เวย์น เฮเยอร์ (Wayne Hayer) เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่มอร์เฮาส์คอลเลจ (Morehouse College) ในเมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา
มอร์เฮาส์เป็นวิทยาลัยสำหรับผู้ชายผิวดำมากว่า 150 ปี นักศึกษาส่วนใหญ่ของที่นี่จึงเป็นคนผิวสี
นอกจากเป็นนักศึกษาแล้ว เวย์นยังเป็นคุณพ่อลูกอ่อนและทำงานพาร์ทไทม์อีกสองแห่งเพื่อให้มีเงินมาดูแลครอบครัวและจ่ายค่าเทอม
วันศุกร์หนึ่งในเดือนมีนาคมปี 2019 ภรรยาของเวย์นต้องเข้าไปรับสูติบัตรของลูกสาวในเมือง เวย์นไม่อยากให้ภรรยาต้องกระเตงลูกขึ้นรถไฟ เขาจึงพยายามหาพี่เลี้ยงเด็ก แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่ได้ เวย์นเลยอาสาจะดูลูกให้เอง
เวย์นไม่อยากโดดเรียนเพราะใกล้จะสอบมิดเทอมแล้ว เขาจึงตัดสินใจอุ้มลูกไปเรียนด้วย
ระหว่างที่เดินไปยังห้องเรียน เวย์นก็มีความกังวลว่าคนอื่นจะโอเคไหม เพราะเขาไม่เคยเห็นเพื่อนคนไหนพาลูกมาโรงเรียน สังคมมักมีภาพจำว่าผู้ชายผิวดำไม่ค่อยช่วยดูแลลูก และเด็กผิวดำส่วนใหญ่โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน
เมื่อเวย์นเดินเข้าห้องเรียนวิชาคณิตศาตร์ที่สอนโดย ดร.นาธาน อเล็กซานเดอร์ (Nathan Alexander) เวย์นก็เล่าให้อาจารย์อเล็กซานเดอร์ฟังว่าเหตุใดเขาต้องพาลูกมาด้วย
คำตอบจากปากอาจารย์อเล็กซานเดอร์ทำให้เวย์นต้องแปลกใจ
“ไม่มีปัญหาเลย จริงๆ แล้วคุณเอาลูกมาให้ผมอุ้มไว้ดีกว่า คุณจะได้จดเล็คเชอร์สะดวกขึ้น”
เวย์นจึงเอาเป้อุ้มเด็กไปสะพายไว้บนบ่าของอาจารย์ และอาจารย์อเล็กซานเดอร์ก็อุ้มลูกของเวย์นระหว่างที่สอนอยู่หน้าชั้นเรียนไปจนจบคลาส
เพื่อนหลายคนในห้องของเวย์นประทับใจมาก นักศึกษาคนหนึ่งถ่ายรูปลงทวิตเตอร์และเขียนกำกับว่า “เพื่อนผมอุ้มลูกมาเรียนเพราะไม่มีพี่เลี้ยง อาจารย์อเล็กซานเดอร์ของพวกเราเลยบอกกับเพื่อนว่า “เดี๋ยวผมอุ้มให้เอง คุณจะได้จดโน้ตสะดวก”
ส่วนอีกคนก็ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กของตัวเองและเขียนแคปชั่นไว้ว่า “เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เราเห็นถึงพลังของสถานศึกษาที่มีต่อชุมชนคนผิวสี เพราะอาจารย์คนนี้เข้าใจว่าชีวิตนั้นไม่ง่ายดายและเราทำได้เพียงจัดการมันให้ดีที่สุด”
เรื่องราวของอาจารย์อเล็กซานเดอร์โด่งดังไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตจนหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ต้องไปทำสกู๊ป
“เป้าหมายของเราคือการปลูกฝังความเป็นผู้นำในตัวนักศึกษา” อาจารย์ให้สัมภาษณ์แก่เดอะวอชิงตันโพสต์ “ผมอยากจะเป็นแบบอย่างที่ดี และผมคิดว่าเวย์นก็เป็นแบบอย่างที่ดีเช่นกัน เพราะว่าแม้เขาต้องสวมบทบาทหลายอย่าง แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งการเรียนเลย”
ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดของผู้ใช้ทวิตเตอร์นาม ดอนนา ฮอลล์ (Donna Hall) ที่เขียนสดุดีอาจารย์อเล็กซานเดอร์เอาไว้ว่า
“คุณไม่ได้สอนแค่คณิตศาสตร์เท่านั้น แต่คุณยังได้สอนความเมตตา ความกรุณา ความใจกว้าง การสร้างชุมชน การดูแลผู้คน และการมีชีวิตที่ดีงาม”
คอลัมน์: มุมละไม
เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai
ประวัติผู้เขียน
รูปของผู้เขียน