มาตรฐานมืออาชีพ
ไม่ว่าจะมีคนฟังเต็มฮอลล์นับพัน
หรือนั่งฟังกันไม่ถึงสิบคน
ผมก็จะพูดเหมือนเดิมเต็มที่ ไม่ต่างกัน
เพราะคนไม่ถึงสิบคน ถ้าเขาเห็นผมพูดไม่เต็มที่
เขาจะไปบอกต่อให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีกับผมได้ไม่รู้อีกกี่คน
นี่คือหนึ่งในมาตรฐานการทำงานที่ผมตั้งเอาไว้
ไม่ใช่เห็นคนมามาก ก็พูดเต็มที่ เห็นคนฟังไม่ค่อยมี ก็พูดไปงั้นๆ
แล้วผลงานมันจะประจานตัวเอง
เพราะคนฟังหนึ่งคน เขาไปบอกต่อได้อีกไม่รู้เท่าไหร่
อยากเป็นมืออาชีพ ต้องมีมาตรฐานการทำงาน
ไม่ใช่ทำยังไงก็ได้ ขอให้ได้งาน ได้เงินก็เป็นพอ
หนึ่งในมาตรฐานในการทำงานที่ผมยึดถือมาตลอดก็คือ
ผมจะไม่รับงานพูดที่ผมไม่มีความรู้
แม้ผู้เชิญจะคะยั้นคะยอ ขอให้พูดอะไรก็ได้ แต่ตอนปิดท้าย
ช่วยขมวดเข้าเรื่องที่เขาต้องการแค่นิดเดียวก็พอแล้ว
แต่ผมเป็นห่วงคนฟังว่าเขาจะไม่ได้อะไรจากการมานั่งฟังผมเป็นชั่วโมง
เช่น เขาเชิญมาเรื่อง “เทคนิคการหารายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ”
ถ้าผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ หรือเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเงินตรา
ผมจะไม่รับไปพูดเด็ดขาด
แม้ผู้เชิญจะบอกว่า “พูดเรื่องอะไรก็ได้” แต่ตบท้ายชวนคนมาหารายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตรา นิดเดียว
ผมก็ไม่รับ
เพราะเป็นการทำงานแบบ “ตีกิน”
คือพูดให้ครบเวลา แต่ไม่เข้าเรื่องที่เขาอยากฟัง
แล้วมาสรุปตอนท้ายแค่นิดเดียว
เกิดคนฟังบางคน เขาตั้งใจจะมาฟังเรื่องประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ฟังจบเขาไม่ได้อะไร
เขาจะมาต่อว่าได้ทีหลัง
และอีกเรื่องหนึ่งในการรักษามาตรฐานในการทำงานของผมคือ
ผมจะไม่เชียร์สินค้าที่เชิญผมไปพูดจนออกนอกหน้า
เช่น เชิญผมไปในงานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
จะให้บอกว่ารถรุ่นนี้ดีกว่าใคร ประหยัดกว่ายี่ห้ออื่น ทันสมัยไม่มีใครเทียบ คงจะไม่ได้
ความจริงหน้าที่นั้นควรเป็นหน้าที่พิธีกรจะกล่าวบรรยายสรรพคุณกันไป
แล้วถามว่า ไปพูดงานเปิดตัวรถยนต์ ถ้าไม่เชียร์รถยนต์ที่เปิดตัว แล้วจะให้พูดอะไร
ก็พูด คุณสมบัติรถที่ดี เขามีอะไรบ้าง ไงครับ
สวยงาม ประหยัด ปลอดภัย ทันสมัย บริการดี ขายต่อราคาดี
ส่วนคุณสมบัติข้อใดเข้ากับรถรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว คนฟังจะคิดได้เอง
คำพูดเป็นกลางๆ ให้แง่คิด มุมมอง ให้ความรู้ เอาไว้เพื่อจะได้ดูรถยนต์ได้ทุกยี่ห้อ
แต่ถ้าเชิญไปพูดเรื่อง “ก้าวล้ำกับยนตกรรมยุคใหม่”
แล้วผมพูดเชียร์แต่รถที่กำลังจะเปิดตัวว่าดีกว่ายี่ห้อไหนๆ
แล้วรถยนต์อีกยี่ห้อที่เชิญผมไป ผมก็บอก รถยี่ห้อนี้ดีกว่ายี่ห้อใดๆ อีก
ผมว่าเชียร์แบบหลับหูหลับตา ไม่น่าทำ
มาตรฐานในการทำงาน ทุกอาชีพควรมีเอาไว้
ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องเงิน โดยไม่สนใจผลงาน
ผมแทบไม่รับไปพูดในงานเลี้ยง เพราะคนไม่ค่อยสนใจฟัง
ถ้าจะรับ ก็จะขอพูดก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร จะได้ฟังกันได้
แต่ถ้าผมไม่สนใจผลงาน พูดไปกินไปก็ได้ พอจบ ผมก็รับเงินกลับบ้าน ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะฟังหรือไม่
คิดอย่างนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่มืออาชีพ
ดังนั้น อยากเป็นมืออาชีพ ต้องรักษามาตรฐานของงานเข้าไว้
เพราะทำงานแบบเห็นแก่เงิน เห็นแก่ได้
ย่อมไม่ใช่มืออาชีพ
คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช