ช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาครั้งใด กระแสการเมืองก็จะคึกคักยิ่ง กิจกรรมทางการเมืองก็ปรากฏอย่างหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีน้ำเสียงเอือมระอาของประชาชนบางหมู่เหล่าที่มีต่อผู้แทนราษฎรและนักการเมืองบางคน ทำให้มีการใช้สำนวนไทยที่เกี่ยวกับการเมืองชุกในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ยกมือเป็นฝักถั่ว, ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่, เหล้าเก่าในขวดใหม่ เป็นต้น
ยกมือเป็นฝักถั่ว
ฝักถั่วในที่นี้หมายถึงถั่วฝักยาวซึ่งมีความยาวประมาณหนึ่งศอก ฝักถั่วจะห้อยลงจากขั้วเรียงรายกันสลอน
เมื่อมีคนนำฝักถั่วมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวน “ยกมือเป็นฝักถั่ว” จะสื่อภาพที่คุ้นตา คือการชูมือของบุคคลในกรณีที่แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ เช่นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้เป็นประธานพูดและส่งสัญญาณในที่ประชุมเพื่อขอเสียงที่เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ถ้าเห็นด้วยก็ให้ยกมือ ทันใดมือของผู้เข้าร่วมประชุมก็จะชูสลอนเหมือนถั่วฝักยาวที่ห้อยฝักลง ชลิตซึ่งนั่งดูโทรทัศน์อยู่ขณะนั้นอดพูดกับภรรยาที่กำลังถักนิตติ้งไม่ได้ว่า “ดูซิเธอ ช่างสามัคคีกันจริงๆ ยกมือกันพรึบเป็นฝักถั่วเพื่อสนับสนุนการอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ให้เป็นที่สังสรรค์ของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของท่านๆ ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย”ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
โดยธรรมชาติงูเป็นสัตว์เลื้อยคลานไม่มีตีน ส่วนไก่เป็นสัตว์ปีกที่ไม่มีนม ถ้าสัตว์ทั้งสองนี้มีลูกก็จะออกเป็นไข่ก่อน (ยกเว้นงูบางชนิด เช่น งูแมวเซาออกลูกเป็นตัว) แล้วจึงค่อยกลายเป็นตัว ไม่ว่าลูกงูลูกไก่ก็สามารถหากินเองตามธรรมชาติ
“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ได้ถูกนำมาใช้คู่กันเป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายในด้านลบว่า คนทั้งสองฝ่ายต่างก็ล่วงรู้ความลับในด้านลบของกันและกันโดยที่ผู้อื่นไม่ล่วงรู้ เช่น ขณะที่เชิงกำลังโต้เถียงกับเชี่ยวหน้าดำหน้าแดงเรื่องพฤติกรรมและคำพูดของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวกับอาชีพที่ดำเนินกิจการอยู่ พิชัยกับรณชิตซึ่งยืนอยู่ไม่ไกลฟังสองคนมานานพอควร พิชัยก็กระชิบกับรณชิตว่า “ เฮ้อ! น่าเบื่อ ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ต่างคนต่างรู้กำพืดกันดี พูดไปก็เท่านั้นแหละ ไม่มีใครน่าเชื่อถือทั้งสองคน ไปกันเถอะ เสียเวลาฟัง”
เหล้าเก่าในขวดใหม่
ปกติเหล้าใหม่ก็จะบรรจุอยู่ในขวดใหม่ซึ่งให้ความรู้สึกดีๆ ว่าเป็นของไม่ค้าง คงจะไม่มีใครเอาเหล้าเก่าไปใส่ในขวดใหม่ มีแต่จะเอาเหล้าใหม่มาใส่ในขวดเก่าเพราะมีขวดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีผู้นำเหล้าเก่าและขวดใหม่มาใช้เป็นสำนวนเปรียบก็จะมีความหมายกว้างออก และเป็นที่นิยมใช้กัน เพราะเข้าใจง่ายและยังได้สื่อนัยความหมายไว้อย่างลึกซึ้ง
สำนวน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ที่ใช้เป็นสำนวนเปรียบ ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าจะหมายถึงเดิมเป็นคนที่มีพฤติกรรมลบๆ อย่างที่รู้ๆ กัน แต่ต่อมาเมื่อมาอยู่ในสถานภาพใหม่ที่สูงส่งก็จะแสดงบทบาทและพฤติกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับสถานภาพ เช่น นพพูดกับพันถึงนายวิสัยซึ่งเดิมเคยเป็นนายบ่อนใหญ่ แต่พอมีอิทธิพลและร่ำรวยจนเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็จะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในสมัยที่จะถึงเร็วๆ นี้ว่า “ปัดโธ่เอ้ย! มันก็เหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นแหละ ยังไงๆ มันก็ทิ้งสันดานเดิมยาก แม้เวลาหาเสียงจะสัญญาว่าจะทำงานเพื่อประชาชน ฟังๆ ก็น่าเลื่อมใส แต่อั๊วว่าใครเชื่อไอ้หมอนี่ก็หมางอกเขาละ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์