พระมาไลยเจดีย์

-

เรื่องราวซึ่งกระผมจะนำมาเล่าขานสู่กันมื้อนี้ เป็นตำนานที่บรรพชนท่านเสกสรรปั้นปรุงบันทึกเป็นข้อมูลลงในสมุดข่อยโบราณเรื่อง “จดหมายเหตุเก่า เรื่องพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแต่งทูตไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์เมืองหงสาวดี” เนื้อหาในจดหมายเหตุเรื่องนี้ประหลาดพิสดารจนมนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างเราท่านจินตนาการตามโวหารโบราณได้ไม่ถึงเศษเสี้ยว

ว่ากันถึงมหาเจดีย์ในจินตนาการตามมโนสำนึกที่พุทธศาสนิกชนไทยเราคุ้นเคยมาหลายชั่วคนก็มีแต่พระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งพระอินทร์เนรมิตขึ้นเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสมณโคดมพุทธเจ้า พระอินทร์แอบขโมยพระทันตธาตุ ไปจากโทณพราหมณ์และเป็นที่บรรจุพระจุฬาโมลีกับผ้าโพกพระเศียรของเจ้าชายสิทธัตถะตอนออกบวช เป็นที่มาของคติที่พุทธศาสนิกชนไทยนำดอกไม้ธูปเทียนใส่มือประนมให้ผู้ซึ่งกำลังจะวายชีวาตม์นำไปบูชาพระจุฬามณีเจดีย์สืบมาจนวันนี้

ก็แลพระจุฬามณีเจดีย์นั้นเกิดจากพระอินทร์เนรมิตขึ้นด้วยฤทธิ์ของเทวดา จะให้อลังการมโหฬารเพียงไรก็มิใช่เรื่องแปลก เพราะเทวดาท่านมีฤทธิ์จะเนรมิตอย่างไรย่อมเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่พระมาไลยเจดีย์แห่งเมืองหงสาวดีเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งกระผมเข้าใจว่าหากพระอินทร์ไม่มีฤทธิ์ พระจุฬามณีเจดีย์ของท่านก็คงจะสู้ผลงานของมนุษย์ไม่ได้เป็นแน่

ตามตำนานกล่าวว่า “พระมาไลยเจดีย์เมืองหงสาวดี” นั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ตกแต่งด้วยแก้วแหวนเงินทองของมีค่ามากมายเหลือคณนานับ อยู่มาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบกิตติศัพท์ของพระมาไลยเจดีย์แห่งเมืองหงสาวดีก็ทรงฉงนพระทัยว่า มหาเจดีย์พิสดารปานนั้นจะมีอยู่จริงหรือ จึงทรงแต่งคณะทูตให้เดินทางไปตรวจสอบพิสูจน์

“… ให้พระศรีธรรมราช แลขุนการะเวกยกกระบัตร แลนายภูดาดเฉลียงเมืองอินทร์เมืองพรหมนั้น แลนายจำเพลิงกำจาย นายพลายกำจัด แลนายหาญใจเพ็ชร นายจ่าเกร็จสงคราม แลชาวสงฆ์องครักษ์สมุหให้คุมไพร่ขึ้นไปห้าร้อยคนทั้งตัวนายให้ไปชัณศูจน์ว่า จะมีมาไลยเจดีย์จริงฤๅ ๆ หามิได้”

คณะทูตออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านเมืองสุพรรณบุรี บ้านสบ้า บ้านนายก ฯลฯ ใช้เวลา ๑ เดือน ๑๐ วันก็ถึงเมืองหงสาวดี พบตาปะขาวผู้หนึ่งนำไปเฝ้าพระสังฆราช พระสังฆราชทราบว่าเป็นคณะทูตจึงให้ตาปะขาวพาไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์ ซึ่งในจดหมายเหตุระบุว่าเป็นมหาสถูปทรงปรางค์ใหญ่โตอลังการงานสร้าง เฉพาะระเบียงรอบองค์พระเจดีย์พื้นดาดด้วยเงินหนา ๓ นิ้ว กว้างด้านละเส้นกับ ๑๐ วา ยาวด้านละ ๒๐๐ เส้น ใช้เวลาเดินแต่เช้าจรดค่ำ ๔ วัน จึงจะรอบระเบียง หากเดินเวียนเทียนบูชาสามรอบต้องใช้เวลาถึง ๑๒ วัน กระผมขอคัดต้นฉบับมาให้ท่านผู้อ่านได้สัมผัสโวหาร

