ปัญญาปันสุข น้ำใจ ความยากจนและคนชายขอบ

-

ปัญญาปันสุข

น้ำใจ ความยากจนและคนชายขอบ

…………………………..

ปัญญาปันสุข รายการดีมีสาระช่องเวิร์คพอยต์ ที่ออกอากาศต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ตอน นับเป็นรายการที่น่าพูดถึงเป็นอย่างยิ่ง

จำนวนตอนที่ออกอากาศ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังให้ความสนใจและต้องการเสพรายการนี้ แม้ว่าจะเป็นรายการที่เน้นสาระมากกว่าความบันเทิงก็ตาม หลายปีที่รายการเคียงคู่สังคมไทยมายาวนาน เปลี่ยนรัฐบาลหลายชุดแล้ว แต่ปัญญาปันสุขก็ยังทำหน้าที่แบ่งปันความสุขและสิ่งของที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตแก่ผู้ไปร่วมรายการอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปัญญาปันสุขเป็นรายการที่นำเรื่องราวของคนยากไร้ในสังคมไทยมานำเสนอ ผ่านการเล่าเรื่องและการสัมภาษณ์บุคคลที่ได้รับเชิญไปออกอากาศ รวมถึงให้แสดงความสามารถเพื่อชิงรางวัล ซึ่งมักเป็นของที่จำเป็นตามที่ผู้ร่วมรายการต้องการ โครงสร้างของรายการนี้ดูง่ายๆ แต่ในความง่ายนั้นมีเสน่ห์ สร้างความสะเทือนใจและผลสะท้อนต่อสังคมในวงกว้าง

คนที่รายการนำไปออกอากาศนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบ อันหมายถึงคนที่มิได้มีความสำคัญในสังคม เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกละเลย เพิกเฉย และมองข้ามมาโดยตลอด ถูกตีตราว่าเป็นภาระสังคมอีกด้วย อาทิ คนด้อยโอกาสทางการศึกษา คนพิการบกพร่องทางร่างกาย ผู้ยากไร้ กำพร้า คนไร้บ้าน ฯลฯ คนชายขอบเหล่านี้ ต่อสู้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดด้วยวิธีต่างๆ แต่คนชายขอบที่ถูกคัดสรรให้ร่วมรายการ มักมีคุณสมบัติร่วมกัน ได้แก่ เป็นผู้สร้างแรงสะเทือนใจให้แก่ผู้ชม และเป็นผู้มีคุณธรรม อันจะน้อมนำความสงสารให้เกิดขึ้นกับผู้ชมในขณะที่ดู

ประการสำคัญคือ ผู้ร่วมรายการจะต้องสามารถถ่ายทอดเรื่องราวอันแสนรันทด โดยมีปัญญา นิรันดร์กุล เป็นคนสัมภาษณ์และดำเนินรายการ รวมถึงการถ่ายทำเรื่องราวของผู้นั้นแบบดิบๆ ไม่ปรุงแต่งเพื่อให้เกิด รส ทางใจแก่ผู้ชม เรื่องราวจึงมิต่างจากละครโทรทัศน์น้ำเน่าที่เราคุ้นชิน ตัวละครตกยาก แต่ด้วยความดี ทำให้ได้รับความช่วยเหลืออันเป็นเสมือน รางวัล ที่ได้รับจากบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา และมิต่างจากนิยายจักรๆ วงศ์ๆ ที่ตัวละครเอกต้องชะตากรรมอันเลวร้าย ถูกเนรเทศออกจากเมือง ต้องผจญกับอุปสรรคต่างๆ แต่ด้วยคุณสมบัติที่ยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง อุปสรรคเหล่านั้นก็คลี่คลายในท้ายที่สุด และตัวละคร ซึ่งมักจะเป็นเจ้าหญิง เจ้าชายก็ได้กลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน 

ตัวละครเอก นอกจากจะมีคุณธรรมความดีเป็นคุณสมบัติสำคัญแล้ว ยังมี ความสามารถพิเศษ เฉพาะตัว หรือไม่ก็มี ของ/ อาวุธวิเศษ ที่ช่วยเหลือตนในยามคับขัน ซึ่งในรายการปัญญาปันสุขก็คือความสามารถเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ สู้ชีวิต จนกระทั่งตนรอดพ้นมาได้นั่นเอง

