ไหว้พระบาท

-

๏ ขอถวายประนมนขประชุม ชวลิตสุเบญจางค์

แต่บาทยุคลธปวราง คชิเนนทรทรงญาณ

(บุณโณวาทคำฉันท์)

แต่ก่อนกาลนานโพ้นครั้งปลายกรุงเก่าสืบเนื่องมาจนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อใกล้ถึงเพ็ญเดือน 3 ราษฎรชาวพุทธถ้วนหน้าทั้งในกรุงและหัวเมืองต่างปรารถนาที่จะไป ‘ไหว้พระบาท’ เทศกาลแห่งความสุขหลังฤดูเก็บเกี่ยว

รอยพระพุทธบาท เชิงเขาสุวรรณบรรพต สระบุรี เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศไทยซึ่งมีตำนานระบุในคัมภีร์เทศนาบุณโณวาทสูตรว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวก เสด็จมาโปรดพระฤๅษีสัจจพันธ์จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และประทานเอหิภิกขุบวชเป็นสงฆ์พุทธสาวก ครั้นพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ พระสัจจพันธ์เถระขอตามเสด็จด้วย แต่พระพุทธเจ้าทรงขอให้พระสัจจพันธ์เถระอยู่ที่เดิมเพื่อสั่งสอนประชาชนย่านนั้น แล้วทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้สำหรับพระสัจจพันธ์เถระเคารพบูชาแทนพระองค์ ดังความในบุณโณวาทคำฉันท์ ซึ่งพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ว่า

๏ ท่านจงสถิตย์เถิดอย่าไป เลยจงเนาใน

นิคมโปรดประชา

๏ สัจพันธรับพุทธฎีกา ก่อนแล้วจึ่งอา

ราธนทูลทศพล

๏ ว่าพระจักเสด็จไปกล ใดข้าเคยยล

ที่นี้จะเปล่าเปลี่ยวใจ

๏ เคยสดับรสธรรม์อันไพ เราะห์เริ่มนี้ใคร

จะอนุเคราะห์ห่อนมี

ฯลฯ

๏ สมเด็จสุคตก็ทรง การุญโดยจง

แก่พระสัจพันธภักดี

๏ จึ่งเหยียบวรบาทมุนี ยังยอดศรีขรี

สุวรรณพรายเจษฎา

๏ ด้วยบงกชบาทเบื้องขวา ลายลักษณวรา

ทั้งร้อยแปดประการงาม

ครั้นกาลล่วงมา สถานที่นั้นรกร้างเป็นป่าดงพงไพร จนพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามา คติในลังกาเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับพระพุทธบาทไว้เหนือยอดเขาสุมนกูฏในเกาะลังกา ทำให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนชาวไทยต่างศรัทธา ขวนขวายหาหนทางไปนมัสการรอยพระบาทที่ลังกา กระทั่งถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้ทราบเรื่องจากภิกษุชาวลังกาว่า ในสยามประเทศก็มีพระพุทธบาทที่แท้จริงอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดฯ ให้หัวเมืองต่างๆ สืบเสาะค้นหา จนพุทธศักราช 2167 จึงค้นพบรอยพระพุทธบาทที่แขวงเมืองสระบุรี

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้สถาปนาพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยารัชกาลต่อๆ มาสืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ต่างมีพระราชศรัทธาเสด็จไปทรงนมัสการ การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทครั้งกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ทั้งทางชลมารคและสถลมารค เป็นการเตรียมพร้อมฝึกปรือกระบวนทัพ เช่นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

การเสด็จพระราชดำเนินในแต่ละครั้ง พระราชทานมหรสพสมโภชถวายเป็นพุทธบูชา เช่น โขนหลวง หุ่นหลวง ละครใน ซึ่งมหรสพเหล่านี้เป็นของในราชสำนัก เมื่อนำมาแสดงให้ราษฎรได้ชมในโอกาสพิเศษ งาน ‘ไหว้พระบาท’ ครั้งกระโน้นจึงเป็นที่ปรารถนาของมหาชน ได้ทั้งบุญและความบันเทิง

ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์แม้จะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินทุกปีเหมือนครั้งกรุงเก่า พระพุทธบาทก็ยังคงเป็นพุทธสถานยอดนิยมสำหรับผู้ดีชาวบางกอก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง ‘เทศกาลพระบาท’ ลงในหนังสือวชิรญาณ พ.ศ. 2432 กล่าวถึงบรรยากาศภูมิสถานบริเวณพระพุทธบาทว่า

 “…จะว่าด้วยป่าๆ ก็ไม่รกชัฏ จะเที่ยวเตร่เดินเหิรก็ง่าย จะว่าด้วยเขาๆ ก็งดงามนักหนา เป็นฉากชั้นอยู่ใกล้ๆ กัน วันหนึ่งจะเที่ยวสักกี่ลูกไม่ต้องปีนป่ายลำบากยากเย็นก็ไปได้ จะว่าด้วยพื้นที่ๆ ก็น่าเดินน่านั่ง ด้วยบางแห่งเป็นลำธาร บางแห่งก็เป็นหินดาด บางแห่งก็เป็นชายป่า เดินสักเหนื่อยหนึ่งสองเหนื่อยก็ไม่เบื่อ จะว่าด้วยถ้ำเล่า ถ้ำไหนในเมืองไทยที่สนุกซุกซิกยิ่งกว่าถ้ำมหาสนุกใครเคยเข้าไปจนถึงที่สุดได้บ้าง”

กวีโบราณนิยมไป ‘ไหว้พระบาท’ จนเกิดวรรณคดีชั้นเยี่ยมนับสิบเรื่อง เช่น โคลงนิราศพระบาท ของเจ้าฟ้าอภัย บุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ นิราศพระบาท ของ “สุนทรภู่” โคลงนิราศวัดรวก ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ ฯลฯ วันนี้ แม้เทศกาลไหว้พระบาทจะไม่ครึกครื้นเหมือนเมื่อ 100 ปีก่อน แต่สถานที่ต่าง ๆ ยังงดงามบริบูรณ์ด้วยศิลปกรรมน่าชมนัก

มาฆบูชาปีนี้ ไปไหว้พระบาทกันนะครับ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!