“… แลขุนการะเวกยกกระบัตรจึงว่า ปรางค์นี้สูงต่ำใหญ่น้อยสักเท่าไร ตาปะขาวจึงบอกว่าโดยสูงขึ้นไปได้ร้อยเส้น ในพระปรางค์นั้นกว้างยี่สิบเส้น บันไดนั้นฉัตรทองแดงร่มอยู่ทั้งสองข้าง จึงขึ้นไปถึงราวบันได ๆ นั้นย่อมแล้วไปด้วยเหล็กใหญ่เจ็ดกำ ลูกบันไดนั้นทำด้วยทองแดงใหญ่ได้สามกำ เสาฉัตรทองแดงนั้นใหญ่ได้เก้ากำ แลขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงก็พากันขึ้นไปแต่เช้าจนเที่ยง จึงถึงท่ามกลางพระปรางค์นั้น ที่กลางพระปรางค์นั้นมีหงส์สี่ตัว เอาหัวไปทั้งสี่ทิศ เอาหางมาประชุมกัน พระพุทธรูปเจ้านั้นหล่อด้วยทองคำทั้งแท่ง ข้าหลวงจึงวัดแต่ตีนหงส์นั้นใหญ่ร้อยแปดกำ วัดแต่หงส์ขึ้นไปสูงได้ร้อยแปดศอก ตัวหงส์สี่ตัวนั้นท่านหล่อด้วยทองคำทั้งแท่ง แลพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำสูงองค์ละศอกอยู่หางหงส์ทั้งสี่ตัว เปนพระพุทธรูปถึงสองร้อยพระองค์ …”

เนื้อความในจดหมายเหตุยังบอกไว้อีกว่า ขณะก่อสร้างพระมาไลยเจดีย์นั้น คนงานตกลงมาตายถึงเก้าโกฏิ (๙๐ ล้านคน) “แต่บันดาคนตกลงมาตายนั้นได้ขึ้นไปสวรรค์สิ้นทุกคน” คณะทูตที่เดินทางไปพิสูจน์ความจริงเมื่อออกเดินทางมีจำนวนทั้งหมด ๕๐๐ คน ล้มหายตายจากระหว่างทางก่อนถึงที่หมาย ๓๐๐ คน หนีราชการออกบวช ๕๒ คน เหลือกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาเพียง ๑๐๐ กว่าชีวิต พิจารณาจากเนื้อความแล้วขุนการะเวกผู้เป็นหนึ่งในหัวหน้าคณะน่าจะเป็นผู้ถวายรายงานต่อพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา แต่จะเป็นพระองค์ใด รัชกาลใดหาได้ระบุไม่ อาลักษณ์หรือราชบัณฑิตคงจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานสืบทอดปรากฏอยู่ตามอารามโบราณหลายอาราม บางฉบับเรียกชื่อ ‘พระมาไลยเจดีย์’ ต่างไปเป็น ‘พระเมาฬีเจดีย์’ บ้าง ทว่าเนื้อหาโดยรวมเหมือนกัน

กระผมยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วน ยังมีที่ประหลาดพิสดารอีกมากมาย ใครจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ส่วนตัวกระผมเข้าใจว่า การเดินทางครั้งกระโน้นต้องบุกป่าฝ่าดงซึ่งชุกชุมไปด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรีย จนเป็นเหตุให้คณะทูตต้องล้มตายลงจำนวนมาก แต่ในจดหมายเหตุท่านแก้ว่า พวกที่ตายก่อนจะไปถึงเพราะความศรัทธาไม่กล้าแข็ง ฝ่ายขุนการะเวกก็อาจติดเชื้อไข้ป่าขั้นสาหัส จนเกิดอาการฟุ้ง หรือมิฉะนั้นขุนการะเวกก็อาจปรุงเรื่องให้ตื่นเต้นสมน้ำสมเนื้อกับที่ลงทุนลงแรงไปต่างด้าวต่างแดน เรื่องราวของพระมาไลยเจดีย์จึงพิลึกพิสดารดังที่บันทึก

ตอนท้ายของจดหมายเหตุท่านว่า ใครได้อ่าน ได้บันทึก ได้บอกเล่าเรื่องพระมาไลยเจดีย์ “จะได้บุญมากนักหนา หาที่จะอุปมามิได้เลย” และ “ถ้าแลผู้ไม่เชื่อสงสัยอยู่ จะตกจะไปนรก แล้วจะเปนบาปกรรมนักหนา”


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!