส่ของที่กินได้ เช่น ข้าวสาร เมล็ดถั่ว ฯลฯ ก็ต้องปิดฝาไว้ เพราะถ้าไม่ปิด สัตว์หรือแมลงบางชนิดก็อาจจะลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนูที่ตกหรือตั้งใจลงไปกินข้าวสารในถัง บางทีกินแล้วขึ้นไม่ได้ก็มี แต่ก็โชคดีที่ยังมีข้าวสารให้มันกินจนกว่าจะมีคนมาเห็นแล้วไล่ไปให้พ้น
“หนูตกถังข้าวสาร” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบหมายถึงชายยากจนที่ได้ภรรยาร่ำรวยมาก แต่ภายหลังใช้กับผู้หญิงฐานะไม่ดีที่ได้สามีเป็นมหาเศรษฐีก็มี อย่างไรก็ตามสำนวนนี้แฝงนัยความหมายในเชิงเสียดสีหมิ่นแคลน เช่น ป้าเม้าพูดกับยายมิ่งถึงหลานชายรูปหล่อของเพื่อนบ้านตอนหนึ่งว่า “เจ้าจ๊อดมันสบายแล้วชาตินี้ เป็นหนูตกถังข้าวสาร ไปได้แม่ม่ายเศรษฐีใหญ่ในเมืองเป็นเมีย ได้ข่าวว่ายายนั่นหลงมันหัวปักหัวปำ”
แมวไม่อยู่หนูระเริง แมวมาหลังคาเปิง
“ระเริง” แปลว่ารื่นเริงบันเทิงใจจนเกินไป “เปิง” แปลว่ายับเยินหรือพังทลาย โดยธรรมชาติแมวกับหนูเจอกันไม่ได้ แมวเห็นหนูเมื่อไรเป็นต้องวิ่งไล่กวดจับหนูเมื่อนั้น ถ้าหนูวิ่งหนีไม่ทันก็จะถูกแมวกัดตาย คนจึงนิยมเลี้ยงแมวซึ่งมีธรรมชาติเป็นนักล่าไว้จับหนูที่ชอบมากินอาหารและกัดแทะสิ่งของ ทั้งยังเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่คน เวลาพวกหนูอยู่ด้วยกันก็จะสนุกสนานส่งเสียงดังจนลืมตัว แต่พอได้กลิ่นหรือเห็นแมวมาก็จะวิ่งหนีเตลิด บางทีหนีขึ้นไปบนหลังคา แมวก็วิ่งกวดตาม ทำให้หลังคาที่มุงด้วยหญ้าคา หรือหญ้าแฝก หรือใบจากถึงกับกระจุยกระจายยับเยินก็มี
ด้วยพฤติกรรมของแมวและหนูดังกล่าว จึงมีผู้ใช้ “แมวไม่อยู่หนูระเริง แมวมาหลังคาเปิง” เป็นสำนวนเปรียบเมื่อผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชารื่นเริงบันเทิงใจจนเกินไปเวลาที่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจไม่อยู่ ครั้นรู้หรือเห็นท่านกลับมาก็ตกใจ รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็วจนดูผิดปกติ เช่น เมื่อครูคณิตศาสตร์ชั้นประถมปีที่ 4 บอกนักเรียนว่าจะไปพบผู้อำนวยการ ให้นักเรียนนั่งทำแบบฝึกหัดไปเงียบๆ อีกสักครู่จะกลับมา ทันทีที่ครูพ้นห้อง นักเรียนได้โอกาสก็ส่งเสียงดังพูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน บางคนก็เดินไปหาเพื่อนโต๊ะอื่น พอได้ยินเสียงครูเดินมาก็รีบกลับมานั่งที่ ชนโต๊ะเก้าอี้จนไม่อยู่กับแถวกับแนว ครูพูดขึ้นว่า “พวกเธอก็เป็นเสียอย่างนี้แหละ พอครูไม่อยู่ ก็สนุกสนานกันเกินขนาด เคยได้ยินรึเปล่าสำนวนที่ว่า ‘แมวไม่อยู่หนูระเริง แมวมาหลังคาเปิง’ น่ะ”
ส่วนหน้าของสำนวนนี้บางคนใช้ว่า “แมวไม่อยู่หนูละเลิง” ก็มี (ละเลิงแปลว่าเหลิงจนลืมตัวเพราะคึกคะนอง) แต่มีบางคนใช้ว่า “แมวไม่อยู่หนูร่าเริง” ซึ่งไม่ตรงกับความหมายในสำนวนเดิม เพราะ “ร่าเริง” สื่อความหมายไปในทางบวกว่ารื่นเริงบันเทิงใจ แต่ “ระเริง” สื่อความหมายไปในทางลบว่ารื่นเริงบันเทิงใจจนเกินไป คล้ายกับคำ “เหลิง” ซึ่งแปลว่าเกินความพอดีพอควร
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