อยู่ห่างๆ ไว้แหละดี พวกคน ‘คดในข้อ งอในกระดูก’
ฉบับนี้ผู้เขียนจะเขียนถึงสำนวนไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณในความหมายเปรียบด้านลบ ในปัจจุบันก็ยังมีผู้นำมาใช้อยู่เสมอ ได้แก่สำนวน ‘คดในข้อ งอในกระดูก’ ‘ปล่อยเสือเข้าป่า’ ‘ลูกเสือลูกจระเข้’
คดในข้อ งอในกระดูก
‘คดในข้อ งอในกระดูก’ เป็นสำนวนที่ส่วนหน้าและส่วนหลังมีความหมายทำนองเดียวกัน เมื่อนำมาใช้พูดต่อเนื่องกันจึงช่วยย้ำความหมายเปรียบให้ชัดเจนและหนักแน่นยิ่งขึ้น
คำ ‘คด’ และ ‘งอ’ แปลว่าไม่ตรง อวัยวะบางส่วนของร่างกายสามารถคดงอได้ด้วยข้อต่อ เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า เป็นต้น
เมื่อนำ ‘คดในข้อ งอในกระดูก’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงไม่ซื่อตรง คดโกง เช่นตอนหนึ่งครูนงรามกระซิบกับครูสมศรีเกี่ยวกับอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนว่าน้อยและด้อยคุณภาพมากว่า “เราว่างบประมาณในการจัดซื้ออาหารคงจะถูกตัดไปไม่น้อย ไม่อยากคิดว่าผู้อำนวยการจะไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีคนแอบนินทาว่าแกเป็นคนคดในข้องอในกระดูกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แกถึงถูกสั่งย้ายโรงเรียนอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจหรือเอาจริงกับเรื่องนี้ สงสารเด็กๆ ไอ้เราก็เป็นครูน้อยตัวเล็กๆ เสียงไม่ดังพอ พวกครูควรต้องรวมตัวกันประท้วง เธอว่ามั้ย”
ปล่อยเสือเข้าป่า
เสือเป็นสัตว์ป่าที่ได้สมญานามว่า ‘เจ้าป่า’ เพราะดุร้ายน่ากลัวมาก เข้าใกล้ไว้ใจไม่ได้ เสือเป็นสัตว์กินเนื้อ ปกติกลางวันมักจะหลบซ่อนตัวในโพรงไม้หรือบริเวณที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น พอตกกลางคืนจึงจะออกมาคอยดักซุ่มรอเหยื่อ พอเห็นเหยื่อมันจะเข้าไปด้านข้างหรือด้านหลังของเหยื่อโดยเหยื่อไม่ทันได้ตั้งตัว
บางคนนำเสือมาเลี้ยงขังไว้ในกรงหรือให้อยู่ในบริเวณที่จำกัด ความไม่มีอิสรภาพก็จะทำให้มันดุร้ายยิ่งขึ้น เราจะเห็นมันมักเดินพล่านไปมา ถ้าวันใดผู้เลี้ยงเกิดเปลี่ยนใจไม่เลี้ยงอีกต่อไป ก็จะหาทางเอาไปปล่อยป่าคืนสู่ธรรมชาติของมัน
‘ปล่อยเสือเข้าป่า’ ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบหมายถึงปล่อยศัตรูหรือคนชั่วร้ายให้เป็นอิสระ ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดอันตรายแก่คนในสังคมได้ในภายหลัง ดังกลอนตอนหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีของ “สุนทรภู่” ตอนนางวาลีทูลพระอภัยมณีเมื่อจะทรงปล่อยอุศเรนกลับบ้านเมืองว่า “จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย” เช่นเมื่อเจ้าหน้าที่จับผู้ร้ายที่ก่อคดีฆ่าคนตายอย่างต่อเนื่องได้ แต่กลับละเลยปล่อยให้หนีออกจากคุกได้เป็นแรมเดือนแรมปี ชาวบ้านรู้ข่าวเข้าก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนหนึ่งเปรยขึ้นในวงสนทนาว่า “เจ้าหน้าที่ทำงานกันแบบนี้ก็เท่ากับปล่อยเสือเข้าป่า มันจะเป็นอันตรายเที่ยวฆ่าใครต่อได้ใครอีก น่ากลัวจริงๆ”
ลูกเสือลูกจระเข้ (ลูกเสือลูกตะเข้)
เสือได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายมาก จระเข้ก็เป็นสัตว์น้ำที่ดุร้ายมากไม่ด้อยไปกว่ากัน มีทั้งจระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำกร่อย และจระเข้น้ำเค็ม จระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็นขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ หนอง บึง ที่มีร่มเงาเพื่อรอเหยื่อ บางครั้งถ้าอากาศหนาวมันจะขึ้นมานอนผึ่งอยู่บนบกตอนกลางคืน จระเข้เป็นสัตว์กินเนื้อทั้งในน้ำและบนบก แต่จะหากินในน้ำเป็นหลัก เหยื่อของมันเช่น ปลา เหี้ย หนู นก ฯลฯ
ไม่ว่าลูกเสือหรือลูกจระเข้ตอนที่ยังเล็กอยู่ก็ดูน่ารัก บางคนถึงกับเอามาเลี้ยงไว้ แต่โดยธรรมชาติของมัน เมื่อโตขึ้นก็อาจเป็นอันตรายแก่ผู้เลี้ยงได้ จึงเกิดการใช้สำนวน ‘ลูกเสือลูกจระเข้’ ขึ้นเปรียบ ตัวอย่างที่มักจะได้ยินการใช้สำนวนนี้เกิดจากเด็กๆ กำพร้าไร้ญาติที่มีผู้เมตตารับไปเลี้ยงดู บางคนพอเติบใหญ่จะมีพฤติกรรมที่ชั่วร้ายสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้เลี้ยง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นด้วยการสืบสายเลือดมาจากพ่อแม่ที่เป็นคนไม่ดี ดังมีข่าวอยู่เสมอว่าบางคนจะถูกผู้ที่ตนเลี้ยงมาแต่อ้อนแต่ออกทำร้ายร่างกาย บางรายก็ถึงแก่เสียชีวิตก็มี พอคนรู้ข่าวก็พูดกันว่า “นี่แหละผลจากการนำลูกเสือลูกจระเข้มาเลี้ยง จะเลี้ยงดูหรืออุปการะเด็กคนไหนก็ต้องรู้ประวัติความเป็นมาของพ่อแม่เด็กก่อนเป็นดีที่สุด”
คอลัมน์ : คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