ผู้ที่มาร่วมรายการปัญญาปันสุข จึงเปรียบดั่งตัวละครในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ ที่ภายนอกมักแสดงออกในเชิงตลกขบขัน มีความบกพร่องทางร่างกาย อัปลักษณ์ เช่น เจ้าเงาะ แก้วหน้าม้า ฯลฯ แต่ตัวละครเหล่านี้ ซ่อนคุณสมบัติพิเศษไว้นั่นเอง กล่าวได้ว่าในขณะที่ละครโทรทัศน์ที่มีตัวละครออกแนวรันทด มุ่งทำแต่กรรมดี แล้วต่อสู้จนชนะอุปสรรคในบั้นปลายนั้น ได้ย้ายถิ่นย้ายที่มาสู่ความเป็นจริงในรายการปัญญาปันสุข 

ปัญญา นิรันดร์กุล ดำเนินรายการและสวมบทบาทเป็นผู้ที่ แจกๆ ๆ สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นเครื่องไม้เครื่องมือเสริมส่งการทำมาหากิน หรือมอบความฝัน ความหวัง ความต้องการให้แก่ผู้เข้าร่วมรายการ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทน นอกจากขอให้ผู้ร่วมรายการได้แสดงความสามารถของตน ตามเงื่อนไขที่ตั้งขึ้น เพื่อให้คนดูได้ ลุ้น และหวังว่าผู้ร่วมรายการจะ ชนะ เมื่อจบรายการผู้ชมก็อิ่มเอมใจที่เห็นคนที่ลำบากกว่าตนได้ก้าวข้ามอุปสรรคไปได้

บทบาทของปัญญา นิรันดร์กุล ยังเป็นเสมือนภาพแทนของตัวละครในอุดมคติ เช่น พระเวสสันดร ผู้ที่ให้ทานแก่บุคคลต่างๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของตน ก็ยังบริจาคให้อย่างไม่คิดหวังผลตอบแทน เป็นการสร้าง ทานบารมี ในพระชาติสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรื่องของการบริจาคทานนี้ เป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ในคติพุทธศาสนา และสังคมไทยก็รับมาใช้เป็นอุดมคติของสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากประเพณีเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีอยู่ทุกภูมิภาคของไทย โดยเรื่องราวที่นำมาเทศน์นั้นก็คือ เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์นั่นเอง 

รายการปัญญาปันสุขจึงมีคุณค่าในเชิงจิตวิทยา อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชมทางบ้าน เห็นว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าตนเองอีกมาก เมื่อเห็นคนชายขอบที่แสนลำบากต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัล ก็เกิดการฮึกเหิมว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้บ้าง รวมถึงรายการนี้ยังช่วยปลุกปลอบใจผู้ชมว่าตนเองมิได้ลำบากคนเดียวในสังคมไทย ยังมีชีวิตที่ดีกว่าผู้มาออกรายการอีกมาก การได้เห็นคนที่ด้อยกว่าตน จึงทำให้ตนรู้สึกว่าตนเหนือกว่า จึงทำให้รู้สึกดีขึ้นนั่นเอง

ในแง่บริบททางสังคมแล้ว รายการปัญญาปันสุขได้นำเสนอภาพความยากจน และภาพของผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ยัง ขาดการเหลียวแล จากภาครัฐ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่ก็ยังตกหล่น และยังขาดกระบวนการการเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐ ทว่าแม้รายการจะออกอากาศมานับสิบปี แต่รายการนี้ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้รัฐยื่นมือเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หรือหาทางช่วยเหลือบุคคลที่เป็นตัวแทนความยากจนในรายการปัญญาปันสุขได้ และเมื่อความยากจนแพร่ขยายไปในสังคม ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ

จะว่าไปแล้ว รายการอย่างปัญญาปันสุขนี้ อาจจะเป็นรายการโทรทัศน์ที่หลายๆ ประเทศห้ามออกอากาศ เพราะเมื่อพิจารณาไปแล้ว การมีรายการที่นำเสนอความยากจนในสังคมใดก็ตาม ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการจัดการความยากจนในสังคมนั้นๆ แม้จะมี นักการเมือง ที่ทำตัวเป็นพระเวสสันดร มีนโยบายแจกโน่นแจกนี่ เพื่อหวังว่าจะได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และเป็นนักการเมืองขวัญใจประชาชน แต่ก็เป็นเฉพาะช่วงก่อนเลือกตั้ง การแบ่งปันให้แก่คนยากจนเป็นเพียงมายาคติทางการเมืองที่มักจะเฟื่องฟูในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น

เมื่อภาครัฐยังขจัดความยากจนให้พ้นไปจากสังคมไทยไม่ได้ ปัญญาปันสุขก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป เป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมอบให้แก่คนชายขอบกลุ่มต่างๆ ในบริบทของสังคมที่ยังมีความยากจนเป็นพื้นฐานอยู่นั่นเอง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!