ฟ้าฝนของคนลาว
องเมื่อเข้าฤดูมรสุมระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ท้องฟ้าก็เต็มไปด้วยเมฆฝนครึ้มหนา ชาวบ้านร้านตลาดก็ต้องคอยฟังข่าวพยากรณ์อากาศเพื่อเตรียมตัวรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ป้องกันภัยน้ำท่วม ดินถล่ม หรือภัยพิบัติที่มากับน้ำ ประเทศลาวเป็นด่านหน้ารับพายุที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ก่อนจะเข้าภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เราจึงมักได้ยินข่าวภัยน้ำท่วม ดินถล่ม หรือกระทั่งเขื่อนแตกพัง คำภาษาลาวที่เกี่ยวกับฟ้าฝนอาจคล้ายกับไทย แต่ก็มีบางคำที่แตกต่างกัน หากเรียนรู้ไว้อาจเป็นประโยชน์ในการเดินทาง การทำงาน และการป้องกันภัยได้
ຟ້າເຫຼື້ອມ ฟ้าเหลื่อม หมายถึง ฟ้าแลบ คำว่า เหลื่อม ในภาษาลาวไม่ได้หมายถึงการซ้อนทับที่คลาดเคลื่อน แต่หมายถึงสภาพแสงสะท้อนแวบวาบเข้าตา คล้ายกับคำว่า เลื่อม ในภาษาวรรณกรรมเก่าของไทย ลาวมักใช้คำว่า ฟ้าเหลื่อม คู่กับ ฟ้าฮ้อง เป็นชุดคำว่า ຟ້າຮ້ອງຟ້າເຫຼື້ອມ ฟ้าฮ้องฟ้าเหลื่อม ซึ่งมีความหมายเดียวกับ ฟ้าแลบฟ้าร้อง เป็นสัญญาณว่ากำลังมีฝนฟ้าคะนองปรากฏแก่สายตา
ດິນເຈື່ອນ ดินเจื่อน หมายถึง ดินถล่ม คำว่าเจื่อน บรรยายถึงลักษณะการเลื่อนไหลทรุดตัวของหน้าดินถล่มลงมาจากที่สูงสู่ที่ต่ำ แตกต่างจากความหมายในภาษาไทยที่แปลว่าซีดจาง เช่น หน้าเจื่อน ภาวะดินเจื่อนนี้พบมากในเขตเชิงผาเชิงเขา หรือใกล้เขื่อนเมื่อฝนตกหนักดินอุ้มน้ำไม่ไหว ภูมิภาคของประเทศลาวที่เป็นเขตภูเขาพบภัยดินเจื่อนดินถล่มบ่อยครั้ง จึงต้องระมัดระวังฟังคำเตือนเมื่อเดินทางในเขตดังกล่าว
ນໍ້າຖ້ວມ น้ำถ้วม คือคำเดียวกับ น้ำท่วม ของไทย แต่ตัวสะกดแตกต่างกันคือใช้ตัว ถ ถุง สะกดแทน เนื่องจากเมื่อออกเสียงในสำเนียงลาวจริงแล้ว จะออกเสียงคำนี้เป็น ถ่วม ไม่ใช่ ถ้วม หรือ ท่วม ลักษณะการออกเสียงวรรณยุกต์ของภาษาลาวบางครั้งจึงไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ที่เราคุ้นชินในภาษาไทย ต้องระมัดระวังเมื่อฟังแล้วนำไปเขียน
ແຄມນໍ້າ แคมน้ำ หมายถึง ริมตลิ่งแม่น้ำ คำว่า ແຄມ แคมในภาษาลาวเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงพื้นที่ขอบ หรือริมของสิ่งต่างๆ คล้ายกับที่ใช้ในภาษาไทยดั้งเดิมหรือในวรรณคดี เช่น ถนนรนแคม แคมท่าแคมทางไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงบางตำแหน่งแบบภาษาไทยปัจจุบัน พื้นที่ ແຄມນໍ້າ เป็นพื้นที่อันตรายเมื่อมีฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมถึงอาจจะพัดพาดินถล่มหรือข้าวของมาทำลายบ้านเรือนได้ คนลาวจึงมักหลีกเลี่ยงการตั้งบ้านเรือนหรือก่อสร้างบริเวณแคมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ແຄມນໍ້າຂອງ ริมแม่น้ำโขงที่ใหญ่กว้างและเชี่ยวกรากมากในฤดูฝน
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข