ผู้ดีแปดสาแหรก

-

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีสำนวนไทยหลายสำนวนที่มีจำนวนเลขประกอบกันเข้าเป็นสำนวน เช่น ผู้ดีแปดสาแหรก เส้นยาแดงผ่าแปด มืดแปดด้าน แปดเหลี่ยมแปดคม หนึ่งต่อหนึ่ง สองต่อสอง เป็นต้น

 

ผู้ดีแปดสาแหรก

คำว่า “ผู้ดี” หมายถึงคนที่เกิดในตระกูลดีหรือคนที่มีมารยาทดีงาม ส่วนคำว่า “สาแหรก” หมายถึงเครื่องใช้ในครัวเรือนสำหรับหิ้วหรือหาบ ทำด้วยหวายถัก 2 ข้าง ข้างหนึ่งมีเส้นหวาย 4 สาย 2 ข้างจึงมี 8 สาย ตอนบนของสาแหรกทั้ง 4 สายจะโยงมัดรวมกันเป็นหูหรือห่วงสำหรับสอดไม้คาน ส่วนตอนล่างขัดกันเป็น 4 หรือ 6 เหลี่ยมสำหรับวางภาชนะใส่สิ่งของ เช่น กระจาด ตะกร้า กระบุง ฯลฯ เวลาใช้ก็จะสอดไม้คานเข้าไปที่หัวสาแหรก โดยทำให้สองข้างมีน้ำหนักพอๆ กัน เพื่อให้หาบไปได้โดยสะดวก

สำนวน “ผู้ดีแปดสาแหรก” นั้น เดิมทีมีความหมายในทางบวกหมายถึงผู้ดีขนานแท้สืบทอดกันมาตั้งแต่ต้นสกุลวงศ์ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา คือฝ่ายบิดามารดาของปู่และย่า 4 สาย (ญาติที่สืบมาจากต้นวงศ์เดียวกัน) และฝ่ายบิดามารดาของตาและยาย 4 สายรวมกันเป็น 8 สาย แต่สำนวนนี้ปัจจุบันใช้ในบริบทที่สื่อความหมายในทางลบ คือใช้กับผู้ที่มีกิริยาท่าทางโอ้อวดเย่อหยิ่ง ทำตัวเป็นผู้ดี แสดงอาการดูถูกดูแคลนผู้อื่น ดังตอนหนึ่งยายชูพูดกับยายเรืองถึงนางสมรซึ่งเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเชิดหน้าขับรถเก๋งคันใหญ่เผ่านไปว่า “โถ… พอได้ผัวเป็นเศรษฐีก็ไม่เคยทักทายพูดคุยชายตามองใครเลย ทำตัวเป็นผู้ดีแปดสาแหรก โธ่… เมื่อก่อนนี้แม่มันก็เป็นแม่ค้าขายผักอยู่ในตลาดมาตั้งแต่สาวจนแก่นี่แหละ”

เมื่อกล่าวถึงสำนวนที่เกี่ยวกับสาแหรก มีอีกสำนวนหนึ่งที่น่าสนใจคือสำนวน “บ้านแตกสาแหรกขาด”

บ้านแตกสาแหรกขาด

สำนวน “บ้านแตกสาแหรกขาด” หมายถึงครอบครัวที่อยู่ในภาวะกระจัดกระจาย พลัดพรากจากกันเพราะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงขึ้นในครอบครัวหรือในบ้านเมือง เปรียบได้กับสาแหรกที่สายสาแหรกขาดหลุดจากกัน ต้องซ่อมแซม จึงจะใช้การได้ แต่อาจด้อยคุณภาพกว่าเดิมก็ได้ เช่น เมื่อลูกชายและภรรยาซึ่งมีข้อบาดหมางขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อแม่ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน บอกพ่อแม่ว่าเดือนหน้าจะขอพาลูกของตนย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อขจัดปัญหา พ่อแม่ได้ฟังก็ตกใจ ไม่คิดว่าเรื่องราวจะบานปลาย เมื่อเข้าไปอยู่กันตามลำพังในห้องนอนพ่อจึงพูดกับแม่ว่า “เราควรต้องยอมผ่อนปรนตามใจลูกหลานบ้าง ถ้าพวกเขาย้ายไปก็เข้าลักษณะบ้านแตกสาแหรกขาด แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร ฉันว่าอย่างนี้เห็นด้วยไหม คุยกับลูกให้เข้าใจกันจะดีกว่านะ”

 

มืดแปดด้าน

มืดแปดด้านแปลตามตัวอักษรได้ว่า จะหันไปทางไหนทั่วทั้งแปดด้าน/ก็มืดหมดทุกด้าน มองไม่เห็นอะไร ต่อมาจึงมีผู้นำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบ

สำนวน “มืดแปดด้าน” น่าจะมีที่มาจากด้านทิศทั้งแปด คือทิศเหนือได้แก่ “อุดร” ทิศใต้ได้แก่ “ทักษิณ” ทิศตะวันออกได้แก่ “บูรพา” ทิศตะวันตกได้แก่ “ประจิม” และทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ “อีสาน” ทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ “อาคเนย์” ทิศตะวันตกเฉียงเหนือได้แก่ “พายัพ” ทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้แก่ “หรดี”

บางคนเมื่อเกิดปัญหาทุกข์ใจมองไปทิศใดก็มืดมิด หาแสงสว่างหรือทางออกไม่ได้ เช่น บัญชาปรับทุกข์กับสมยศเกี่ยวกับปัญหาของตนตอนหนึ่งว่า “อั๊วคิดไม่ออก มองไม่เห็นทาง มันมืดแปดด้านไปหมด ลูกก็ตาย เมียก็หนี บริษัทก็เลิกกิจการ ปรับคนงานออกหมด อั๊วก็พลอยโดนไปด้วย ลื้อช่วยชี้ทางสว่างให้บ้างเถอะ ไม่งั้นคงมีชีวิตอยู่ยาก จะเอาเงินที่ไหนไปผ่อนบ้านผ่อนรถและค่าหมอรักษาโรคหัวใจที่เป็นอยู่อีก เฮ้อ… กลุ้ม”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ 

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!