เงาบุญ: เปรต ปี 2020

-

เงาบุญ เป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องเปรต ของ “ขวัญข้าว” ผลิตโดยบริษัทกันตนา มูฟวี่ทาวน์ (2002)  และได้สร้างใหม่ในชื่อใหม่ โดยดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน นับเป็นละครแนวบาปบุญคุณโทษที่สร้างสีสันให้แตกต่างจากละครโทรทัศน์เรื่องอื่นๆ ที่เสนอฉายในปัจจุบัน

 

 

“ขวัญข้าว” เป็นนามปากกาของคุณแม่สมสุข กัลย์จาฤก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงประเภทวิทยุและโทรทัศน์ ประจำปี 2561 ท่านมีผลงานการเขียนบทละครโทรทัศน์และบทละครวิทยุ กว่า 300 เรื่อง หลายเรื่องอยู่ในความทรงจำของชาวไทย อาทิ ผู้หญิงคนหนึ่ง, สุสานคนเป็น, ห้องหุ่น, ปะการังสีดำ ฯลฯ รวมถึงเรื่องเปรต ซึ่งเคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วเมื่อ พ.ศ.2529 หลายเรื่องนั้นเราจะพบว่าใช้ชื่อของสามี คือประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ประพันธ์ แต่มีการเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นบทประพันธ์ของคุณแม่สมสุข ทว่าใช้ชื่อของสามีแทน

เนื้อเรื่องเปรตนั้นเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการยึดครองที่ดินของวัดและบาปกรรมอีกหลายอย่าง เมื่อตายไปเลยกลายเป็นเปรต ทุกข์ทรมาน เนื้อเรื่องจึงเป็นการสอนศีลธรรมให้ผู้ชมกลัวบาปกรรม แต่เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรื่องเงาบุญ จึงได้มีการดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แม้จะเป็นการสร้างกรรมแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทว่าผลกรรมนั้นก็ยังเหมือนเดิม คือต้องเสวยภพชาติเป็นเปรตรูปแบบต่างๆ ตามกรรมที่เคยก่อไว้

 

 

เงาบุญกล่าวถึงครอบครัวเศรษฐีที่ต้องกระทำชั่วเพราะความโลภ สุธีร์มีคดีมัวหมองเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินผิดประเภทและคดีคอรัปชั่นต่างๆ กรรมชั่วทั้งหมดเกิดจากรัตติยา เมียรักของเขา ซึ่งหลงเชื่อชู้หนุ่มอย่างพงศกร ซึ่งหมายจะครอบครองสมบัติทุกอย่างด้วยความโลภ สุธีร์อับอายและเสียใจที่ภรรยาของเขาคบชู้จึงยิงตัวตาย การตายอย่างเป็นปริศนานั้นทำให้สิตาผู้เป็นลูกสาวเดินทางกลับจากอังกฤษ พร้อมวรชนแฟนหนุ่ม เพื่อคลี่คลายคดี แต่กลับกลายเป็นว่าหญิงสาวต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือพ่อ ซึ่งไปเกิดเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในเมืองบังบด ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับวัดใกล้บ้าน และนี่คือต้นเหตุของละครโทรทัศน์เรื่องเงาบุญ

 

 

เนื้อหาของละครโทรทัศน์เรื่องเงาบุญ ยังชี้ให้เห็นว่า “กรรมร่วมสมัย” มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การโกงธรณีสงฆ์ก็เพื่อนำมาทำหมู่บ้านจัดสรร อันแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของชุมชนเมือง และการล่มสลายของครอบครัวแบบชุมชนหมู่บ้านในชนบท ผู้คนจึงมีวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรนตามการกำหนดของ “ทุน” ที่เข้ามามีบทบาทต่อทุกชีวิตในสังคม และทุนนั้นได้สร้างความเหลื่อมล้ำในเรื่องความรวยความจน  คนที่ยากจนก็จะดิ้นรนทะยานอยากเพื่อให้ตนเองมีโอกาสได้รับสิ่งที่ดีในชีวิตเฉกเช่นคนรวย ในเรื่องพงศกรจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาส โดยขาดสำนึก และใช้กรรมชั่วนำทางชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความโลภ อยากได้สมบัติของผู้อื่น  การประพฤติผิดในกาม ยุ่งเกี่ยวกับภรรยาของผู้อื่น และยังมีจิตใจโหดร้าย มีมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อในเรื่องเวรกรรม  ส่วนอรชุมาก็ร่วมมือกับพงศกรทำสารพัดเพื่อให้ได้ตามที่พงศกรต้องการ และยังเป็นหญิงสาวที่เห็นว่าการประพฤติผิดในกามเป็นเรื่องปกติ ช่วงโชติที่ติดยาเสพติด และมีชีวิตอยู่ในชุมชนแออัด และทำสิ่งต่างๆ โดยขาดสำนึก รวมถึงชื่นหทัยที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินและความสุขสบาย เท่าที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า “กรรมร่วมสมัย” ของตัวละครในเรื่องเงาบุญ ล้วนเป็นกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเป็น “ปัญหาเชิงศีลธรรม” ที่สัมพันธ์อยู่กับระบบโครงสร้างทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด

 

 

เนื้อเรื่องของเงาบุญจึงเป็นการนำเสนอคู่ขัดแย้งของ “ความดี” กับ “ความชั่ว” หรือ “บุญ” กับ “บาป” นั่นเอง ตัวละครฝ่ายดีพยายามให้กรรมดีเป็นเกราะป้องกันบรรดาเปรตที่กำลังชดใช้วิบากกรรม และพยายามช่วยเหลือพ่อแม่ที่ตายไปแล้วทนทุกข์เป็นเปรตอย่างน่าเวทนา ส่วนตัวละครฝ่ายร้ายก็มุ่งร้ายอย่างขาดเมตตาธรรมและสำนึกดีชั่ว ตัวละครดีกับร้ายในภพภูมิปัจจุบันจึงเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มของเปรตที่ได้รับกรรมและรู้ถึงผลแห่งกรรมนั้น

คู่ขัดแย้งระหว่าง “ดี” กับ “ชั่ว” ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่นำเสนอบ่อยๆ จนกลายเป็นแนวเรื่องสำคัญในเรื่องเล่าไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ทว่าก็เป็นคู่ขัดแย้งในแนวเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยและยอมรับได้มากที่สุด เพียงแต่รายละเอียดของดีกับชั่วต้องมีความน่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูดให้ “ผู้เสพ” ติดตามได้ ดังที่เงาบุญได้นำเอาภูมิปัญญาทางพุทธศาสนามานำเสนอเพื่อสร้างความแตกต่างให้เห็นชัดเจน

ความรู้และความเชื่อเรื่องเปรตที่สืบทอดกัน และถูกผลิตซ้ำมาแต่อดีต ดังจะเห็นว่ามีการคัดลอกข้อมูลเกี่ยวกับเปรตถ่ายทอดไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องไตรภูมิพระร่วง แยกข้อมูลดังกล่าวไว้ใน “เปรตภูมิ” ชี้ให้เห็นว่าคนที่รับกรรมจากนรกแล้ว ยังต้องมาทุกข์เวทนาในภพภูมิเปรตอีก ก่อนจะได้ไปเสวยกรรมและบุญตามที่เคยกระทำมา เปรตมิใช่ผี แต่เปรตเป็นโอปปาติกะ จึงสามารถสำแดงฤทธิ์และใช้ชีวิตตามประเภทของเปรต ละครโทรทัศน์เรื่องเงาบุญ ได้หยิบยกภูมิปัญญาเรื่องเปรตมานำเสนอและผูกเป็นเรื่องราว โดยให้เปรตทั้ง 12 ประเภทมีบทบาทผูกพันกับตัวละครเอกได้อย่างน่าสนใจ

 

 

ในบทแผ่เมตตา มีบทสวดที่เน้นอุทิศให้เปรตโดยเฉพาะ เนื่องจากพุทธศาสนาเชื่อว่าผู้ที่เห็น ได้ยิน หรือสื่อสารกับ “เปรต” ได้นั้นจะต้องมีความเกี่ยวพันกัน อาทิ เป็นบุพการี เป็นเครือญาติ จึงกำหนดให้ลูกหลานต้องทำบุญให้เปรตตามประเพณี เช่น ประเพณีทำบุญในวันชิงเปรตทางภาคใต้ ตัวละครที่ชื่อสิตาในเรื่องจึงมีหน้าที่ต้องทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่เปรตพ่อแม่ แต่การเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องท่องหรือเรียนรู้เปรตทั้ง 12 ประเภทให้ได้ก่อน เปรตพ่อแม่ของสิตาจึงจะได้รับบุญกุศลที่สิตาอุทิศให้ เป็นการเสกสรรค์หรือประดิษฐ์ความเชื่อใหม่ในละคร ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ชมได้ อีกทั้งการพยายามสร้างตัวละครกุมารจุกเพิ่มขึ้นเพื่อให้มาจุติในครรภ์ของสิตานั้น เป็นการสร้างความเชื่อใหม่เช่นกัน เพราะในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าผู้ที่จะเกิดมาร่วมวงศ์วานสายเลือดต้องมีบุญหรือกรรมเสมอกันและมีเหตุเกาะเกี่ยวกันมาแต่อดีตชาติ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เหตุบังเอิญไม่มีในโลก

อย่างไรก็ตาม ละครโทรทัศน์เรื่องเงาบุญ ก็เป็นความพยายามของสื่อที่จะใช้ละครเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องศีลธรรมในสังคมปัจจุบัน และทำให้ผู้ชมตระหนักในผลแห่งกรรมชั่ว นับว่าเป็นบทบาทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอันควรแก่การชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: https://drama.ch7.com/

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!