ปูพรมค้น
‘พรม’ เป็นเครื่องปูลาดทำด้วยขนสัตว์ บางชนิดก็ทำด้วยสิ่งอื่น เช่น พรมกาบมะพ้าว พรมน้ำมัน เป็นต้น ส่วนมากใช้ปูพื้นห้องภายในบ้านช่วยให้ห้องดูดี สะอาด สวยงาม บ้างก็ปูเฉพาะพื้นบางส่วน เช่น เป็นพื้นรองโต๊ะกลางชุดรับแขก บ้างก็ปูพรมเต็มห้อง ซึ่งขอบพรมจะจรดผนังห้องทั้งสี่ด้าน
‘ปูพรม’ ในที่นี้หมายถึงพรมผืนใหญ่ที่ปูชิดผนังห้องทั้งสี่ด้าน ไม่มีช่องว่างให้เห็นพื้นห้องเลย เมื่อนำมาใช้เป็นสำนวนว่า ‘ปูพรมค้น’ จึงหมายถึงค้นดูทุกซอกทุกมุมที่มิให้มีสิ่งใดลับตาซุกซ่อนอยู่ เช่นสารวัตรตำรวจสอบสวนถูกบัญชามาจากผู้กำกับให้ตรวจค้นหาผู้ร้ายค้ายาเสพติด 2 คนชิงทรัพย์และทำร้ายหญิงชราซึ่งอยู่บ้านคนเดียว แล้วหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังเล็กในป่าละเมาะว่า “พวกคุณต้องค้นบ้านหลังนั้นแบบปูพรมค้นเลยนะ อย่าให้เล็ดลอดสายตาไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคนร้ายหรือยาเสพติด”
ขยะใต้พรม
‘ขยะ’ หมายถึงเศษสิ่งของที่ทิ้งแล้ว, หยากเยื่อ, มูลฝอย
การที่มีขยะอยู่ใต้พรมปูพื้น ไม่ว่าจะเป็นพรมผืนใหญ่ที่ปูเต็มทั้งสี่ด้านของห้องหรือพรมที่ใช้ปูบางส่วนของพื้นห้องเพื่อรองรับโต๊ะหรือเพื่อจุดประสงค์ด้านความงามก็ตาม ถ้ามีผู้เจตนาที่จะปกปิดขยะมิให้ใครเห็น การทำง่ายๆ ก็คือนำไปซุกไว้ใต้พรม
ได้มีการนำ ‘ขยะใต้พรม’ มาใช้เป็นสำนวนให้มีความหมายเปรียบว่ามีเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นภายในองค์กรหรือสถานที่ เช่น บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยปราศจากหลักฐานปรากฏข้อมูลที่เด่นชัด เมื่อเรื่องดังกล่าวได้มีผู้นำมาเปิดเผยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าของบริษัทจึงดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว พนักงานบริษัทบางคนจับกลุ่มคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนหนึ่งสมปองพูดกับสันต์ว่า “มิน่าเจ้านายถึงอารมณ์เสียมาหลายวันแล้ว ก็เพราะเรื่องของขยะใต้พรมนี่เอง ผมว่าไม่นานเรื่องก็คงกระจ่าง”
ลาในหนังราชสีห์
‘ลา’ ในที่นี้หมายถึงสัตว์สี่เท้าที่มีกีบเท้าเดียว มีรูปร่างคล้ายม้า มีหูยาว ปลายหางเป็นพู่ ขนแผงคอสั้นตั้งตรง เจ้าของเลี้ยงลาไว้เพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น บรรทุกสัมภาระหรือสิ่งของต่างๆ ฯลฯ ลามีนิสัยรักสงบ มักอยู่กันเป็นฝูง หากินพืชที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งหญ้า ถ้าเจอศัตรูจะวิ่งหนี
‘ราชสีห์’ เป็นสัตว์ในนิยาย อยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ มีพละกำลังสูง ดุร้าย บ้างก็เรียกว่าสิงหราช บ้างก็เรียกว่าพญาสิงโต ส่วนสิงโตเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายในโลกมนุษย์
ได้มีผู้นำ ‘ลาในหนังราชสีห์’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานชาดกเรื่อง ‘สีหจัมมชาดก’ ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก ความว่า “ครั้งที่พระโพธิสัตว์ทรงถือกำเนิดในตระกูลชาวนา ในครั้งนั้นมีพ่อค้าบรรทุกสินค้าบนหลังลาเดินทางไปขายตามที่ต่างๆ เมื่อไปถึงที่ที่หนึ่งก็จะขนสินค้าลงจากหลังลา แล้วเอาหนังราชสีห์คลุมลา ปล่อยลาให้ไปหากินในที่นา คนเฝ้านาเห็นก็กลัวไม่กล้าเข้าใกล้เพราะคิดว่าเป็นราชสีห์ วันหนึ่งพวกชาวบ้านพากันถืออาวุธ เป่าสังข์ รัวกลอง โห่ร้องไปใกล้ที่นา ลากลัวตายจึงร้องออกมาเป็นเสียงลา เมื่อชาวบ้านรู้เช่นนั้นก็ช่วยกันตีลาจนบอบช้ำล้มตาย แล้วเอาหนังราชสีห์ไป ส่วนพ่อค้าก็ทิ้งลากลับบ้าน”
สำนวน ‘ลาในหนังราชสีห์’ จึงใช้ในความหมายเปรียบถึงการปกปิดตัวตนที่แท้จริงซึ่งเดิมก็เป็นคนธรรมดาๆ แต่ต่อมาชอบใช้อำนาจ ตำแหน่ง บารมี ฐานะ ความรู้ความสามารถหลอกให้ผู้อื่นเกรงขาม และยกย่องว่าเป็นคนชั้นสูงในสังคม เช่น ตอนหนึ่งชัชวาลย์พูดกับนงคราญภรรยาว่า “เธออย่าไปเชื่อคำพูดของนายฐานันดรนายก อบต. นักนะ เขาคิดว่ามีพ่อเป็นนักการเมืองชื่อดัง เลยไม่สนใจเรื่องร้องเรียนจากผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งที่ไปแจ้งความตำรวจไว้เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการทำงาน ยังไม่รู้ว่าเรื่องจะลงเอยยังไง สงสัยรอดยาก นี่แหละที่เขาพูดกันเป็นสำนวนมาตั้งแต่ครั้งโบราณว่า ‘ลาในหนังราชสีห์‘ ละ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์